เอกชนชี้ ‘ขึ้นค่าแรง’ นโยบายขายฝันพรรคการเมือง

พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาดเท่านั้น เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง  เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย  ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง

นาย ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย ของหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสก.รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศราว่า พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาดเท่านั้น เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง  เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย  ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรือ  งบจากภาครัฐแต่อย่างใด

โดยหากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และ สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติ ตามอัตราเงินเฟ้อ และ ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง 

“เป้าหมายคือ นายจ้างลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ การเมืองอย่าเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติและประชาชนชน ก็ต้องรู้เท่าทัน ว่าพรรคการเมืองต่างๆ เค้าใช้การตลาด 100% เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ “ นายธนิต กล่าว

 

 

ด้านนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI กล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ว่า การหาเสียงด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองนำค่าจ้างมาเป็นนโยบายในการหาเสียงจะเป็นอันตรายต่อประเทศ  เพราะกกต.กำหนดเอาไว้ว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะต้องทำจริง ซึ่งจะทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบ และจากนี้ไปมองว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ยาว เหมือนในอดีต ซึ่งมีความเป็นไปได้ได้ว่านโยบายค่าแรงจะเปลี่ยนทุก 2 ปี ทั้งนี้ขอฝากไปยังพรรคการเมืองว่า ควรทำให้ค่าจ้างเป็นไปตามกลไก ไตรภาคี  เพราะถ้ามีการแทรกแซงจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ