‘โตโยต้า’ หนุนไทยฮับรถยนต์ภูมิภาค ขอรัฐบาลให้มาตรการสนับสนุนระยะยาว

‘โตโยต้า’ หนุนไทยฮับรถยนต์ภูมิภาค ขอรัฐบาลให้มาตรการสนับสนุนระยะยาว

นายกฯ หารือคณะผู้บริหารบริษัทโตโยต้า ย้ำการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทย ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค พร้อมปรับตัวสู่การผลิตรถ EV โดยขอมาตรการสนับสนุนระยะยาว นายกฯเตรียมมาตรการใหม่จูงใจค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม 

วานนี้ (9 พ.ย.2566) ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น และนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และคณะผู้บริหาร เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการหารือระหว่างผู้บริหารบริษัทโตโยต้า นายกรัฐมนตรียืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย โดยรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงบริษัทโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจึงได้เตรียมความพร้อม ทั้งการเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ การหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันในอนาคตให้ครอบคลุม ทั้งปัจจัยภายใน คือ การปรับปรุงโครงสร้าง (Internal structure) และปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มมาตรการหรือแรงจูงใจ (Incentive) ร่วมกัน โดยในเดือนธันวาคม 2566 นี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นจะนำเอามาตรการนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบด้วย

‘โตโยต้า’ หนุนไทยฮับรถยนต์ภูมิภาค ขอรัฐบาลให้มาตรการสนับสนุนระยะยาว

โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สร้างผลประโยชน์ที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งร่วมกันได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป

ด้านผู้บริหารของบริษัทโตโยต้า กล่าวว่าบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ในไทยที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มรถกระบะและ Eco-Car ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกไปทั่วโลกโดยยืนยันว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการผลิตยานยนต์ทั้งประเภทรถยนต์สันดาป (ICE) ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง HEV, PHEV, BEV และ FCEV เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย

โฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่าทั้งสองฝ่ายยังได้หารือร่วมกันในประเด็นด้านนโยบายและมาตรการยานยนต์ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้าน EV พลังงานสะอาด สนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ และมุ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งในอาเซียน

‘โตโยต้า’ หนุนไทยฮับรถยนต์ภูมิภาค ขอรัฐบาลให้มาตรการสนับสนุนระยะยาว

ในส่วนของมาตรการที่รัฐบาลมีการอนุมัติล่าสุดในการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติล่าสุดได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

บริษัทโตโยต้าเห็นพ้องที่จะสนับสนุนนโยบายของไทย โดยขอให้มีการสนับสนุนระยะยาวผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน เพื่อรับประกันการผลิตและการขายรถยนต์ทั้งการขายในประเทศและการส่งออก รวมถึงเสนอแนะให้รัฐบาลมีมาตรการที่ครอบคลุมถึงการรองรับยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งาน (ELV) ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดตามนโยบายพลังงานสะอาดของไทยอีกด้วย โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป