เปิดคำให้การ ผู้ว่า รฟม. แจงศาลปกครองสูงสุด ปมอนุญาต ‘แอชตันอโศก’ ใช้พื้นที่

เปิดคำให้การ ผู้ว่า รฟม. แจงศาลปกครองสูงสุด ปมอนุญาต ‘แอชตันอโศก’ ใช้พื้นที่

เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ ผู้ว่า รฟม.ชี้แจงศาลประเด็นอนุญาตให้อนันดาใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสถานีสุขุมวิทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี คิดค่าตอบแทน 97 ล้านบาท ยืนยันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง

ศาลปกครองสูงสุดได้เผยแพร่คำพากาษาคดีดังกล่าวความยาว 175 หน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นการระบุถึงการชี้แจงต่อศาลของผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องผู้ถูกฟ้องที่ 4 หรือ ผู้ว่าการ รฟม.ชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุด ดังนี้

ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ให้การว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 

และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 

เพื่อให้ รฟม.สร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก (สายเฉลิมรัชมงคล) โดยที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอคลองเตย (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่  1 ไร่ 40 ตารางวา ของ บริษัท รังสิยาอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถูกเวนคืนทั้งแปลง 

และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 (2583 เดิม) เลขที่ดิน 2160 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 งาน  47.7 ตารางวา ของ บริษัทจตุรัก จำกัด ถูกเวนคืนบางส่วนเนื้อที่ 48.8 ตารางวา ใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีสุขุมวิท 

ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ไม่ได้มีสภาพเป็นถนนสาธารณะ เมื่อ รฟม.ใช้ที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อกิจการรถไฟฟ้า โดยสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (สถานีสุขุมวิท) อันเป็นการตำเนินการตามวัตถุประสงศ์แห่งการเวนคืนแล้ว

จึงนำพื้นที่ดังกล่าวไปดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ รฟม.และประชาชน ในการใช้บริการกิจการรถฟฟ้าได้ตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.ตามมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 และมีอำนาจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม.ได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การให้บริการกิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 9 (11) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน 

เดิมที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 (2583 เดิม) เลขที่ดิน 21605 ตั้งอยู่ติดกับถนนอโสกมนตรี มีทางเข้าออกกว้าง 6.40 เมตร

เมื่อที่ดินถูกเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือไม่มีทางเข้าออกถนนอโศกมนตรี รฟม.จึงเปิดทางเข้าออกให้มีความกว้าง 5 เมตร และต่อมา รฟม.ได้เปิดทางเข้าออกให้มีความกว้าง 6.40 เมตร ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9898/2553 ลงวันที่ 4 พ.ย.2553

“อนันดาฯ” ซื้อที่ดินหลัง รฟม.เปิดทางเข้าออกถนนอโศกมนตรี

หลังจากนั้นผู้ร้องสอด (บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ได้ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 (2583 เดิม) เลขที่ดิน 2160 ส่วนที่เหลือ 

รวมทั้งที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 ตำบลคลองเตยเหนือ อำเภอวัฒนา กรุงเทพมหานคร และได้ขออนุญาตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางเข้าออกที่ดินทั้ง 3 แปลง 

ซึ่งคณะกรรมการ รฟม.ในการประชุมครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 มีมติอนุมัติให้ผู้ร้องสอด (บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี สำหรับที่ดินทั้ง 3 แปลงของผู้ร้องสอด 

รฟม.คิดค่าตอบแทนการใช้พื้นที่จากอนันดาฯ 97 ล้านบาท

และปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โดยให้ย้ายตำแหน่งทางเข้าออกเดิมบริเวณลานจอดรถสุขุมวิทด้านติดปล่องระบายอากาศไปเป็นบริเวณด้านติดกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์และขยายทางเข้าออกจากเดิมกว้าง 6.40 เมตร เป็นกว้าง 13 เมตร

โดยคิดค่าตอบแทนการใช้พื้นที่เป็นเงิน 97,671,707.45 บาท ตามข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 11 ของประกาศ รฟม.เรื่องกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556

และ รฟม.จะเรียกเก็บค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นเงินหรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถ พร้อมพื้นที่ใช้สอยตามความเหมาะสม

ผู้ร้องสอด (บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ขออนุญาตใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 2161 ของ รฟม.เป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 (2583 เดิม) เลขที่ดิน 2160 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 เลขที่ดิน 2122 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2452 เลขที่ดิน 2120 ของผู้ร้องสอด

โดยใช้ทางเข้าออกเดิมให้มีขนาดความกว้างเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการอนุญาตเปิดทางเข้าออกใหม่ และ รฟม.คิดค่าตอบแทนสำหรับความกว้างของที่ดินที่ขออนุญาตส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอัตราของการประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ 

และเมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 2 ก.พ.2558 ขอให้ รฟม.เพิกถอนประกาศ รฟม.เรื่องกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหนังสือที่ รฟม 114/604 ลงวันที่ 19 มี.ค.2558 

แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 2 ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.ประเภทต่างๆ เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟม.ให้ผู้ขออนุญาตปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ไม่ได้กระทบสิทธิของประชาชน 

ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องเพิกถอนประกาศดังกล่าวตั้งแต่วันได้รับหนังสือแจ้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2559 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

รฟม.ยืนยันเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

นอกจากนั้น พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 มาตรา 13 บัญญัติให้มีคณะกรรมการ รฟม.และมาตรา 18 บัญญัติให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจออกข้อบังคับในการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม.

โดยมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหน้าที่บริหารกิจการของ รฟม.ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการฯ กำหนด 

กรณีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม.เป็นทางผ่าน คณะกรรมการฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 18 (1) ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ออกข้อบังคับ รฟม.ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของ รฟม. พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.2547 

ซึ่งข้อ 4 วรรคสอง ของข้อบังคับดังกล่าวให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งอื่นใด เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้

ผู้ถูกฟองคดีที่ 4 (ผู้ว่าการ รฟม.) จึงอาศัยอำนาจตามข้อบังคับดังกล่าวออกประกาศ รฟม.เรื่องกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556 และประกาศ รฟม.เรื่องกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ลงวันที่ 8 ธ.ค.2557 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของ รพม. 

การออกประกาศดังกล่าวกระทำภายใต้ขอบอำนาจของกฎหมายและเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้ทุกประการ

ประกาศดังกล่าวมีสภาพเป็นกฎตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราซการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 

คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกในส่วนนี้เป็นการยื่นคำฟ้องเกินกำหนดเวลาการฟ้องคดีที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วยเช่นกัน