‘วิกรม’ ส่งสัญญาณถึงนายกฯ ขึ้นค่าแรง 400 บาท แบบขั้นบันได

‘วิกรม’ ส่งสัญญาณถึงนายกฯ ขึ้นค่าแรง 400 บาท แบบขั้นบันได

“วิกรม” มองนโยบายรัฐบาลใหม่เน้นประเด็นเศรษฐกิจ ระบุขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันไดไม่กระทบผู้ประกอบการ เร่งลดค่าครองชีพให้ไทยแข่งขันได้

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) เปิดเผยความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลใหม่ว่า ในตอนนี้รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจเพราะประเทศจะเดินหน้าได้ก็ต้องแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะแจกเงินนั้นมองว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และเกิดผลในทันทีทั้งด้านการบริโภคและกระตุ้นการผลิต

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณว่างบประมาณกว่า 5 แสนล้านที่จะนำมาใช้นั้นเป็นการเพิ่มภาระในอนาคตหรือไม่ และรัฐบาลมีความสามารถในบริหารเงินคืนกลับมาอย่างไร

ส่วนการลดราคาพลังงาน ค่าน้ำมันและไฟฟ้า อยากให้รัฐบาลศึกษาให้ดี โดยการเปรียบเทียบสัดส่วนภาระค่าครองชีพกับรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศเพื่อนบ้าน ให้ของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้ส่งกระทบต่อภาคการลงทุนซึ่งจะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“ทั้งนี้ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องภูมิศาสตร์ที่อยู่ในศูนย์กลางอาเซียน และความเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากที่สุดเมืองหนึ่งในเอเชีย ไทยจะต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต้นทุน ไม่อย่างนั้นจะเป็นแบบที่ผ่านมาที่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากไหลไปที่เวียดนามเพราะมีต้นทุนค่าสาธารณูปโภคถูกกว่า”

ส่วนการขึ้นค่าแรงนั้นสนับสนุนให้จำเป็นจะต้องพิจารณาปรับขึ้นทุกปีตามสถานการณ์ต้นทุนค่าครองชีพ ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะต้องไม่เป็นการขึ้นค่าแรงแบบกระชากขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาสั้นๆ แต่ให้เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ไม่อย่างนั้นก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การเลิกจ้างงาน

ทั้งนี้ เชื่อมั่นและให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีผลงานด้านเศรษฐกิจมาก่อนในการบริหารบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงมองว่าตอนนี้ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้แสดงฝีมือใน 1 ปีแรก หลังจากนั้นค่อยตัดสินและติชมอย่างเต็มที่

คาดลงทุนครึ่งปีหลังขยายตัว

นายวิกรม กล่าวว่า คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะมียอดขายที่ดินนิคมฯ มากกว่าช่วงครึ่งปีแรกซึ่งอยู่ที่ 700 ไร่ โดยยังมีนักลงทุนที่เข้ามาเจรจาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนที่ต้องการย้ายออกมาสร้างฐานการผลิตเพื่อส่งออก ลดความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์รวมทั้งมีอานิสงค์จากโรงไฟ้ฟ้าที่เวียดนามเหนือติดขัด 

นำโดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และชิ้นส่วน ซึ่งจีนให้ความสนใจการลงทุนอีวีในไทยเพราะเห็นโอกาสของซัพพลายเชนของยานยนต์ในประเทศที่มีความแข็งแกร่ง รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนอีวีในหลายด้าน

นอกจากนั้นยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร (PCB) เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า การขยายลงทุนกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ และกลุ่มที่ผลิตแผงโซลลาร์เซลล์รายใหญ่ของจีนที่มีการลงทุนในไทยมากที่สุดในภูมิภาค ลงทุนโรงงานแรกกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ และมีแผนขยายโรงงานอีกตามเทรนด์ความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ