31 พ.ค. JKN ประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2 วาระหลักจํานวน-วิธีชําระเงินคืน

31 พ.ค. JKN ประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2 วาระหลักจํานวน-วิธีชําระเงินคืน

บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) กำหนดประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2 วันที่ 31 พ.ค. 67 วาระหลักเรื่องพิจารณาตารางจํานวน-วิธีชําระเงินคืนผู้ถือหุ้นกู้ ขณะที่สรุปประชุมครั้งแรก 17 พ.ค. 67 ให้ข้อมูลแนวทางหารายได้ แผนธุรกิจ 3C แนวทางคืนหนี้ พร้อมเปิดโอกาสแสดงให้ความคิดเห็น

นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทจะจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2567เวลา10.00 น. ถึง 12.00 น. ณ โรงแรมเอเชียกรุงเทพ

โดยมีระเบียบวาระการประชุมดังต่อไปนี้

วาระที่ 1 แจ้งเพื่อทราบ
วาระที่ 2 พิจารณาตารางการชําระเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งประกอบไปด้วยจํานวนเงินและวิธีการชําระเงินคืนที่ชัดเจน (Repayment Schedule)
วาระที่ 3 พิจารณาวาระอื่นๆ (ถ้ามี)

บริษัทเรียนเชิญเจ้าหนี้หุ้นกู้เข้าร่วมประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว โดยขอให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมประชุม โปรดกรอกแบบแจ้งความประสงค์เข้าร่วมการประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567

โดยบริษัทจะเปิดให้เจ้าหนี้หุ้นกู้นําแบบแจ้งความประสงค์เข้าร่วมการประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ลงทะเบียนในวันที่ 31 พ.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป

สงวนสิทธิ์ให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ที่มีรายชื่อเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ณ วันที่ 23 เม.ย. 2567 ในการเข้าร่วมประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ JKN ยังเผยแพร่รายงานสรุปการจัดประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งจัดเมื่อในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) ดังนี้

วาระที่ 1 ชี้แจงและให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุมและที่รับชมผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทราบถึงแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท หากว่าบริษัทได้รับความไว้วางใจและได้รับเลือกจากเจ้าหนี้ให้เป็นผู้ทำแผน โดยบริษัทได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้ถึงแนวทางฟื้นฟูกิจการของบริษัท  

1.1 การร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเพื่อให้ธุรกิจ Miss Universe ("MUO") สร้างรายได้และผลตอบแทนให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทได้ชี้แจงและให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของบริษัท

บริษัทจำเป็นต้องร่วมทุนกับนักลงทุนในต่างชาติเพื่อทำให้ MUO สามารถสร้างรายได้จากทั่วโลกให้แก่บริษัทโดยในการร่วมทุนดังกล่าวบริษัทได้ขายหุ้น MUO ในสัดส่วนร้อยละ 50 ให้แก่ Legacy Holding Group USA Inc. ("LHC")

เนื่องจากในการบริหารงาน MUO ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับโลก จำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ เงินทุน ตลอดจนสายสัมพันธ์ (Connection) ในระดับนานาชาติ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ

ซึ่ง LHG มีความเหมาะสมเนื่องจากมีศักยภาพทั้งในด้านการเงิน รวมถึง International Connection ที่จะช่วยทำให้ MUO สามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้สามารถเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้หุ้นกู้ทุกคน

1.2 การดำเนินธุรกิจตามแผน 3 C

ที่ปรึกษาของบริษัทได้ชี้แจงและให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า หากบริษัทได้รับเลือกให้เป็นผู้ทำแผนนอกจากแหล่งรายได้จากธุรกิจ MUO ดังที่กล่าวในข้อ 1.1 แล้ว บริษัทมีแผนที่จะสร้างรายได้จากทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ในแล้ว ดังนี้

1.2.1 การสร้างรายได้จาก Content

การจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้แก่ลูกค้าทั้งภายในประเทศ และลูกค้าในต่างประเทศทั่วโลก โดยดำเนินการในลักษณะซื้อมาขายไป ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในลักษณะเช่นนี้มาอย่างยาวนานจนสามารถนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

โดย Content ที่บริษัทวางแผนที่จะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าประกอบไปด้วย 10 Categories ได้แก่ 1) Original Project 2) Asian Fantasy 3) Hollywood Hits 4) Kid Inspire 5) I Magic The Project 6) Super Show 7) Music Star Parade 8) News 9) Action Sport 10) Beauty Olympics

1.2.2 การสร้างรายได้จาก Commerce

โดยการจําหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “Anne Brand” ซึ่งประกอบไปด้วยสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม และแบรนด์ “Miss Universe” ซึ่งสามารถต่อยอดได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เครื่องสําอาง แฟชั่น เป็นต้น

1.2.3 การสร้างรายได้จาก Contest

โดยรายได้ส่วนนี้จะประกอบไปด้วย 10 ประเภทรายได้ (BASIC 10) ได้แก่
1) Franchise Fee รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศในการจัดประกวดนางงามเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe,
2) Hosting & Production Fee รายได้จากค่า License ที่เรียกเก็บจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด และ รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด
3) Sponsorship Fee รายได้ที่เกิดจากผู้สนับสนุนการจัดการประกวด
4) Licensing Fee รายได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการ ภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของ MUO
5) Merchandising Fee รายได้จากการให้สิทธิ์ผลิตสินค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของ MUO
6) Broadcast Fee รายได้จากการให้ License ในการเผยแพร่สัญญาณการจัดการประกวดในแต่ละประเทศ
7) Digital Incomeรายได้จาก Digital Platform ต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, YouTube, TikTok, X (Twitter)
8) Talent Management fee (รายได้จากการบริหารจัดการงานจ้างและงานบันเทิงที่เป็นผู้ครองตําแหน่ง
9) Ticket Sales รายได้จากการจําหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทั้งงาน Event
และ 10) Travel Packages รายได้จากการดําเนินธุรกิจท่องเที่ยว

วาระที่ 2 ชี้แจงและให้ข้อมูลถึงแนวทางการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ ดอกเบี้ยและผลตอบแทน ตลอดจนกรอบเวลาในการชำระหนี้จนครบถ้วนทั้งหมด

บริษัทได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ ดอกเบี้ยและผลตอบแทน ตลอดจนกรอบเวลาในการชำระหนี้จนครบถ้วน

วาระที่ 3 เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ได้สอบถามและแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแนวทางการชำระหนี้

เจ้าหนี้หุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงหรือทบทวนแนวทางและเงื่อนไขการชำระหนี้คืนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้หุ้นกู้ทุกกลุ่ม