'นายกฯ' ขอ2วันแถลง กู้เงินแจกดิจิทัล หลัง 'กฤษฎีกา'ส่งความเห็นมาแล้ว

'นายกฯ' ขอ2วันแถลง กู้เงินแจกดิจิทัล หลัง 'กฤษฎีกา'ส่งความเห็นมาแล้ว

“เศรษฐา” เผย ”กฤษฎีกา“ ส่งความเห็น กู้เงิน แจก ”ดิจิทัลวอลเล็ต“ แล้ว อีก2วันแถลง ชี้ ไร้ข้อติดขัด ได้รับข้อเสนอแนะขั้นตอนที่ต้องทำ

ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6(บน.6) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ได้รับคำตอบมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น จากนี้เราคงต้องฟังความคิดเห็นอีกหลายฝ่าย 

"อีก 2 วันข้างหน้าคงจะมีการแถลงออกมาว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไร โดยเบื้องต้นไม่มีข้อติดขัดอะไรมีเพียงข้อเสนอแนะและขั้นตอนที่ต้องไปทำต่อ"นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า ขั้นตอนที่ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ทราบเพราะเพิ่งได้รับความเห็นมา ขอให้คณะทำงานได้ศึกษาและพูดคุยกันก่อน และคิดว่าคงไม่น่าทันการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 ม.ค.นี้.

  • งานยาก  “แจกเงินหมื่นดิจิทัลว็อลเล็ต” 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล  จากกรณีที่ เมื่อเดือนธันวาคม 256  กระทรวงการคลังได้ส่งข้อหารือ ถึงคณะกรรมการกฤษฏีกา พิจารณา เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อไปใช้จ่ายโครงการ แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่  โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้ คณะกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 12 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร  อดีตรมว.คลัง เป็นประธาน  ได้มีการประชุมกันเมื่อปลายเดือนธันวาคม และตอบข้อหารือจากกระทรวงการคลัง เสร็จสื้นเรียบร้อยแล้ว โดยได้ส่งเรื่องให้ กระทรวงการคลังไปเรึยบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ประธานในที่ประชุม ได้กำชับที่ประชุม จะไม่เป็นผู้ให้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยขอให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวในเรื่องนี้เอง

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ให้ความสำคัญคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลจะสามารถทำได้เมื่อเกิดกรณีวิกฤติ ฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่าหากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ใน กรณีมีความ วิกฤติ จำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น

โดยมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่า กรณีที่เกิดวิกฤติกับประเทศรัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาใช้การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลในช่วงนั้น ใช้มติ ครม.ในการออก พ.ร.ก. ซึ่งเป็นวิธีการจัดการในช่วงที่เกิดวิกฤติ ไม่ใช่เป็นการออก พ.ร.บ. เพราะต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขนาดนี้ของประเทศไม่ได้วิกฤติจริง รัฐบาลจึงใช้วิธีการออก พ.ร.บ. ซึ่งใช้เวลาในการออกกฎหมายนาน และเห็นว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจึงมีความย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข

ขณะที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

โดยกรณีดังกล่าว  ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไปตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดทั้งหมดต้องรอฟังแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล


แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล  เปิดเผยว่า ผลจากการตีความของกฤษฏีกา  ทำให้รัฐบาลเตรียมหาทางออกโดยจะมีการเสนอ ออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเป็นการระดมทุน จำนวน หนึ่งล้านล้านบาท โดยจะนำเงินมาใช้ในโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต ตามที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้ ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป.