เปิด 3 แผนหนุน 'ค่าไฟถูก' ลดฟอสซิล-เพิ่มพลังงานสะอาดช่วยได้?

เปิด 3 แผนหนุน 'ค่าไฟถูก' ลดฟอสซิล-เพิ่มพลังงานสะอาดช่วยได้?

ส.อ.ท. ชงแผนบริหารจัดการค่าไฟฟ้าแพงในประเทศไทย 3 ระดับ ย้ำ ลดสัดส่วนโรงไฟฟ้า “ฟอสซิล-เพิ่มพลังงานสะอาด” ถือเป็นอีกวิธีที่ทั่วโลกนิยมทำกัน แนะ "คลัง" ควักเงินอุดหนุนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า จากปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นมาช่วงปีที่ผ่านมา และล่าสุดรอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ที่ราคาค่าไฟภาคอุตสาหกรรมปรับสูงถึงหน่วยละ 5.33 บาท ส่วนภาคประชาชนจ่ายหน่วยละ 4.72 บาทนั้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน และท้ายสุดก้ส่งผลกระทบถึงผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนมากจนเกินไปจึงต้องมีการปรับราคาสินค่าเช่นกัน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟแพงใน 3 ระดับ คือ 1.ระยะสั้นคือ 1-3 ปี  แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเฉพาะหน้าโดยใช้มาตรการการเงินการคลังเข้ามาช่วย

2. ระยะกลาง 4-10 ปี กำหนดสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิลให้ลดน้อยลงสนับสนุนพลังงานสะอาดที่เป็นเทรนของโลกให้มากขึ้น ต้องแล้วเสร็จไม่น้อยกว่าที่ประเทศต่าง ๆ กำหนด และคำนึงถึงองค์กรต่าง ๆ ที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตมีความต้องการพลังงานสะอาดซึ่งมีความเร็วกว่านโยบายในระดับประเทศ

3. ระยะยาว 1-10 ปีขึ้นไป มุ่งไปสู่การเปิดไฟฟ้าเสรี (แต่การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี  ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อเข้าเป้าใน 10 ปีข้างหน้า) ให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาเพื่อจะเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายทั้งในระดับรากหญ้าจนถึงผู้ผลิตขนาดใหญ่

นายสุวิทย์ กล่าวว่า สาเหตุของค่าไฟแพงมาจากปัจจัยหลัก คือ 1. การวางแผนในระดับนโยบายที่ผิดพลาด มององค์ประกอบไม่ครบถ้วน ขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ได้ดูสถานการณ์โลกให้ถ่องแท้ และไม่เปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างตั้งใจ และจริงใจ 

ผู้บริหารพลังงานในระดับนโยบายซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลในแต่ละชุดมีความรู้ด้านเดียวคือความรู้พลังงาน โดยเฉพาะนโยบายที่มีการแทรกแซงความคิดการกำกับและการทำงาน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา การบริหารงานของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลา 10 ปีนี้

2. การเลือกกำหนดสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยประเมินว่าราคา LNG จะถูกและราคานิ่งยาวตลอด 20 ปี จึงโฟกัสไปที่ต้นทุนพลังงานเดียวเหมือนกับการแทงหวยรางวัลที่ 1 ถ้าไม่ได้คือล้มเลย แต่ในข้อเท็จจริงเรื่องประเภทนี้ในภาคเอกชนไม่ทำกัน เพราะว่าภาครัฐไม่ได้เอาเรื่องของ Risks Management มาเป็น KPI และมีผลไปถึงนโยบายกำหนดในการซื้อ Long Term Gas เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ จากนโยบายภาครัฐที่กำหนดพลังงานหมุนเวียน Renewable energy (RE) ให้มีสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 50% ในปี 2050 นั้น มีการศึกษาเชิงลึกจากหลากหลายสถาบันที่เชื่อถือได้ระดับโลก ว่าไม่สามารถจะตอบโจทย์ ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี 2050 ได้ สอดคล้องกับงานวิจัยที่มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนได้จัดทำแผน PDP ภาคประชาชนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่าถ้าจะตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ประเทศไทยต้องใช้พลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 80%

3.สถานการณ์ภาวะโลกร้อน และการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยใน COP 26 และ COP 27 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 แต่นโยบายด้านพลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ออกมาดูเหมือนไม่สามารถจะเป็นไปตามที่ประกาศได้

นอกจากนี้ เมื่อมีข่าวค่าไฟฟ้า มีราคาสูงออกมาเมื่อไหร่จะมีกระบวนการปลุกกระแสปล่อยข่าวว่าต้นทุนที่แพงนั้นมาจากพลังงานหมุนเวียนในอดีตซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว พลังงานหมุนเวียนในอดีตมีสัดส่วนต่อค่าไฟฟ้าไม่ถึง 1% และ ในปัจจุบัน สัดส่วนดังกล่าวได้รถลดลงไปจนเกือบจะหมดและภายในระยะเวลา 2-3 ปีการอุดหนุนเหล่านี้อายุสัมปทานก็จะหมดลง เราสามารถดูได้จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่าสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงขึ้น ถ้า RE แพงจริงทั้งโลก ทำไมถึงใช้ RE ในอัตราส่วนที่สูงอย่างมาก การบิดเบือนข่าวแบบนี้จะมีการกระทำออกมาเป็นระยะระยะเมื่อมีข่าวไปกระทบกันโรงไฟฟ้าที่ผลิตมาจากฟอสซิล

4.การสำรองไฟของประเทศที่เกินอันเนื่องมาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าจาก GDP และเมื่อเกิดภาวะโรคระบาดโควิดทำให้ส่วนเกินมากขึ้นไปอีก เพราะความ ต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง อีกทั้งยังเร่งกระบวนการและอนุมัติในการจัดตั้ง และเร่งรัดงานก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้มีปริมาณสำรองมากกว่า 15% เกินกว่ามาตรฐานการสำรองของความต้องการใช้ไฟฟ้าไปอย่างมาก ซึ่งหลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ทำกัน

5.สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นจุดสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและ ประเทศไทยไม่เคยตั้งรับกับสถานการณ์ในความเสี่ยงใดๆ เพราะผู้บริหาร ไม่ได้ใช้หลักการการบริหารความเสี่ยง (Risk management) มาบริหารจัดการ

6. ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเคยอ่อนตัวลึกถึง 38 บาทต่อดอลลาร์

“การวางแผนพลังงานของประเทศผิดพลาดหลายจุด จนทำลายการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศอย่างร้ายแรง การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ประเทศกลับหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร หรือมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็มักจะโยนกันไปต่อๆ ว่าเป็นความผิดของรัฐบาลชุดนั้นชุดนี้แต่ในข้อเท็จจริงผู้มาเป็นผู้บริหารสามารถจะแก้ไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าจะทำ”