สรท.คาดปี 66 ส่งออกไทยขยายตัวเพียง 2-5%

สรท.คาดปี 66 ส่งออกไทยขยายตัวเพียง 2-5%

สรท.ประเมินส่งออกปี 66 โต 2-5% ผลจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่วนส่งออกปี 65 ได้ 8 %แน่นอน จากอานิสงค์บาทอ่อน วิกฤอาหารโลก

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)   เปิดเผยว่า  สรท.คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยปี 66 จะเติบโตได้ 2-5% โดยประเมินจากการส่งออกในปี 65 ที่ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบและราคาขายส่งเพิ่ม จึงเพิ่มราคาต่อหน่วย สิ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญสรท.คาดว่า การส่งออกไทยปี 66 จะขยายตัวได้เพียง 2-5% มาจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการชะลอตัวในปีหน้า

นอกจากนี้ยังต้องติดตามค่าเงินบาทอ่อน โดยคาดว่าจะอ่อนค่าในระดับกลางประมาณ 36-38 บาทต่อดอลลาร์ ต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และค่าแรง ขณะที่สถานการณ์ค่าระวางก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเส้นทางหลัก ส่วนปัญหาราคาวัตถุดิบผันผวน ถึงแม้ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์จะบรรเทาลงบ้าง แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สรท.คาดปี 66 ส่งออกไทยขยายตัวเพียง 2-5%

ส่วนการส่งออกปี 65 จะขยายตัวได้ 8 %  แต่ก็มีโอกาสไปแตะ 9% ได้ หากไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกยังมีทิศทางที่เติบโตได้ต่อเนื่อง และไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมมากกว่านี้ แต่หากว่า จะให้การส่งออกแตะถึง 10% ต้องอาศัยการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการส่งออกมากกว่านี้โดยที่ไตรมาส 4 จะต้องโตประมาณ 5% ซึ่งมองว่ากรณีนี้เป็นไปได้ปานกลางถึงน้อย

โดยการส่งออกของไทยยังได้ปัจจัยหนุนมาจาก1. ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) สูงได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง และ 2. สถานการณ์วิกฤตอาหารทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าไก่ (แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) และอาหารกระป๋องแปรรูปของไทย ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าข้าวด้วย

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงก็ยังมีไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้ อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น  ดัชนีภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาณหดตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนก.ย.และต.ค.

นอกจากนี้ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ และโอเปคเล็งปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น  สถานการณ์การขาดแคลนชิปเริ่มคลีคลายในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคการผลิตที่มี CHIP เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ประกอบกับกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 ของสหรัฐฯ กดดันจีนต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในอนาคต

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai–UK และตลาดรองอื่น เพื่อเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันภาคส่งออกและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศในระยะยาว 2.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป

3. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายลำ (Transshipment) รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าของอาเซียน (ASEAN Logistic Hub) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้