นักวิชาการขอ TDRI ชี้แจงเนื้อหาข่าวที่พาดพิงกรณีโฆษณาแอลกอฮอล์

นักวิชาการขอ TDRI ชี้แจงเนื้อหาข่าวที่พาดพิงกรณีโฆษณาแอลกอฮอล์

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง "TDRI ชี้แจงเนื้อหาข่าวที่มีการพาดพิง" กรณีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์

ขอให้ TDRI ชี้แจงเนื้อหาข่าวที่มีการพาดพิง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน  ชนะกุล

อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้วยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์พาดหัวข้อข่าว “TDRI แจงผลศึกษาคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มุ่งสร้างสมดุล ศก. ปัดเอื้อกลุ่มทุน” ซึ่งในเนื้อหาข่าว TDRI ระบุว่า “ผู้แสดงความเห็นรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ถึงเนื้อหาของการสัมมนาสาธารณะซึ่งจัดโดย TDRI และมีการเผยแพร่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ในสื่อมวลชนบางสำนักโดยได้อ้างอิงกรณีศึกษาจากประเทศฟินแลนด์

พร้อมกับระบุว่า ‘งานวิจัย TDRI คลาดเคลื่อน พูดไม่หมด หลังหนุนรัฐใช้โมเดลฟินแลนด์ ปล่อยเสรีแอลกอฮอล์กระตุ้นเศรษฐกิจ เสี่ยงถูกมองทำเพื่อกลุ่มทุน ไม่สนประชาชน’ ซึ่งถือเป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ”

เนื่องจากการรายงานข่าวดังกล่าว เป็นการอ้างถึงหัวข้อข่าวอันเกี่ยวเนื่องกับการให้สัมภาษณ์ของผู้เขียนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ซึ่งหากมีการสืบค้นหัวข้อข่าวตามที่ TDRI ระบุ ย่อมทำให้ผู้เขียนได้รับความเสียหาย เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ดังนั้น จึงขอให้ TDRI ชี้แจงให้กระจ่างว่า สิ่งที่ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวกับ TDRI เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 มีจุดใดที่ไม่ถูกต้อง 

1.ความเดิม: TDRI จัดงานสัมมนาสาธารณะเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาฯ ในวันเดียวกันสื่อบางสำนักพาดหัวข้อข่าวเกี่ยวกับการจัดงานสัมมนาฯ ว่า “....เปิดให้โฆษณาน้ำเมา” จึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องมาดูการสัมมนาฯ เรื่องนี้ย้อนหลัง พร้อมกับดาวน์โหลดไว้เพื่อการศึกษา

2.เมื่อชมการสัมมนาฯ ย้อนหลัง พบว่า ข้อมูลที่ TDRI ใช้ในการสัมมนาฯ มีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการมีหน้าที่ให้ข้อมูลแก่สังคมโดยสุจริต ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงให้สัมภาษณ์ถึง TDRI ในเรื่องดังกล่าว เพียงประเด็นเดียวความว่า

“..TDRI ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ในด้านการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนโยบายด้านนี้ของไทย แต่ข้อมูลของ TDRI คลาดเคลื่อนจากกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์ในปัจจุบัน รวมถึงมีคำอธิบายไม่ครบถ้วน อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสน...”

นั่นคือ ในการสัมมนาฯ TDRI ยกตัวอย่างกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาจาก Slide ที่นำเสนอในการสัมมนาฯ จะพบว่า TDRI ระบุกฎหมายปี 1994 (Alcohol Act: 1143/1994)

หากทว่า ปัจจุบันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของฟินแลนด์ปี 2015 โดยมาตรา 50 (Article 50) บัญญัติว่า หากเป็น “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกินกว่าที่กำหนด” ห้ามมิให้มีการโฆษณาในทุกกรณีไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การให้ทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมกีฬา  รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ดังนั้น การที่ TDRI มีข้อเสนอ “แก้ไขมาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยให้สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ...” แต่ไม่ได้ระบุว่า เฉพาะกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบา  จึงไม่ตรงกับกฎหมายฟินแลนด์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

3.จากการชมการสัมมนาฯ ย้อนหลัง พบว่า ในประเด็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ TDRI ยกข้อมูลฟินแลนด์เพียงประเทศเดียว ก่อนนำไปสู่ข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวว่า “แก้ไขมาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยให้สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี...”

หลังจากนั้นได้มีการเสนอ 3 ตัวอย่างเกี่ยวกับการควบคุมการโฆษณากับเยาวชน ซึ่งประเด็นที่ “คลาดเคลื่อน” จากความเป็นจริงของกฎหมายฟินแลนด์ในปัจจุบันเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน คือ ข้อ 1 โดย TDRI ระบุในงานสัมมนาฯ ว่า “ห้ามมีป้ายโฆษณาใกล้โรงเรียนในระยะ 1 กิโลเมตร”  

ซึ่งในความเป็นจริง ฟินแลนด์ก่อนมีกฎหมายใหม่ การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาสามารถทำได้อย่างเสรี แต่ต้องควบคุมไม่ให้โฆษณาแก่เยาวชน อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาของประเทศฟินแลนด์พบว่า การอนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาอย่างเสรีในที่สาธารณะ เช่น billboard บนรถโดยสาร ฯลฯ มีผลต่อการเริ่มดื่มของวัยหนุ่มสาว และดื่มหนักขึ้นในกลุ่มที่ปกติดื่มอยู่แล้ว

ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงบัญญัติให้การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาในที่สาธารณะ เช่น billboard รถบัส shopping center โรงหนัง สถานีรถไฟ หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นทรัพย์ส่วนตัว เช่น กำแพงของบ้าน ข้างหรือท้ายรถยนต์ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากรายละเอียดคำอธิบายของหน่วยงานกำกับดูแลสวัสดิการและสุขภาพแห่งชาติฟินแลนด์ ที่เผยแพร่ใน ค.ศ.2022 โดยหน่วยงานดังกล่าวเป็นองค์กรในสังกัดของกระทรวงกิจการสังคมและสาธารณสุข) หาใช่ห้ามเฉพาะในเขตใกล้โรงเรียน 1 กิโลเมตร ดังที่ TDRI ยกมาแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบการให้สัมภาษณ์ของผู้เขียนที่เผยแพร่ทางสื่อเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ในประเด็นอื่นๆ ยังไม่พบว่า ได้มีการกล่าวถึง TDRI แต่อย่างใด เว้นแต่มีการนำตัวเลขผลการศึกษาของ TDRI เกี่ยวกับรายได้ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าอยู่ที่ 6 แสนล้าน โดยรัฐมีรายได้จากภาษีเพียง 1.5 แสนล้าน แต่ต้นทุนความเสียหายสูงกว่า 1.7 แสนล้าน 

จึงขอให้ TDRI กลับไปทบทวนการให้สัมภาษณ์ของผู้เขียน  แล้วช่วยกรุณาระบุว่า “คำสัมภาษณ์จุดใดที่ผู้เขียนกล่าวหา TDRI” เพื่อสาธารณชนจะได้ช่วยกันตรวจสอบ 

สำหรับประเด็นตามข้อ 1-3 ข้างต้น ก็ขอความกรุณา TDRI ช่วยให้ความกระจ่างกับผู้เขียนและสาธารณชนด้วยว่า สิ่งที่ผู้เขียนๆ มีจุดผิดพลาดหรือไม่ เช่นใด

ซึ่งหากข้อมูลของผู้เขียนถูกต้อง เหตุใด TDRI จึงเสนอให้มีการควบคุมเฉพาะกรณี “ป้ายโฆษณาใกล้โรงเรียนในระยะ 1 กิโลเมตร” ซึ่งไม่ตรงกับกฎหมายฟินแลนด์ในปัจจุบันที่ห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง เว้นแต่แบบเบาในกรณีการจัดงาน เช่น concert เป็นต้น 

หากผู้เขียนมีข้อผิดพลาดในประเด็นที่กล่าวไปในข้อ 1-3 ผู้เขียนขอน้อมรับ และจะเป็นองค์ความรู้เพื่อให้การเสนอแนะทางนโยบายมีความถูกต้อง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

(ทั้งนี้ ขอความกรุณา TDRI ระบุการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้เขียนให้สัมภาษณ์ผิดพลาดเฉพาะประเทศฟินแลนด์ เพราะในการสัมมนาฯ ในประเด็นโฆษณาฯ TDRI มิได้นำตัวอย่างประเทศอื่นๆ มานำเสนอ และผู้เขียนก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์พาดพิง TDRI เกี่ยวกับการโฆษณาฯ ของประเทศอื่น)

การที่ TDRI กล่าวถึงผู้เขียนในเนื้อหาตามรายงานข่าวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ว่า ไม่ได้กล่าวถึงบางมาตรการ ดังข้อความของ TDRI ที่ว่า มาตรการในข้อ (ก) และ (ข) ของฟินแลนด์ “ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายของฟินแลนด์ที่ผู้วิจารณ์ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นทั้งสองนี้.... (ข้อมูลข้อ (ก) และ (ข) ที่ TDRI รายงาน) อาจช่วยเติมเต็มข้อมูลของผู้วิจารณ์...” 

ได้แก่ “(ก) ในปี 2015 ฟินแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ตรากฎหมายกำกับควบคุม social media เน้นการควบคุมไม่ให้เด็กและเยาวชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการโฆษณาแอลกอฮอล์ และจำกัดการใช้ ผู้บริโภคเป็นผู้เผยแพร่หรือผลิตสื่อโฆษณา” นั้น ก็ขอให้ TDRI กลับไปศึกษาคำสัมภาษณ์ของผู้เขียนโดยละเอียดอีกครั้ง เพราะผู้เขียนได้อธิบายบทบัญญัติเกี่ยวกับ social media ของฟินแลนด์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว

สำหรับข้อ (ข) TDRI ระบุว่า“กฎหมายใหม่ในปี 2018 ของฟินแลนด์เป็นผลพวงจากกระบวนการปฏิรูปกฎหมายแอลกอฮอล์ ค.ศ. 1994 ที่เริ่มต้นในปี 2011 ประเด็นการปฏิรูปกลายเป็นประเด็นการเมือง ที่มีการวิ่งเต้น ล็อบบี้ และเกิดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย การปฏิรูปกฎหมายสำเร็จเมื่อพรรค NCP (กลางขวา) และ Finns Party (ประชานิยม) ...”

โดยประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการให้สัมภาษณ์ของผู้เขียน ซึ่งอ้างถึงคำแนะนำของ WHO ที่ระบุว่า มาตรการด้านภาษี มาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการห้ามการโฆษณา เป็น 3 วิธีที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าในการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น การที่ TDRI หยิบยกข้อ (ข) มา จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้เขียนให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567

ผู้เขียนขอขอบคุณ TDRI ที่อัปเดตข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายการโฆษณาของประเทศฟินแลนด์ใน slide PDF ที่ใช้นำเสนอในการสัมมนาฯ ดังปรากฎในเวปไซต์ของ TDRI ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ตรวจสอบ ยังพบข้อผิดพลาดบางประเด็น อาทิ ณ ปัจจุบันการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเบาทางโทรทัศน์ของประเทศฟินแลนด์ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00น. มิใช่ 07.00-21.00น. ดังที่ TDRI ระบุ จึงขอให้ TDRI ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพันธกิจสำคัญในการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณชน แก้ไขทุกประเด็นที่ยังมีความผิดพลาดด้วย เพื่อนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน รวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถใช้อ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

ส่วนการที่ TDRI เพิ่มเติม slide ในข้อมูลนำเสนอฯ เกี่ยวกับตัวอย่างการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่ในการสัมมนาฯ TDRI ไม่ได้นำเสนอจุดนี้ ถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ ไม่จัดว่าเกี่ยวข้องกับการสัมมนาฯ แต่อย่างใด!