ส่องรูปแบบ 'ค่าจ้าง' ในไทย 'สภาพัฒน์'แนะเพิ่มค่าแรงตามทักษะ

ส่องรูปแบบ 'ค่าจ้าง' ในไทย 'สภาพัฒน์'แนะเพิ่มค่าแรงตามทักษะ

การกำหนดค่าจ้างที่เหมาะสมนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน ซึ่งการกำหนดค่าจ้างแรงงานทั่วโลกมีรูปแบบที่หลากหลายทั้งที่ใช้มาตั้งแต่ในอดีต และมีการกำหนดรูปแบบขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับในปัจจุบัน

โดยในส่วนของประเทศไทยใช้รูปแบบการกำหนดค่าจ้างเป็นรูปแบบผสมผสาน โดยข้อมูลจากการแถลงข่าวภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2565 ของสภาพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) ได้แบ่งรูปแบบการกำหนดค่าจ้างในประเทศไทยไว้เป็น 3 แบบดังนี้

1. การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีแนวคิดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ใด้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจ โดยปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 328 - 354 บาทต่อวันหรือเฉลี่ยที่ 337 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงาน 1 คน กล่าวคือ หากพิจารณาจากเส้นความยากจน (ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพอยู่ได้ของคน) ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ย

จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ และคุณภาพซึ่งสำรวจโดยกระทรวงแรงงาน จะพบว่าในช่วงปี 2561 – 2564 ค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าทุกค่าใช้จ่ายข้างต้นมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ยังคงได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งไม่สอดคล้องกับนิยามการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้ผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำคือ กลุ่มแรงงานแรกเข้า โดยแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 95.8% เป็นแรงงานที่มีประสบการณ์18 ขณะที่ 41.2% เป็นกลุ่มแรงงานที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า หรือกล่าวได้ว่าเป็นแรงานทักษะต่ำ ชี้ให้เห็นว่าสถานประกอบการไม่ได้ปรับค่าจ้างให้กลุ่มแรงงานทักษะต่ำตามประสบการณ์ของแรงงานที่มีเพิ่มขึ้น

2.การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม จูงใจให้แรงงานพัฒนาฝีมือให้เป็นที่ยอมรับ เพิ่มหลักประกันรายได้

รวมทั้งเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ซึ่งทำให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจึงมีนัยที่แตกต่างกับค่าจ้างขั้นต่ำ ใกล้เคียงกับค่าจ้างเฉลี่ยของแรงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา และวิชาชีพชั้นสูง ที่มีค่าจ้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 12,228 บาทต่อเดือน 14,396 บาทต่อเดือน และ 15,624 บาทต่อเดือนตามลำดับ

และเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนแรงงานได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตามระดับทักษะ โดยแต่ละปีมีแรงงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเฉลี่ย 6.2 หมื่นคน ขณะที่แรงานใหม่ที่มีการศึกษาระดับ ปวช. และต่ำกว่า เข้าสู่ตลาดแรงงงานเฉลี่ยประมาณ 1.2 แสนคน

และ 3.การกำหนดค่าจ้างโดยกลไกตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกรณีที่เป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ ระดับกลางขึ้นไป ที่ค่าจ้างถูกกำหนดจากการต่อรองกับนายจ้างหรือสถานประกอบการเอง โดยระดับค่าจ้าง แตกต่างไปตามสาขาวิชาชีพ/อุตสาหกรรม ขนาดของสถานประกอบการ และพื้นที่

ในกลุ่มนี้การกำหนดค่าโดยเฉลี่ยมักอ้างอิงจากเงินเดือนของพนักงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเงินเดือนแรกเข้าระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี อยู่ที่ 11,400 บาทต่อเดือน 12,285 บาทต่อเดือน และ 15,000 บาทต่อเดือน (รวมค่าครองชีพชั่วคราว) ตามลำดับ

การเพิ่มค่าจ้างควรเพิ่มตามทักษะ 

ทั้งนี้รูปแบบการกำหนดค่าจ้างในต่างประเทศชี้ให้เห็นทิศทางการกำหนดค่าจ้างว่ามีความเชื่อมโยงกับทักษะมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยอาจนำแนวทางดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ โดยกำหนดให้ค่าจ้างเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงาน และช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อ เพิ่มระดับทักษะในบางสาขา โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามระดับทักษะที่สูงขึ้น

โดยทักษะที่ใช้ในการพัฒนาจะต้องมีความเฉพาะ สอดคล้อง และเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน รวมทั้งบูรณาการหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบสมรรถะแรงงานของแต่ละหน่วยงานที่มีการรับรองมาตรฐานทักษะแรงงานให้มีความเชื่อมโยงกับอัตราค่าจ้าง

เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรภาคเอกชน อีกทั้งจะต้องเร่งส่งเสริมให้แรงงานให้ความสำคัญกับการทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้การปรับเพิ่มค่าจ้างที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐอาจต้องกระจายบทบาทการทดสอบไปสู่ภาคีเครือข่ายหรือภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การจัดสอบมีความเพียงพอและการสนับสนุนค่าทดสอบให้มีราคาที่ไม่สูงเกินไป รวมถึงการกวดขันสถานประกอบการให้จ่ายค่าจ้างอย่างถูกต้อง