โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้

'มหาเศรษฐี'ที่ชื่อว่า 'วิกรม กรมดิษฐ์' สิ่งสำคัญของเขาคือ ชีวิตและสุขภาพต้องดีก่อน เป้าหมายไม่ต้องเยอะ เรื่องหลักๆ ที่อยากทำ เมื่อทำแล้ว ต้องทำให้ดีที่สุด

แม้เรื่องราว วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รวมถึงประธานมูลนิธิอมตะ มหาเศรษฐีเมืองไทย จะถูกเล่าผ่านหนังสือที่เขาเขียนและพิมพ์กว่าสิบล้านเล่ม และเล่าผ่านสื่อมากมาย

แต่จุดประกายทอล์ค ยังมีหลายคำถามชวนอ่าน...

"ทำไมไม่เลือกใช้ชีวิตคู่"

"มอบทรัพย์สินส่วนตัว 95% ให้กับมูลนิธิอมตะในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 (เดือนมีนาคม 2566 ) มูลค่า 20,000 ล้านบาท เงินที่เหลือก็ยังใช้ไม่หมด..." 

และ"ทำไมความรักต้องมีเหตุผล" ฯลฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่า นักบริหารที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลคนนี้  เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมาก นั่นเพราะความเพียรพยายาม การเป็นนักเรียนรู้ตัวยง และสิ่งที่ไม่พูดถึง ไม่ได้เลย ก็คือ พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากครอบครัว เขายกตัวอย่างย่าทวด ผู้หญิงหัวก้าวหน้าในยุคนั้น

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้ (วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ)

 

แม้ปัจจุบันดูเหมือนเขาจะวางมือจากการบริหาร...ก็ใช่ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องตัดสินใจ หรือวางเป้าหมาย ต้องพี่ใหญ่อมตะคนนี้จัดการ 

ในช่วงวัย 70 แม้จะทำงานหลายอย่าง สุขภาพยังแข็งแรง ความจำดีเลิศ เคล็ดลับง่ายๆ ที่เขาทำมาตั้งแต่เด็ก คือ ทำตามนาฬิกาชีวิต และรู้เสมอว่าอะไรที่เหมาะกับตัวเอง

  • เมื่อไม่นานประกาศมอบทรัพย์สินส่วนตัว 95 เปอร์เซ็นต์ให้มูลนิธิอมตะ คิดเรื่องนี้นานไหม

คิดมาตั้งแต่เริ่มเปิดมูลนิธิอมตะ 30 กว่าปี ความคิดที่จะทำแบบนี้ เพราะเราเข้าใจชีวิต คุณชิน โสภณพนิช บอกว่า “เงินที่เรามี แล้วเราไม่ใช้ ไม่ใช่ของเรา” 

เพราะเราตั้งใจที่จะให้มูลนิธิทำในสิ่งดีๆ ช่วยเหลือคนจน เราก็เคยจน ขอทุนไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโตรอนโต้(ปี 1975) แต่ไม่มีทุนเรียน ต้องกลับมาหาเงิน ในกรุงเทพฯไม่มีคนรู้จัก เมื่อเราลำบากก็จำ 

เรื่องการให้เป็นเรื่องปกติในครอบครัวผม 30 ปีที่แล้ว ผมเคยให้บัตรเอทีเอ็มญาติ ลูกน้องเก่า เพื่อนเก่าแม่ และคนที่เหมาะสมจะให้ ตอนนั้นไม่ได้มีเงินเยอะ ก็ให้คนละ 3,000 บาท

พอมาทำมูลนิธิอมตะ อยากทำเรื่องดีๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะการทำในนามบุคคล ทำได้แค่ระยะหนึ่ง หมดอายุขัยก็ทำไม่ได้ ถ้าทำเป็นองค์กร คนในครอบครัว คนในบริษัท องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรการกุศล ช่วยบริหารต่อได้ 

ผมพิมพ์หนังสือราคาถูกที่ผมเขียนเองมา 20 ปีแล้ว ใช้เงินไปร้อยล้านบาท ทำหนังสือขาดทุนเล่มละ 5-8 บาท พิมพ์ออกมากว่า 11 ล้านเล่ม ถามว่าเป็นภาระไหม...ก็เป็นภาระ ตั้งแต่เล่มแรก ‘ผมจะเป็นคนดี’ และเล่มล่าสุด ‘พ่อผม’ 

ก็คิดว่ามันดีที่เราเอาหนังสือราคาถูกไปขายผ่านร้านสะดวกซื้อ คนก็ได้นำไปใช้ หรือการทำนิคมอุตสาหกรรม เมื่อส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องทำเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้

("จริงๆ แล้วอยากจะบริจาค 99 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินส่วนตัวจะได้เคลียร์ ถ้ารอวันใกล้เสียชีวิต สมองก็เบลอๆ แล้ว แต่ก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่..." -วิกรม กรมดิษฐ์ )

 

  • เป็นนักบริหารตั้งแต่เด็กๆ สิ่งเหล่านี้ได้มาจากใคร 

เป็นพันธุกรรมที่ได้มาจากครอบครัว ย้อนไปถึงย่าทวดที่เป็นคนชอบให้ ตอนย่าทวดเสียชีวิต ป้าเฮียง หลานคนโตของย่าทวด พี่คนโตของครอบครัวพ่อผม คุยให้ฟังว่าถ้วยชามช้อนน่าจะสามกอง แจกให้คนมางานศพคนละชิ้น

ย่าทวดเป็นคนรวยที่สุดของเมืองกาญจน์และเป็นคนทันสมัย ปู่ทวดเป็นพ่อค้าชาวจีน เอาสินค้ามาขายไทย เวลาปู่ทวดไปจีน ย่าทวดก็ติดไปด้วย ผ่านฮ่องกงก็ซื้อของใช้มาเยอะ

ปู่ผมก็มีนิสัยชอบแบ่งปัน ทำถนน สร้างสะพาน ช่วยเหลือคน จนมาถึงแม่ผม ชอบปล่อยเงินกู้  และพอมาถึงรุ่นเรา ลูกคนโตมีน้องตั้ง 20 คน อายุ 8 ขวบผมต้องดูแลคนงานเป็นร้อยๆ

ในกระเป๋าผมจะมีท๊อฟฟี่ห่อกระดาษใสๆสีแดงไว้แจกคนงานในไร่ที่เมืองกาญจน์ เวลาขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์ เจอคนข้างทางก็ให้ขึ้นรถติดมาด้วย เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เป็นผู้ให้ 

  • เห็นบอกว่า บริจาคทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิอมตะไปแล้ว ส่วนที่เหลือก็ยังใช้ไม่หมด คุณจัดการอย่างไร

ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ใช้เยอะ นอกจากหาหมอและกินอยู่ จะใช้มากหน่อย ก็เรื่องการเดินทางโดยรถบ้านปีละครั้ง ปีนี้อาจไปสิงคโปร์ 3-4 เดือน ถ้าสุขภาพดีจะไปยุโรป ผมเคยไปทางไซบีเรีย มองโกเลียมาแล้ว 7 เดือน แต่ตอนนี้ยังต้องบริหารทั้งงานและสุขภาพ ส่วนเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวที่เหลือ จะใช้หมดได้ไง เงินปันผลปีหนึ่งก็เยอะ ก็เลยไม่คิดจะเก็บ

  • ทำพินัยกรรมจัดการทรัพย์สินเป็นสิบๆ  ปีก็ยังไม่ลงตัว ? 

จริงๆ แล้วอยากจะบริจาค 99 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินส่วนตัวจะได้เคลียร์ ถ้ารอวันใกล้เสียชีวิต สมองก็เบลอๆ แล้ว แต่ก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่ อะไรไม่เอา ก็ตัดๆๆ ออกไปเหลือแต่สิ่งที่อยากเก็บไว้ ตอนนี้ผมอายุ 70 ปีสมองยังดี ยังใช้ความคิดและการตัดสินใจได้ถูกต้อง

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้ ("ชีวิตผมต้องบริหารคนงานและน้องๆ ตั้งแต่เด็กๆ พันธุกรรมที่มีอยู่ในตัวผม ปู่ย่าตาทวดเป็นคนมีหัวการค้า"-วิกรม กรมดิษฐ์ )

 

  • อาจเปลี่ยนใจได้อีก ? 

ก็เงินผม อีก 10-20 ปีจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินส่วนตัวที่ผมมีอยู่ โอกาสเติบโตมีอยู่เยอะ การมีเงินเยอะๆ ก็เป็นเป้าหมายของลูกหลาน อย่าให้เงินที่เรามี สร้างความขัดแย้งให้ครอบครัว น้องๆ ในครอบครัวก็จิตใจดีอยู่แล้ว

แต่มนุษย์มีจิตที่เห็นแก่ตัว จึงต้องทำอะไรให้ชัดเจน เหลือเงินไม่เยอะจะไม่เป็นเป้าหมาย หลายครอบครัวในเมืองไทยพ่อแม่ทำงานเกือบตาย พอพ่อแม่เสียชีวิต ลูกๆ ฆ่ากัน ก็มีให้เห็น

  • กังวลไหมคะ

ไม่ได้กังวล แต่ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อความสบายใจ ผมกำลังคิดอยู่กับทนายความ โอกาสที่จะบริจาคเป็น 99 เปอร์เซ็นต์มีสูง เพราะผมไม่ได้ใช้เงินเยอะ

  • ทั้งๆ ที่วางมือจากการบริหารไปบ้างแล้ว ? 

ใช่ๆ งานที่ลงรายละเอียดไม่ได้ทำ จะเน้นงานเป้าหมายแล้วทำให้เกิด ช่วยแก้ไขเวลางานมีปัญหา ผมคงต้องทำงานไปอีกนิดหน่อย คิดว่าอีก 2 ปี(สัมภาษณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2566) ปริมาณงานน่าจะลดลง

  • คิดจะวางมือทุกอย่างไหม

คงวางทั้งหมดไม่ได้ ผมเป็นเถ้าแก่ มีนิสัยที่ต้องทำงาน เคยเห็นคนขายก๋วยเตี๋ยวไหม บางคนไม่มีแรงแล้ว ก็ยังมานั่งหน้าร้าน เพราะเขาสร้างมาด้วยความผูกพัน ผมก็เช่นกัน สร้างสิ่งเหล่านี้มากับมือ

แม้กระทั่งตอนที่ผมจะเสียชีวิต ยังบอกให้ฝังไว้ในนิคมอุตสาหกรรมที่ผมสร้างสุสานกรมดิษฐ์ใน อมตะ คาสเซิล(ปราสาทหินทรายทรงยุโรป อ.เมือง จ.ชลบุรี) ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2549 ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และศูนย์กลางการจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะในเอเชีย เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง 

สุสานกรมดิษฐ์ในอมตะ คาสเซิล จะมีรูปปั้นบรรพบุรุษ แล้วนำกระดูกไปฝังที่นั่น เราผูกพันกับที่นั่น ทำมาหลายปียังไม่เสร็จ ทำไปเรื่อยๆ งานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ และผมก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้ (ผมใช้ร่างกายตามนาฬิกาชีวิต หิวก็กิน เหนื่อยก็หยุด  ปีๆ หนึ่งผมไม่ป่วยเลย-วิกรม กรมดิษฐ์) 

 

  • ในวัย 70 สุขภาพยังแข็งแรง ?

คุณคิดว่าคนที่อายุเท่าผม มีใครแข็งแรงเท่าผม ดูหน้าตาผมสิ อายุ 70 ปีผมยังทำงานทุกวัน และทำตามสุขภาพ ทำได้เท่าไร ทำเท่านั้น ผมจะไม่บังคับร่างกาย ผมทำแบบนี้ตั้งแต่เด็ก  ผมใช้ร่างกายตามนาฬิกาชีวิต หิวก็กิน เหนื่อยก็หยุด 

ปีๆ หนึ่งผมไม่ป่วยเลย  แต่ผู้บริหารทั่วไปต้องส่งงานทำงานดึกๆ มีผู้บริหารคนไหนเขียนหนังสือเท่าผม ผมทั้งทำงาน เขียนหนังสือ จัดรายการทางวิทยุและยูทูปอาทิตย์ละ 6 ครั้ง

  • บริหารชีวิตอย่างไรให้ลงตัว

ยกตัวอย่าง ถ้าผมนัดกับคุณเพื่อสัมภาษณ์ แล้ววันนั้นผมเหนื่อยมาก ผมจะขอเลื่อน ผมจะไม่บีบตัวเองและบอกว่านัดกันแล้ว ผมจะยึดตัวผมเป็นเกณฑ์ ผมจะบริหารให้เกิดความสมดุลตามนาฬิกาชีวิตของผม 

เพราะผมเป็นคนเข้าใจความจริงในชีวิต คุณรู้จักคำว่าไหลตายไหม...เพราะคนเหล่านั้นทำงานเกินกำลัง กินยาขยันขณะที่ร่างกายควรพัก เนื่องจากต้องการทำงาน

ชีวิตผมต้องบริหารคนงานและน้องๆ ตั้งแต่เด็กๆ พันธุกรรมที่มีอยู่ในตัวผม ปู่ย่าตาทวดเป็นคนมีหัวการค้า

สุสานย่าทวดร้อยไร่ตั้งอยู่บนที่สูง มีน้ำล้อมรอบ และปลูกป่า คนที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นร้อยปี บริหารสุสานร้อยไร่ของตัวเอง ย่าทวดแต่งงานสองครั้ง จึงต้องแบ่งที่ดินให้อีกตระกูล เหลือพื้นที่ในสุสาน 60 ไร่ คุณคิดว่าวิสัยทัศน์ของย่าทวดเป็นยังไง

  • ปัจจัยอะไรทำให้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี

ร่ำรวยเพราะความขยัน มุ่งมั่น มีวินัยและรู้ว่า ควรตัดสินใจอย่างไร น่าจะมาจากพันธุกรรมของครอบครัว อีกอย่างตอนที่ไปเรียนที่ไต้หวัน ผมได้เห็นคนไต้หวันที่ประสบความสำเร็จเยอะ และไม่ใช่เรื่องดวง

คนไต้หวันก็เหมือนคนญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จด้วยการฝึกและเรียน คุณรู้ไหม...ประธานาธิบดีไต้หวันส่วนใหญ่จบจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ทุกคนจบจากที่นั่น ทำให้เรามีพื้นฐานจากตรงนั้น เวลาทำงานก็อึด ขยัน มีวิสัยทัศน์ มีระเบียบระบบ ไม่เรื่อยเปื่อย 

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้ (19 ปีนี่ เรารู้จักคำว่าชีวิตคู่ไหม เรารู้ว่า อะไรที่เหมาะสมกับเรา จากพ่อแม่มาถึงตัวเรา มาถึงครอบครัวน้องๆ แล้วทำไมเราต้องทำให้ชีวิตมีปัญหา-วิกรม กรมดิษฐ์)

 

  • นอกจากบริหารธุรกิจและการลงทุน คุณยังสนใจเรื่องเทคโนโลยี ?

ผมจบวิศวะเครื่องกล  เรื่องไหนที่ผมไม่มั่นใจ ผมก็หาคนเก่งมาทำ เราก็บอกเป้าหมายและงบประมาณ คุณเดินเข้ามาบ้านผมบนตึก(อาคารกรมดิษฐ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่)เป็นตึกที่ทหารอเมริกันสร้างไว้ อาคารไม่เคยทรุดหรือร้าว

การสร้างบ้านบนตึกแบบนี้ ต้องมีเทคโนโลยี ไม่อย่างนั้นต้นไม้ใหญ่ๆ ล้ม น้ำรั่ว ต้นไม้บ้านเราไม่เคยล้มสักต้น พื้นที่ไร่ครึ่งบนตึก บรรยากาศไม่เหมือนอยู่บนตึก ต้นไม้ที่ปลูกบนดินหนาแค่ 12 เซนติเมตร ไม่มีต้นไหนโทรม ต้นไม้ที่ใส่ไว้บนพื้นที่ ใบไม่เหมือนกันแสดงว่ากินอาหารไม่เหมือนกัน 

ถ้าไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีจะทำได้อย่างนี้หรือ พื้นบ้านสามารถใส่รองเท้าเข้ามาก็ยังดูเหมือนพื้นใหม่ ทั้งๆ ที่ปลูกมายี่สิบกว่าปี

  • ช่วงชีวิตตอนไหนที่ใช้เงินเยอะ และเต็มที่กับชีวิต

ใช้เงินมากสุด ก็เรื่องคาราวานการเดินทางรถบ้าน 3 ปีหมดเงินไปร้อยกว่าล้านบาท (ปี 2001-2013) ถ้านั่งเครื่องบินไปก็ไม่ค่อยได้เห็นอะไร การเดินทางโดยรถบ้านได้เห็นต้นไม้ ชาวบ้าน ชาวเมือง รถบ้านวิ่งมาทั้งหมดแสนกิโลเมตร คุณคิดว่า เราเห็นอะไรมาบ้าง

อันดับสองคือ ลงทุนสร้างอมตะคาสเซิล ตั้งวงเงินไว้สองพันกว่าล้าน งบเกือบหมดละ ทำเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของเรา ที่สำคัญคือ ให้คนที่นั่นและคนทั่วไปใช้ มีทั้งใช้ฟรีและคิดค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้และการศึกษา

ทำไมเราต้องเอาเงินเก็บไว้ในธนาคาร เงินก็คือกระดาษ ทำไมเราไม่เอากระดาษมาเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเห็นและสัมผัส รวมถึงใช้ประโยชน์ ก็แบ่งปันกันไป

  • มีเรื่องไหนที่คิดอยากทำอีก

เราไม่ใช่คนที่คิดอยากทำอะไรเยอะแยะ ไม่ใช่คนที่เห็นอะไรแล้วอยากทำ ผมอยากทำแค่ไม่กี่อย่าง เช่น สร้างอนุสรณ์สถาน อมตะคาสเซิล ก็ทำให้มันดี ใช้เงินเยอะ หรืออยากมีบ้านอยู่ในป่าที่เขาใหญ่ ก็ซื้อที่ดินไร่ข้าวโพดแล้วปลูกป่า ไม่เบียดเบืยนป่า

อยากได้บ้านบนต้นไม้ ถ้ำ บ้านใต้น้ำ ก็ทำเอง ทำแบบสนุกๆ อย่างบ้านพักและที่ทำงานบนอาคารวิกรมที่กรุงเทพฯ ชั้นสอง มีห้องทำงาน ห้องนอน ก็ใช้เท่านั้น ทำในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรา ไม่ต้องโชว์ว่ามีเงิน

  • ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน

เสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่เขาใหญ่ เพื่อไปเขียนหนังสือ ผมพิมพ์หนังสือมา 25 เล่ม เราไม่ใช่นักเขียน ก็เขียนทุกเสาร์อาทิตย์ ต้องมีวินัย ไม่อย่างนั้นเขียนมาไม่ถึง 27 เล่ม

เวลาเขียนหนังสือต้องสงบ ไม่เจอคน ไม่มีงาน วันศุกร์ตอนเย็นก็นั่งรถไป ทำงานไป สองชั่วโมงก็ถึง อยู่คนเดียวเงียบๆ มีคนดูแลอยู่รอบๆ มีเรื่องอะไรก็กดเรียก พอถึงวันจันทร์เช้า ก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้

("สุสานกรมดิษฐ์ในอมตะ คาสเซิล จะมีรูปปั้นบรรพบุรุษ แล้วนำกระดูกไปฝังที่นั่น เราผูกพันกับที่นั่น ทำมาหลายปียังไม่เสร็จ... "-วิกรม กรมดิษฐ์) 

 

  • ขออนุญาตถามคำถามนี้คะ ทำไมไม่เลือกที่จะใช้ชีวิตคู่ ?

เห็นชีวิตคู่พ่อแม่ล้มเหลว เรารู้จักแฟนตั้งแต่อายุ 15 ปี คบกัน 8 ปีแต่งงานกัน 11 ปี อยู่ด้วยกัน 19 ปี

19 ปีนี่ เรารู้จักคำว่าชีวิตคู่ไหม เรารู้ว่า อะไรที่เหมาะสมกับเรา จากพ่อแม่มาถึงตัวเรา มาถึงครอบครัวน้องๆ แล้วทำไมเราต้องทำให้ชีวิตมีปัญหา ก็เห็นข้อเปรียบเทียบ

เรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ไม่ต้องไปบวชพระ ไม่ต้องไปเข้าวัด เราก็เลยยึดตัวเราเป็นเกณฑ์ เพราะชีวิตคู่ไม่ได้มีความสุข หลายคนบอกว่า “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า” ก็เลยไปตามวิถีชีวิตที่คิดว่าเหมาะสมกับเรา

  • เคยบวชในช่วงหนึ่งของชีวิต ? 

ตอนนั้นบวชให้แม่ เพราะรับปากไว้ เราเป็นลูกคนโตที่แม่คาดหวังไว้ ก็บอกให้น้องๆไปบวชให้แม่ กระทั่งแม่เสียชีวิต เราก็รู้ว่า แม่ยังคาดหวัง และที่ไว้ผมจุกก็คือไว้ทุกข์ ตอนที่สึกออกมา ก็ไม่ตัดผม ก็ได้เท่านี้ เพราะเราเคยทำความชั่วร้ายและทำสิ่งไม่ดีกับแม่ ผมเขียนไว้ในหนังสือคิดถึงแม่ 

  • เคยอ่านที่คุณวิกรมเขียนไว้ว่า ความรักต้องมีเหตุผล ?

พวกที่หย่าร้างกันเพราะยึดความรัก ถามว่า ความรักคืออะไร คือเรื่องเพศชายกับหญิงโดยธรรมชาติ เรื่องเพศขับเคลื่อนผลักดันให้คนรักกันแล้วแต่งงาน ถามว่า ถ้าไม่มีเรื่องเพศ คนจะรักกันไหม

  • ความรักที่สวยงามหรือดีงาม ก็มีให้เห็นไม่ใช่หรือ 

มีน้อย...ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากความเป็นมนุษย์ที่เขาอยากให้สืบพันธุ์

  • คุณวิกรมคิดเช่นนั้น ? 

ไม่ใช่คิดอย่างนั้น แต่มันคือความเป็นจริงของมนุษย์ ถ้าไม่มีเรื่องสืบพันธุ์ ก็ไม่มีมนุษย์ในวันนี้

โลกของ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ในแบบฉบับที่เลือกได้