คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุม SEAPAC ส่งเสริมประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อม

คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ร่วมประชุม SEAPAC ส่งเสริมประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อม

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร SEAPAC และการหารือระดับภูมิภาค ที่จังหวัดบาหลี อินโดนีเซียส่งเสริมความมุ่งมั่นในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการกับการทุจริตสีเขียว

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 คณะผู้แทนรัฐสภาไทยนำโดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภาและนายคริษฐ์ ปานเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร และการหารือระดับภูมิภาคของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการต่อต้านการทุจริต ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

โดยในการหารือครั้งนี้เป็นความพยายามของ SEAPAC ในการแบ่งปัน องค์ความรู้ในการดำเนินงานต่อต้านการทุจริต ที่มีประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้ คือ "การส่งเสริมความมุ่งมั่นในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการกับการทุจริตสีเขียว" ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ 1 ประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมในการเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูปการต่อต้านการทุจริต และ 2 การใช้ประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียนเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตสีเขียว

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้นำเสนอการดำเนินงานของไทยในหัวข้อ แนวปฎิบัติที่ดีของรัฐสภาและบทเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไทยได้ดำเนินการตามแนวทางบาหลี ใน 3 เสาหลัก คือ 1 ความโปร่งใสตรวจสอบได้ที่มี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่เปรียบเหมือนการให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาล เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้  

ในส่วนของเสาหลักที่ 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของภาคประชาชน ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินการใดๆ ที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการประชามติประชาพิจารณ์ ในเสาหลักที่ 3 การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ ว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ของภาครัฐในการดำเนินการใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้

นอกจากนี้แล้ว คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ยังได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงการดำเนินงานตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และการมีธรรมาภิบาล 
คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้กล่าวถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่ร่างและนำเสนอโดยภาคประชาชน ที่มีความสำคัญในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนใน 3 ระดับ 1) นโยบาย 2) กฏหมาย และ3) การบังคับใช้ 

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่าจะสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน ที่ส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ท้ายที่สุดนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้เรียกร้องให้ที่ประชุมรณรงค์เร่งดำเนินการนำแนวทางการต่อต้านการทุจริตสีเขียวไปปฏิบัติอย่างจริงจังในระดับภูมิภาคต่อไป