วัดใจ ‘เศรษฐา’ ลุยไฟกู้เงิน 5 แสนล้าน ’กฤษฎีกา‘ ชี้เงื่อนไข ออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ

วัดใจ ‘เศรษฐา’ ลุยไฟกู้เงิน 5 แสนล้าน ’กฤษฎีกา‘ ชี้เงื่อนไข ออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ

“คลัง” ยืนยันแจกเงินดิจิทัล 1 พ.ค.นี้ หลังกฤษฎีการะบุรัฐบาลมีอำนาจออกเงินกู้เพื่อเดินโครงการ แต่ให้ทำภายใต้มาตรา 53 และ 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฟังความเห็นทุกภาคส่วน รายงาน ครม.วันนี้ วัดใจ “เศรษฐา” เดินหน้าแจกเงิน 5 แสนล้าน อาจจบที่ศาลรธน.เหมือนกู้เงิน 2 ล้านล้าน

key points : 

  • โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้นหลัง รมช.คลังระบุว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ขัดข้องการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน แต่ต้องทำภายใต้พ.ร.บ.วินัยการคลัง ม.53 และ ม.57 โดยให้รัฐบาลตัดสินใจเองว่าจะเดินหน้านโยบายหรือไม่
  • กระทรวงการคลังจะมีการรายงาน ครม.รับทราบในวันนี้ ก่อนประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลฯต่อไป 
  • นายกฯเตรียมแถลงขั้นตอนการเดินหน้ากฎหมาย ท่ามกลางการจับตามองว่าจะมีการยื่นศาล รัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเหมือนกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านหรือไม่?
  •  อดีต กกต. และ สว.บางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายกู้เงิน เสี่ยงผิดกฎหมาย

โครงการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท หรือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 500,000 ล้านบาท รัฐบาลมีแผนที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และได้ส่งคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอให้ตอบคำถามในแง่ของกฎหมายว่าการดำเนินการในลักษณะนี้ขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคณะที่ 12 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุมกันเมื่อปลายเดือนธันวาคม และตอบข้อหารือจากกระทรวงการคลัง เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยได้ส่งเรื่องให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีเกี่ยวกับคำถามที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้หรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการแจกเงินดิจิทัลมีอำนาจตามกฎหมายที่ทำได้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า ต้องดำเนินการภายใต้มาตรา 53 และ 57 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ทั้งนี้ มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหาร หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

ส่วนมาตรา 57 การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่าย ตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของ แผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดําเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว

นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำให้การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องรอบด้าน ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว 

รวมทั้งกระทรวงการคลังจะได้รายงานคำตอบดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม.ในวันที่ 9 ม.ค.2566 จากนั้นจะนัดประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบเวลาให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ เพื่อขอมติการเดินหน้าโครงการนี้ โดยรัฐบาลจะพยายามให้โครงการอยู่ในกรอบเวลาที่เคยกำหนดไว้ และขณะนี้ได้ยกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว

“รัฐบาลมั่นใจเดินหน้าโครงการนี้ต่อ คาดว่าจะคิกออฟได้ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ส่วนของคำว่า เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติหรือไม่ ซึ่งจะเป็นเหตุผลในการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น รัฐบาลก็ต้องไปหาคำตอบ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเรายังยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยนั้น เข้าขั้นเปราะบางและติดหล่มมานาน หลายฝ่ายต้องการให้เกิดการ กระตุ้น ซึ่งโครงการนี้ก็ตอบโจทย์”

“กฤษฎีกา”ตั้งข้อสังเกตกฎหมายกู้เงิน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตอบคำถามของรัฐบาลเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ส่งถึงนายเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว โดยเอกสารประทับตราลับเฉพาะตามมติคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ที่ระบุว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการเปิดเผยขอให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวเอง

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่วินิจฉัยว่ารัฐบาลออก พ.ร.บ.กู้เงิน ได้หรือไม่ โดยจะเป็นความเห็นในลักษณะการตั้งข้อสังเกตและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงความเห็นผลของการเดินหน้าโครงการในทางกฎหมาย เช่น มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุกรณีใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติหรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ในกรณีวิกฤติจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น และมาตรา 57 ที่ระบุถึงกรณีการกู้เงินจะกระทำได้เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของ แผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้

นายกฯ ชี้ขาดเองเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล

แหล่งข่าว กล่าวว่า การตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารตัดสินใจ โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท หากดำเนินการต่อจะมีกระทบจากกรณีการร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้มีการตั้งประเด็นข้อกฎหมายจากภาคประชาชนและองค์กรอิสระ รวมถึงต้องดูท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลในการสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานมีการพูดถึงอีกแนวทางที่ไม่ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยอาจปรับลดขนาดโครงการลง และใช้งบประมาณประจำปีดำเนินการ ซึ่งอาจลดขนาดเหลือ 200,000-300,000 ล้านบาท และแจกเงินให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบาง 20-30 ล้านคน โดยทยอยจ่ายปีละ 100,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รัฐบาลทำได้ด้วยการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเริ่มได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณได้เลย และจะเริ่มแจกเงินในปี 2567 เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ประกาศใช้ในเดือน ต.ค.2567

“ต้องดูว่านายกรัฐมนตรีตัดสินใจอย่างไร เพราะหากจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถือว่าเหนื่อย เพราะต้องผลักดันอีกหลายขั้นตอน ซึ่งปลายทางอาจไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเหมือน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทางออกที่ได้หารือกันแล้วยกตัวอย่างว่าทำได้ภายใต้ข้อจำกัดคือลดขนาดโครงการลง และทำเท่าที่จำเป็นและไม่ขัดข้อกฎหมายที่เป็นแนวทางที่ชี้แจงกับประชาชนได้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะทำตามที่ได้หาเสียงไว้" แหล่งข่าว ระบุ

วิจารณ์ปมกู้เงิน5แสนล้านบาท

ท่าทีฟากฝั่งการเมืองแสดงความกังวลต่อประเด็นการตอบกลับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งไม่ได้ฟันธงว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ทำได้หรือไม่เพียงแต่อาจมีข้อขัดข้องตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งความเห็นในมุมกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่ออาจสุ่มเสี่ยงที่จะทำมาสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในภายหลังได้

ความเห็นจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กบัญชี “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ระบุว่า สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าหนังสือตอบจากกฤษฎีกาไปยังกระทรวงการคลัง เรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีการตีตรา “ลับ”

“ลับ” แปลว่าอะไร ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการเอกสารลับหมายถึงเอกสารใดก็ตามที่ “เปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์แห่งรัฐ”

ดังนั้น เรื่องนี้แม้บางคนรู้บางคนมีสำเนาเอกสารในมือก็เอามาเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอกระทรวงการคลัง หรือ รมว.คลังมาแถลงเอง

แต่ถ้ากฤษฎีกาเขาบอกเพียงอธิบายข้อขัดข้อง ตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ไม่ได้ฟันธงว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แล้วมีคนมาเจื้อยแจ้วว่า ไม่มีอะไรขัดข้อง ทำได้ ทำอยู่ ทำต่อระวังเจอข้อหา Fake News จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท ตามที่โฆษกรัฐบาลระบุ

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ดิจิทัล 5 แสนล้าน ผิดกฎหมาย กฤษฎีกาเตรียมชี้ไม่เข้า 4 เกณฑ์ 1.เร่งด่วน 2.วิกฤติ 3.ต่อเนื่อง 4.ทำ พ.ร.บ.งบประมาณไม่ทัน #เลิกดันทุรัง”