ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน

ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน

เรียกได้ว่าช็อกตลาดพอสมควร สำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ตลาดหุ้นไทย ซึ่งปรกติไม่ค่อยตอบสนองต่อตัวเลขสภาพัฒน์ เปิดติดลบทันที และปิดสิ้นวันลบไป 6.62 จุด

ก่อนที่ตัวเลขสภาพัฒน์จะออก ตลาดมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.2 ขณะที่ตัวเลขจริงออกมาร้อยละ 2.6

ตัวเลขสองตัวนี้อาจจะดูต่างกันไม่มาก แต่ต้องอย่าลืมว่า ตลาดมีตัวเลขจริงแล้ว 3 ไตรมาส ขาดเพียงไตรมาสสุดท้ายของปีเท่านั้น ถ้าดูเฉพาะไตรมาสที่ 4 ส่วนต่างระหว่างตัวเลขคาดการณ์ของตลาดกับตัวเลขจริงจะเท่ากับประมาณร้อยละ 2

คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ปรับฤดูกาลแล้วแบบไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 จะลดลงจากไตรมาสที่ 3 ถึงร้อยละ 1.5

สภาพัฒน์อธิบายว่า ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ต่ำ เป็นเพราะการหดตัวของการส่งออกสินค้า ซึ่งในรูปของปริมาณติดลบถึงร้อยละ 10.5 ในไตรมาสที่ 4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเปรียบเทียบตัวเลขจริงที่ออกมากับตัวเลขคาดการณ์ของตลาดแล้ว การหดตัวของการส่งออกไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะตลาดรับทราบข้อมูลการส่งออกที่ติดลบมาสักพักแล้ว

ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน

ตัวเลขคาดการณ์ของสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ซึ่งออกมาในช่วงต้นปีนี้ได้รวมตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของปี 2565 ไปแล้ว

ในมุมของสำนักวิเคราะห์ อีกตัวเลขหนึ่งที่ผิดคาดพอสมควร คือ ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ

แม้หลายฝ่ายจะคาดไว้อยู่แล้วว่ารายจ่ายภาครัฐอยู่ในทิศทางชะลอตัว จากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ที่ลดลง และจากผลของฐานสูงที่รัฐบาลใช้เงินมหาศาลในการดูแลเศรษฐกิจในปีก่อนหน้า แต่ข้อมูลที่ออกมาสะท้อนอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดด้วย

แต่เอาจริงๆ แค่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าคาดไม่ควรจะมีผลมาก เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และหลายประเทศก็ขยายตัวได้ไม่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วเช่นกัน

ตัวเลขที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า คือ ช่วงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ที่ปรับลดลงจากร้อยละ 3.0-4.0 เป็นร้อยละ 2.7-3.7 ซึ่งก่อนหน้านี้ แทบไม่มีสำนักวิเคราะห์ไหนเลยที่คิดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่ำกว่าร้อยละ 3.0

นอกจากนี้ ค่ากลางของช่วงคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ร้อยละ 3.2 ยังต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 3.7 อย่างมีนัย ทั้งๆที่ตัวเลขใหม่นี้ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 28 ล้านคนแล้ว

หากไปดูไส้ในของคาดการณ์ พบว่า สภาพัฒน์ให้การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยลบหลักของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ติดลบในปีนี้ทั้งคู่

โดยคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าติดลบร้อยละ 1.6 คาดการณ์การอุปโภคภาครัฐติดลบร้อยละ 1.5 และคาดการณ์การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.7

ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน

แต่การอุปโภคภาครัฐมีขนาดมากกว่าการลงทุนภาครัฐมากจึงทำให้คาดการณ์การใช้จ่ายรวมภาครัฐติดลบ ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมความเสี่ยงที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์บอกว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 อาจจะล่าช้าได้

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข่าวร้ายสำหรับเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะต่อไปจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นบางสำนักปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงตามสภาพัฒน์

อย่างไรก็ดี ผมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุผลหลักสองประการ

ประการแรก ผมคิดว่าสภาพัฒน์ประมาณการผลต่อเศรษฐกิจของการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศน้อยเกินไป โดยแม้สภาพัฒน์จะให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากถึง 28 ล้านคน

แต่ให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียง 1.31 ล้านล้านบาท หรือ 4.68 หมื่นบาทต่อหัวนักท่องเที่ยว 1 คน ต่ำกว่าตัวเลขก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหัว (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2562)

ซึ่งหากคำนึงถึงราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากผลของเงินเฟ้อ และ “Revenge spending” ของนักท่องเที่ยวจีนที่อั้นมานาน ก็เป็นไปได้ที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้จะสูงกว่าที่สภาพัฒน์ประเมิน ยังไม่นับว่าล่าสุดมีสำนักวิจัยสำนักหนึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้จะมีถึง 30 ล้านคน

ประการที่สอง ผมคิดว่าอาจจะยังมี upside สำหรับการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 56 ในจีดีพีได้ ตรงนี้ต้องบอกว่าตัวเลขของสภาพัฒน์ไม่ได้แย่ไปหมด

ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน

เปิดเบื้องหลัง ‘เศรษฐกิจไทย’ ปี 65 ทำไมหักปากกาเซียน ‘GDP’ โตต่ำคาด!

จับสัญญาณ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในไทย ‘สศช.’เฝ้าระวัง แม้โอกาสเกิดยังน้อย

“หุ้นไทย” ปิดตลาดลบ 6.62 จุด กลุ่มค้าปลีกฉุดดัชนีฯ สะท้อนจีดีพีต่ำคาด

ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีแทรกอยู่ ผมเชื่อมั่นว่าตัวเลขการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วที่ออกมาร้อยละ 5.7 สูงกว่าคาดการณ์ของทุกสำนัก

ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับผลทวีคูณต่อการบริโภคภาคเอกชนของการท่องเที่ยวที่สูงกว่าผลทวีคูณของการส่งออกสินค้า (จากความเชื่อมโยงไปการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่า)

มองไปข้างหน้า หากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในข้อ 1 สูงกว่าที่สภาพัฒน์คาด การบริโภคภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัวได้สูงกว่าที่สภาพัฒน์คาดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งน้อยกว่าที่ผมคาดก่อนจะเห็นตัวเลขของสภาพัฒน์พอสมควร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเรารับมือกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้ไม่ดีนัก

ทั้งนี้ ผมเห็นตรงกับสภาพัฒน์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับแรกของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

ซึ่งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ และจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย