ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย อุตฯเป้าหมายที่ควรจับตาในพื้นที่ EEC

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย   อุตฯเป้าหมายที่ควรจับตาในพื้นที่ EEC

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นห่วงโซ่อุปทานที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความแข็งแกร่ง และมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการผลิต การจ้างงาน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยียานยนต์

ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกที่ผลิตรถยนต์ได้มากที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก เฉลี่ยปีละประมาณ 1.9 ล้านคัน

Krungthai COMPASS มองว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตรถยนต์ใหม่ และปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์สะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี รวมถึงตลาดส่งออกที่ยังมี Room to Grow ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯ ของไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ระดับ 1.3%YoY ในปี 2566 และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 2.6%YoY ในปี 2567 โดยตลาดชิ้นส่วนฯ ประเภท OEM (Original Equipment Manufacturing) ที่มีสัดส่วนราว 30-40% ของมูลค่าตลาด มีแนวโน้มขยายตัวตามยอดการผลิตรถยนต์ของไทยที่ปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ตลาดชิ้นส่วนฯ ประเภท REM (Replacement Equipment Manufacturing) หรือชิ้นส่วนฯ ประเภทอะไหล่ทดแทน ที่มีสัดส่วนราว 60-70% ของมูลค่าตลาด ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มต้องเปลี่ยนอะไหล่และชิ้นส่วนฯ ทดแทนของเดิมสูง ที่คาดว่าจะขึ้นไปแตะระดับ 31.3 ล้านคัน ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 10.7% โดยการเปลี่ยนชิ้นส่วนฯ กลุ่ม Fast Moving Parts อาทิ ไส้กรองน้ำมัน ไส้กรองอากาศ ของรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี จะมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่และชิ้นส่วนฯ สูงกว่ารถยนต์ที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 5 ปี อยู่ถึง 35%

ด้านการส่งออกชิ้นส่วนฯ ไทยยังมี Room to Grow ที่จะขยายตลาดและเพิ่มสัดส่วนการส่งออกชิ้นส่วนฯ ไปยังตลาดโลก เนื่องจากไทยมี Market Share เพียง 2.2% เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์รวมทั่วโลกที่มีมูลค่าราว 5-6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ใน Supply Chain ของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้ากลุ่มระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการส่งกำลัง และระบบมอเตอร์ไฟฟ้า จะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐส่งเสริมการลงทุนภายในเขตพื้นที่ EEC โดยนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้การผลิตรถยนต์ BEV ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการ ยกตัวอย่างเช่น “BYD” บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนที่ได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ในปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ลงทุนใน EEC สูงสุด มูลค่าการลงทุนรวม 78,198 ล้านบาท