'กฤษฎีกา' ตั้งธง ม. 53 'พ.ร.บ.วินัยการคลัง' จุดตายโครงการ 'ดิจิทัล วอลเล็ต'!

'กฤษฎีกา' ตั้งธง ม. 53 'พ.ร.บ.วินัยการคลัง' จุดตายโครงการ 'ดิจิทัล วอลเล็ต'!

เปิดจุดตาย เงื่อนกฎหมาย ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจไปไม่ถึงฝัน หลังยื่นกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย กฤษฎีกาคณะที่ 12 พิจารณาช่วงก่อนปีใหม่แล้ว ตั้งประเด็น "วิกฤติหรือไม่?" พิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลัง หากวิกฤติจริงควรออก พ.ร.ก.มากกว่า พ.ร.บ.

key points:

  • นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ1หมื่นบาท โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่
  • คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 เป็นผู้ตอบข้อกฎหมาย โดยได้ประชุมไปและส่งคำตอบให้รัฐบาลแล้ว
  • ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งประเด็นในการหารือคือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐมาตรา 53 ว่าด้วยการกู้เงินเพิ่มเติมจะต้องใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น 
  • โดยการกู้เงินหากมีวิกฤติและเร่งด่วนรัฐบาลทำได้โดยออก พ.ร.ก.แต่เมื่อออก พ.ร.บ.ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายมากและใช้เวลานาน อาจไม่ "ฉุกเฉิน" สะท้อนความไม่เร่งด่วน
  • คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่12 ส่งคำตอบกลับมายังรัฐบาลแล้ว โดยให้รัฐบาลเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องนี้เอง ซึ่งต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

นโยบายเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 50 ล้านคน ถือเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในปี 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ...วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้

โดยได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังส่งคำถามไปถามยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการกู้เงินของรัฐบาลสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งได้ให้คณะกรรมการตอบคำถามของรัฐบาลในแง่กฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินในครั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังได้ส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วในช่วงปลายปี 2566 โดยในขณะนี้รอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

\'กฤษฎีกา\' ตั้งธง ม. 53 \'พ.ร.บ.วินัยการคลัง\' จุดตายโครงการ \'ดิจิทัล วอลเล็ต\'!

 

ถือเป็นด่านแรกที่รัฐบาลต้องรอฟังการวินิจฉัยข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากชอบโดยกฎหมายก็จะเดินหน้าได้ แต่หากไม่ผ่านความเห็นชอบของกฤษฎีกาก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้านโยบายนี้ต่อไปหรือไม่ ?

คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ชี้ชะตาดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้การตอบข้อซักถามทางกฎหมายเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ให้กับรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกามอบหมายให้ “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12”  ซึ่งเป็นคณะที่รับผิดชอบเรื่องการเงินการคลังโดยตรง มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานกรรมการ

มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงเศรษฐกิจ และหน่วยงานราชการหลายท่าน เช่น

  • นายบดี จุณณานนท์  
  • นายสมชัย ฤชุพันธุ์  
  • นายปัญญา ถนอมรอด  
  • นายธานิศ เกศวพิทักษ์
  • นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
  • นายเข็มชัย ชุติวงศ์  
  • นายนนทิกร กาญจนะจิตรา
  • นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล
  • นายศักดา ธนิตกุล

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการประชุมและตอบคำถามของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาตกลงกันอย่างเข้มงวดว่าจะไม่เป็นผู้ใช้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวในเรื่องนี้เอง

\'กฤษฎีกา\' ตั้งธง ม. 53 \'พ.ร.บ.วินัยการคลัง\' จุดตายโครงการ \'ดิจิทัล วอลเล็ต\'!

 

 

 

มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังจุดตายเงินดิจิทัลฯ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ให้ความสำคัญคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของรัฐบาลจะสามารถทำได้เมื่อเกิดกรณีวิกฤติ ฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้นซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53  พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

 

“มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

 

ทั้งนี้ประเด็นที่มีการหารือกันอีกประเด็นก็คือ กรณีที่ผ่านมาเมื่อเกิดวิกฤติกับประเทศ แล้วรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ผ่านๆมาใช้การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลขณะนั้นก็ใช้มติ ครม.ในการออก พ.ร.ก.ซึ่งเป็นวิธีการจัดการในช่วงที่เกิดวิกฤติ ไม่ใช่การออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการนาน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขนาดนี้ของประเทศไม่ได้วิกฤติจริง รัฐบาลจึงใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการออกกฎหมายนาน  การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจึงมีความย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข

ส่อขัด รธน.มาตรา 140 การใช้เงินแผ่นดิน

นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

 ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไปตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้

จะเห็นได้ว่ามีข้อกฎหมายที่ยังเป็น “จุดตาย” และ “เงื่อนปม” ที่อาจจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล สะดุดหยุดลงตั้งแต่ด่านแรก ในชั้นการพิจารณาของ “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ” ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะถูกเปิดเผยต่อไปเร็วๆนี้