กกร.จี้รัฐลดค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จี้ภาครัฐแก้ปัญหาค่าไฟแพง เล็งตั้ง กรอ.พลังงาน บูรณาการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน พร้อมคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยนี้โต 3-3.5% ส่งออกโต 1-2%

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ระบุว่า จากการหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงานวานนี้ (31 ม.ค.) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อทำให้การคำณวนค่า Ft ในรอบถัดไปมีอัตราที่ลดลง โดยที่ประชุมเสนอให้ปรับลดค่า Ft งวดเดือน พ.ค – สค. 66 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ เห็นชอบในแนวทางการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน และให้สำนักงาน กกร. จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป และระหว่างการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน ขอให้มีคณะทำงานด้านพลังงานเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน รวมถึงหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยมีตัวแทน 3 ฝ่าย จากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กกพ. และ กกร.

กกร.คาดจีดีพีปี 65 โต 3-3.5%

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แต่มีความเสี่ยงจากภาคการส่งออก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคนที่ประเมินไว้เดิม จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 

อย่างไรตาม การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงต้นปี และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการแข็งค่าของค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็วแต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่นๆ

สำหรับค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและมากกว่าสกุลภูมิภาค แม้ว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลในไตรมาสที่ 4/2565 มุมมองของนักลงทุนที่เป็นบวกต่อการเปิดประเทศของจีน และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าหลังจากตลาดคลายความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่เงินบาทแข็งค่าราว 15% ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมาและแข็งค่าถึง 5% ในช่วงเดือนมกราคมซึ่งมากและเร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในภาวะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3-3.5% การส่งออกคาดอยู่ในกรอบ 1-2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%