“ประยุทธ์” หั่นค่าไฟส่งท้ายรัฐบาล ส.อ.ท.ยื่นขอราคาไม่เกิน 4.7 บาท

“ประยุทธ์” หั่นค่าไฟส่งท้ายรัฐบาล ส.อ.ท.ยื่นขอราคาไม่เกิน 4.7 บาท

กพช.ส่งสัญญาณค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.66 ต่ำกว่า 5 ทุกกลุ่ม หากราคาแอลเอ็นจีนำเข้าทรงตัวที่ 15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู กกพ.พร้อมทำตัวเลขเปรียบเทียบทุกปัจจัย แต่ท้ายสุดอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล ส.อ.ท.หนุนลดค่าไฟทุกกลุ่ม ชี้ต้องไม่เกินหน่วยละ 4.7 บาท ห่วงภาคครัวเรือนรับภาระ

การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 จะกลับมาเป็นอัตราเดียวอีกครั้ง หลังจากงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.) กำหนดเป็น 2 อัตรา คือ ภาคครัวเรือนคิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.72​ บาท และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) หน่วยละ 5.33 บาท ในขณะที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงทำให้มีการพิจารณาลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวโน้มการคำนวนค่าไฟฟ้างวด 2 (พ.ค-​ส.ค.2566) จะเป็นอัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือนและเอกชนจากที่งวดแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) กำหนดเป็น 2 อัตรา

ทั้งนี้ มาตรการที่ดูแลค่าไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือนจากเดิมที่ให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีต้นทุนถูกกว่าเพื่อทำให้ราคาค่าไฟถูกกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนั้นเป็นนโยบายที่อนุมัติรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งอาจจะไม่มีต่อมาตรการแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ลดลงมากเหลือ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดระดับ 40-47 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อช่วงปลายปี 2565 เพราะสภาพอากาศในสหภาพยุโรปไม่ได้หนาวมากตามที่ประเมินไว้

“พลังงาน”มั่นใจราคาไฟลดลง

“ถ้าราคาก๊าซนำเข้าอยู่ในระดับนี้ต่อไปจะทำให้ทิศทางราคาค่าไฟฟ้างวดใหม่ถูกลงแต่จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วย ตามที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ก็อาจเป็นไปได้ อีกทั้ง ในช่วงของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ทำให้สถานการณ์แผนรับมือพลังงานฉุกเฉินผ่อนคลายขึ้น แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดต่อ อีกทั้งหากราคานำเข้าก๊าซลดลงอาจลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามบริหารจัดการเพื่อบริหารต้นทุนอย่างคุ้มค่าและถูกที่สุด” นายกุลิศ กล่าว

อย่างไรก็ตามการนำเข้า LNG โดยผู้นำเข้า (ชิปเปอร์ ) รายใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะราคานำเข้าใหม่ที่เป็นตลาดจร (Spot) จะสูงกว่าราคาตลาด POOL ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ราคานี้เพียงรายเดียว ที่เกิดจากการอ้างอิงราคาก๊าซในประเทศ ราคานำเข้าจากเมียนมา และราคา LNG สัญญาระยะยาว (LONG TERM ) 

ดังนั้น กพช.มีมติให้ทบทวนการเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 โดยให้ 8 ชิปเปอร์ สามารถนำเข้า LNG ตามเกณฑ์ราคากำหนดของ กกพ.ที่จะออกเกณฑ์ ราคา Benchmark ใหม่ให้เหมาะสมต้นทุนต่ำ เพื่อประโยชน์ของการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยให้นำราคาใหม่ที่นำเข้านำมาผสมในราคาตลาด POOL ได้ด้วยเพื่อให้ชิปเปอร์รายใหม่มีโอกาสนำเข้าได้ นอกเหนือจาก ปตท.

“การดูแลตลาด POOL จะมีการจัดตั้งส่วนดูแล หรือ POOL MANAGER ที่เบื้องต้น ปตท.เป็นผู้ดูแล แต่จะมีการแยกบัญชีออกมาชัดเจนแล้ว และในอนาคต กกพ.เสนอว่า POOL MANAGER จะเป็นองค์กรอิสระมาดูแล” นายกุลิศ กล่าว

กกพ.เร่งสรุปเงื่อนไขลดค่าไฟ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.จะทำตัวเลขเปรียบเทียบเพื่อกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยจะทำอัตราเปรียบเทียบราว 3 อัตราเหมือนเช่นเคย เช่น การคำนวนราคาก๊าซนำเข้า อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงเงินค้างจ่ายค่า Ft ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 170,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันจ่ายคืนให้กฟผ.หน่วยละ 22 สตางค์

“เรามีหน้าที่คำนวณค่า Ft ในแต่ละงวดโดยดูหลายปัจจัย แม้ว่าราคานำเข้าก๊าซจะลดลง แต่อย่าลืมว่าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาในช่วงที่มีราคาสูงยังคงเหลืออยู่ในระบบ ซึ่ง กกพ.จะต้องดูว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน และเราจะจ่ายคืนค่า Ft ให้ กฟผ.หน่วยละเท่าไหร่ ซึ่งจากที่เคยคิดหากคือหน่วยละ 33 สตางค์จะใช้เงินราวเดือนละ 20,000 ล้านบาท ดังนั้นค่าไฟฟ้าจะมีราคาหน่วยละเท่าไหร่นั้น รัฐบาลจะพิจารณาอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ที่ กกพ.ประกาศเชิญชวนรับซื้อตามนโยบายรัฐปีละ 10 เมกะวัตต์จนถึงปี 2573 รวม 90 เมกะวัตต์ แต่ปรากฏว่าประชาชนให้ความสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้นและเสนอขายเกินกรอบเป้าหมายปี 2565-2566 ครบ 20 เมกะวัตต์ แล้ว 

ดังนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงได้เห็นชอบให้กำหนดกรอบการรับซื้อเป็นปี 2565-2573 รวมเป็น 90 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีการตอบรับการซื้อไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

ส.อ.ท.ขอราคาหน่วยละ4.7บาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากราคาค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ลดลงกลุ่มเอกชนก็ยินดีอยู่แล้ว แต่ลดลงในอัตราเดียวกันนั้นจะต้องไม่ไปกระทบกับภาคครัวเรือน คือ ควรจะอยู่ในราคาไม่เกินหน่วยละ 4.72 บาท 

อีกทั้งราคาลดลงก็จะต้องลดภาระค้างจ่ายของ กฟผ.ตามอัตราค่าพลังงานที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เทรนด์ราคาก๊าซนำเข้าลดลง แต่เชื่อว่า กพช.ก็คงยังไม่กล้าพูดอะไรมากไปกว่านี้แน่นอน เพราะกว่าจะพิจารณาค่าไฟฟ้างวดใหม่ราวเดือน เม.ย.2566 ซึ่ง กพช.จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลของ กกพ.มาพิจารณา

เขาจะเซ็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ยังไม่มีการเซ็นตั้งคณะทำงานร่วมกัน เราก็ติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ว่าวันนี้ กพช.จะบอกว่าราคาค่าไฟมีโอกาสต่ำกว่าหน่วยละ 5 บาท ก็ไม่ไว้วางใจ หลักการเราเหมือนเดิม เพราะวันนี้เป็นวันที่ 13 ก.พ.2566 ยังไม่ถึงครึ่งทางของงวดแรก ยังเห็นภาพไม่ชัด แต่เทรนด์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่นโยบายจะอุ้มให้ครัวเรือนถูกกว่าเอกชนก็ไม่จำเป็นถ้าราคาตลาดรวมต่ำลง เรายังต้องรอดูเทรนด์ราคาพลังงานเดือน มี.ค.2566 อีกครั้ง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยสำคัญสุดเพราะถือเป็นต้นทุนที่ทำให้ราคาค่าไฟถูกลงที่สุด ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีการนำเอาไปทำปิโตรเคมีน้อยลงหรือไม่ ซึ่งแก๊สที่มีมีเทนอยู่เยอะมาทำไฟฟ้าก็ดี แต่การเอามาทำปิโตรเคมีที่ราคาถูกก็ไม่คุ้มค่า เป็นการจ่ายราคาเพียว ๆ ไม่เหมือนการนำมาผลิตไฟที่เอามารวมราคาก๊าซในอ่าวไทย ก๊าซในเมียนมา ก๊าซนำเข้า เฉลี่ยราว 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนก๊าซที่นำไปทำปิโตเคมีจ่ายเพียงแค่ 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งการเอาของดีไปใช้ก็ควรจ่ายที่ราคาสูงกว่า 5 ดอลลาร์

ห่วง “พีดีพี” ใหม่ล่าช้ากว่าแผน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้ร้องว่าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่าไม่ขัดแต่มีข้อเสนอแนะให้ไปพิจารณาความชัดเจนเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนในระบบ และกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2022) ที่จะให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการจัดทำ PDP ต้องช้าจากแผนเดิมเล็กน้อย เพราะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลฯ มาปรับปรุงโดยจะพยายามจะจัดทำให้เสร็จภายในไม่เกินกลางปีนี้ โดยหลักการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านี้อาจจะเป็นเอกชนสัดส่วน 30% กฟผ.สัดส่วน 30% และที่เหลือสัดส่วน 40% นำมาประมูลและ กฟผ.สามารถร่วมแข่งขันได้

ส่วนกำลังสำรองไฟฟ้าจะปรับไปใช้เกณฑ์ดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับหรือ LOLE เพราะสะท้อนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้มากกว่าเนื่องจากแผนPDP ใหม่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นซึ่งจะเน้นดูการผลิตไฟฟ้าจริงไม่ใช่ดูที่กำลังการผลิตไฟทั้งหมด