ส่อง 5 ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย รายได้-กำไร โตอู่ฟู้
เปิดรายได้ 5 ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย ไตรมาสแรก ซีพี ออลล์ กวาดรายได้-กำไรมากสุด ตามมาด้วย ซีพี แอ็กซ์ตร้า เซ็นทรัลรีเทล เซ็นทรัลพัฒนา เอ็มบีเค แรงหนุนการขยายธุรกิจ เปิดสาขาใหม่ กำลังซื้อในประเทศ นักท่องเที่ยวโต มาตรการรัฐ
ประเมินภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยช่วงต้นปี ภายหลังแจ้งผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ออกมาแล้ว ต่างสร้างผลประกอบการเติบโตทั้งรายได้และผลกำไร สะท้อนถึงตลาดยังคึกคัก จากการมีเทศกาลสำคัญ ทั้งการเฉลิมฉลองปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน รวมถึงมาตรการภาษี Easy – E receipt ของภาครัฐมาร่วมกระตุ้นการใช้จ่าย ตลอดจนแรงหนุนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศในไตรมาสแรกประมาณ 9.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 44% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และแรงหนุนจากมาตรการฟรีวิซ่า ของประเทศจีน ร่วมเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้เมื่อประเมินภาพรวมค้าปลีกในประเทศไทยไตรมาสแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทที่สร้างผลประกอบการสูงสุด ได้แก่
- ซีพี ออลล์ รายได้รวมอยู่ที่ 241,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% กำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.3%
- ซีพี แอ็กซ์ตร้า รายได้รวมอยู่ที่ 127,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% กำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%
- เซ็นทรัลรีเทล รายได้รวมอยู่ที่ 67,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% กำไรสุทธิ 2,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%
- เซ็นทรัลพัฒนา รายได้รวมอยู่ที่ 12,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% กำไรสุทธิ 4,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%
- เอ็มบีเค รายได้รวมอยู่ที่ 2,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% กำไรสุทธิ 689 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 245%
ทำให้ภาพรวมรายได้ของ 5 ยักษ์ใหญ่ รวมกันประมาณ 4 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ ราวๆ 16,000 ล้านบาท ทั้งนี้มี ซีพี ออลล์ สร้างรายได้และกำไรสุทธิสูงสุดในค้าปลีกไทย แต่บริษัทมีการถือหุ้นในธุรกิจในเครือซีพี กับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น ประมาณ 34.91%
จำนวนสาขาของ 5 รายใหญ่ช่วงไตรมาสแรก
- ซีพี ออลล์ โดย เซเว่น อีเลฟเว่น ในไทย 14,370 สาขา, กัมพูชา 84 สาขาและ ลาว 4 สาขา
- ซีพี แอ็กซ์ตร้า โดย แม็คโคร มีสาขาในไทยและต่างประเทศ 169 สาขา โลตัส ทั้งในไทยและมาเลเซียรวม 2,517 สาขา
- เซ็นทรัลรีเทล มีศูนย์การค้าในไทย เวียดนาม อิตาลี รวม 72 สาขา
- เซ็นทรัลพัฒนา ศูนย์การค้ารวม 42 แห่ง
- เอ็มบีเค มีเอ็มบีเค เซ็นเตอร์, พาราไดซ์ พาร์ค และเดอะ ไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ และพระราม 9
เจาะอินไซด์รายได้-กำไร 5 บริษัทค้าปลีกรายใหญ่
เซ็นทรัลรีเทล สร้างรายได้ไตรมาสแรก 6.72 หมื่นล้าน โต 6%
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็นทรัลรีเทล ภายใต้อาณาจักร เซ็นทรัล สร้างรายได้รวมไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ 67,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 2,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนของยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออมนิชาแนล มีสัดส่วนอยู่ที่ 19% ของยอดขายรวม
ทั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม จากประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี รวมถึงยอดขายจากสาขาในธุรกิจท่องเที่ยวและห้างสรรพสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสแรก มีการเปิดห้างสรรพสินค้า ทั้งที่เซ็นทรัลนครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม รวมถึงการเปิด โก โฮลเซลล์ สาขาเดียว ที่พระราม 2 ส่วนท็อปส์ เปิดสาขาใหม่ 3 สาขา และรีโนเวทเซ็นทรัลชิดลม สู่ลักชัวรีดีพาร์ทเม้นท์สโตร์รวบรวมแบรนด์ชื่อดังจากทั่วโลก ทำให้ยอดขายในไทยไตรมาสแรก ขยายตัว 6.4%
เวียดนาม ยอดขายกลับมาแล้ว จากเทศกาลปีใหม่และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยมีการขยายธุรกิจทั้ง มินิ go! และ ปรับปรุงศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! ทำให้ยอดขายในเวียดนามไตรมาสแรกขยายตัว 4.6% ส่วนประเทศ อิตาลี ธุรกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาจากการปรับสาขาแฟลกชิป การเปิดแบรนด์สินค้าต่างๆ ทำให้ยอดขายจากอิตาลี ขยายตัว 14.5% ถือว่า เป็นประเทศที่มีการขยายตัวมากสุดเมื่อเทียบกับทั้งไทยและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม หากประเมิน 5 กลุ่มธุรกิจหลักของเซ็นทรัลรีเทล พบว่า กลุ่มที่มียอดขายเพิ่มขึ้นมากสุดนำโดย แฟชั่น มียอดขายเพิ่มขึ้น 8.5% และธุรกิจฟู้ด เพิ่มขึ้น 7% ฮาร์ดไลน์ เพิ่มขึ้น 4.1%
ภาพรวมในไตรมาสแรก มีเครือข่ายร้านค้าปลีกและค้าส่งรวม 3,672 ร้านค้า พื้นที่ขายรวม 3.56 ล้าน ตร.ม. เพิ่มขึ้น 5.9% มีศูนย์การค้ารวม 72 สาขา พื้นที่เช่ารวม 7.43 แสน ตร.ม. เพิ่มขึ้น 1.2%
เซ็นทรัลพัฒนา สร้างกำไรสุทธิทะลุ 4,154 ล้านบาท พุ่ง 28%
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ภายใต้ กลุ่มเซ็นทรัล รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 12,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% พร้อมสร้างผลกำไรสุทธิ 4,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ซึ่งมาจากการดำเนินผ่าน 4 ธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจให้เช่าและบริการ ธุรกิจบริการและศูนย์อาหาร ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัย
แรงบวกสำคัญไตรมาสนี้ มาจากการเปิดพื้นที่เช่าใหม่ ยอดขายของผู้เช่าที่สูงขึ้น การเพิ่มที่ของการทำกิจกรรมส่วนกลาง รวมถึงการเปิดตัว ศูนย์การค้าใหม่ 2 แห่ง ตั้งแต่ ช่วงต้นปี ในวันที่ 31 ม.ค.กับ เซ็นทรัล นครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม ในวันที่ 30 มี.ค. นับเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ 40 ของบริษัท พร้อมมีการเปิด คอนโดมิเนียม เอสเซ็นท์ นครสวรรค์ และนครปฐม วันเดียวกับการเปิดศูนย์การค้า พร้อมสร้างยอดการจองในระดับสูง แสดงถึงดีมานด์ในจังหวัดเมืองหลัก และมีการเปิดโครงการ บ้าน นิรดา วงแหวน-เอกมัย
ภาพรวมไตรมาสแรก เซ็นทรัลพัฒนา มีศูนย์การค้าทั้งหมด 42 โครงการ ใน กทม. และปริมณฑล 17 โครงการ และต่างจังหวัด 23 โครงการ กิจการร่วมค้า 1 โครงการ ศูนย์การค้าขนาดเล็กหรือ คอมมูนิตี้มอลล์ 17 โรงการ มีพื้นที่ให้เช่ารวม 2.3 ล้าน ตรม. มีอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ 93% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่มีอัตราการเช่า 92%
รวมถึงธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ทั้งหมด 10 อาคาร 3.14 แสน ตร.ม. อัตราการเช่าพื้นที่ 86% ส่วนโรงแรม ภายใต้การบริหารรวม 9 แห่ง จำนวน 1,481 ห้อง อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 67% และมีโครงการที่พักอาศัย ภายใต้การบริหารงานรวม 36 โครงการ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขาย 27 โครงการ
ซีพี แอ็กซ์ตร้า กวาดยอดขายรวม 1.27 แสนล้านบาท โต 6%
บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ค้าปลีกภายใต้ยักษ์ใหญ่ซีพี มีธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง กับทั้ง แม็คโคร และโลตัส สามารถสร้างรายได้และกำไรในไตรมาสแรกขยายตัวดีเช่นกัน โดยมีรายได้รวม 127,020 ล้านบาท สูงขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมกำไรสุทธิ 2,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% แต่เมื่อประเมินการเติบโตในไตรมาสนี้ ธุรกิจค้าปลีก มีการขยายตัว 6.7% และธุรกิจค้าส่ง ขยายตัว 6%
แรงหนุนสร้างผลประกอบการขยายตัว มาจากทั้งการขยายสาขาของแม็คโครในประเทศไทย ธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสมีทิศทางที่ดี รวมถึงยอดขายในสาขาเดิมและออนไลน์ ส่วนธุรกิจค้าปลีกกับโลตัส มีรายได้จากการจำหน่ายอาหารสด และขายผ่านออนไลน์เติบโตดี รวมถึงได้ปรับพื้นที่ในห้างค้าส่งและค้าปลีกให้เป็นศูนย์กลางชุมชน สอดคล้องความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้มีการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า พัฒนาบริการ และการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายของทั้งธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกรวมกว่า 2,600 สาขาทั่วประเทศ เป็นจุดกระจายและจัดส่งสินค้า มีการพัฒนาทีมนักขายนอกร้าน อีกทั้งเน้นขยายสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท (Private Label) เพื่อสร้างความแตกต่าง และเพิ่มกำไร
รวมถึงการวางกลยุทธ์มุ่งจำหน่ายอาหารสดและช่องทางออนไลน์ ทำให้ยอดขายผ่าน ออมนิชาแนล โตก้าวกระโดด โดยยอดขายผ่าน ออมนิชาแนล คิดเป็นสัดส่วน 16.3% ของรายได้จากการขาย สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 15% ทั้งหมดเป็นตามเป้าหมายที่ต้องการเป็น "ผู้นำเทคโนโลยีค้าปลีกค้าส่ง" เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาพรวมไตรมาสแรกของปีนี้ แม็คโครมีสาขารวม 169 สาขา แบ่งเป็น สาขาในไทย 160 สาขา และต่างประเทศ 9 สาขา พื้นที่ จำหน่ายสินค้ารวม 9.10 แสน ตร.ม. ส่วนโลตัส มีสาขารวม 2,517 สาขา แบ่งเป็น สาขาในไทย 2,448 สาขา และมาเลเซีย 69 สาขา พื้นที่ขายรวม 1.795 ล้าน ตร.ม.
เอ็มบีเค สร้างกำไรไตรมาสแรกโต 245%
บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกแรก มีรายได้รวม อยู่ที่ 2,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างกำไรสุทธิ 689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 245% มาจากการการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และมาจากการปรับกลยุทธ์ของบริษัทให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ และการมองหาโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ
ทั้งนี้ เอ็มบีเค มี 8 กลุ่มธุรกิจหลักในเครือ ทั้ง ธุรกิจศูนย์การค้า กับทั้ง เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, พาราไดซ์ พาร์ค, เดอะ ไนน์ ติวานนท์และพระราม 9 ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการประมูล และธุรกิจศูนย์สนับสนุนธุรกิจอื่นในเครือ
หากประเมินใน 8 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มที่สร้างรายได้สูงสุดคือ ศูนย์การค้า สร้างรายได้ในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ 770 ล้านบาท ขยายตัว 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในศูนย์การค้า มีการเช่าพื้นเพิ่มขึ้น รองลงมา ธุรกิจการเงิน สร้างรายได้ 583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และธุรกิจอาหาร สร้างรายได้ 579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% ตามมาด้วย ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจการประมูล ธุรกิจกอล์ฟ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในรอบปีที่ผ่านมาของศูนย์การค้าคือ "พาราไดซ์ พาร์ค" ได้มีการต่อสัญญาเช่าที่ดิน ออกไปอีก 20 ปี ตั้งแต่ปี 2566 -2586 พร้อมมีการรีโนเวทศูนย์การค้าใหม่ มุ่งเลือกผู้เช่าให้มีความหลากหลาย เพื่อเจาะลูกค้าในทุกกลุ่ม รวมถึงได้ทยอยเปิดพื้นที่ได้รับปรับปรุงต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิด RAMATHIBODI HEALTH SPACE @ PARADISE PARK ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมมีการให้ส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการให้แก่ผู้เช่าเดิม และผู้เช่ารายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงศูนย์ด้วย
ซีพี ออลล์ รายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ยอดขายโต 11.9%
เบอร์หนึ่งร้านสะดวกซื้อของประเทศไทย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือซีพี ได้แจ้งผลประกอบการในไตรมาสแรก มีรายได้รวมอยู่ที่ 241,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% สร้างกำไรสุทธิ 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.3% มาจาก ยอดขายสินค้าทุกกลุ่มเพิ่มขึ้น ทั้งจากร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีผลดีต่อการใช้จ่าย และการท่องเที่ยวขยายตัว รวมถึงการวางกลยุทธ์ O2O ของแต่ละหน่วยธุรกิจ อีกแนวทางคือ บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้ความระมัดระวัง พร้อมได้รับผลดีจากค่าไฟเริ่มปรับตัวลดลง
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อกับ "เซเว่น อีเลฟเว่น" ในไตรมาสแรก ได้มีการเปิดสาขาไปแล้ว 185 สาขา ทำให้ภาพรวมไตรมาสแรก มีสาขารวมทั่วประเทศ 14,370 สาขา โดยแบ่งเป็น
- ร้านสาขาของบริษัท 7,485 สาขา หรือ 51%
- ร้าน SBP และร้านที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 7,245 สาขา หรือสัดส่วน 49%
- สาขาในกัมพูชา 84 สาขา และลาว 4 สาขา
ทั้งนี้ประเมินเฉพาะร้านสะดวกซื้อ มีรายได้จากการขายรวม 1.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% จากไตรมาสก่อน ลูกค้ามียอดใช้จ่ายต่อบิลที่ 85 บาท จำนวนลูกค้าเฉลี่ยต่อสาขา 972 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
สัดส่วนรายได้จากการขาย 75.2% มาจากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และ 24.8% มาจากสินค้าอุปโภคบริโภค โดยบริษัทได้วางแนวทางที่จะเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งในใจของกลุ่มลูกค้าเมื่อนึกถึงอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมมุ่งสโลแกนที่ทุกคนจดจำได้คือ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” และ "หิวเมื่อไหร่ก็สั่งเลย” สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกที่ ทุกเวลา
ทั้งหมดสะท้อนถึง 5 รายใหญ่ ยังสามารถโกยยอดขายและกำไรทะยานเติบโต ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้านในประเทศ และนอกประเทศ ทำให้ทุกรายต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด!