จับตาผู้ว่าบีโอเจคนใหม่ ยุคเงินเยนอ่อนค่ามากสุด

จับตาผู้ว่าบีโอเจคนใหม่ ยุคเงินเยนอ่อนค่ามากสุด

"ฟูมิโอะ คิชิดะ" นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เตรียมแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลาง (บีโอเจ) คนใหม่เดือนเม.ย.ปีหน้า หลังจากที่"ฮารุฮิโกะ คุโรดะ" ผู้ว่าการบีโอเจคนปัจจุบัน กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง มาดูกันว่าใครเป็นเป็นตัวเต็ง และใครเป็นม้ามืด

การเสาะหาผู้เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่เริ่มขึ้นแล้ว เพื่อสืบสานภารกิจต่อจากคุโรดะ ที่กำลังจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 8 เม.ย.ปีหน้า ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่อาจมีขึ้นหลังจากนั้น

คิชิดะ บอกว่าเขาจะแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเข้ารับตำแหน่งนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะมีการกะเก็งเกี่ยวกับบุคลากรที่จะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การตัดสินใจเลือกและประกาศชื่อผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ อาจมีขึ้นหลังจากที่คุโรดะ สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เดือนเม.ย. ปีหน้าก่อน

คิชิดะ แถลงเจตนารมณ์ดังกล่าวต่อรัฐสภาโดยไม่ระบุชื่อผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจ และไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่แน่นอน โดยคิชิดะ กล่าวกับคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นว่า คุณสมบัติของผู้ว่าการบีโอเจคือ การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้านนโยบายการเงินและการประสานงานระหว่างบีโอเจกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งสองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่

เห็นได้ชัดว่า ภารกิจที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ก็คือ การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พลิกฟื้นขึ้นมาหลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มายาวนาน แถมถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นอกจากนี้  บีโอเจยังพบกับความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% โดยบีโอเจ คาดการณ์ว่า จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวได้ก่อนที่คุโรดะจะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าบีโอเจในเดือนเม.ย.ปีหน้า แม้ว่าบีโอเจจะพยายามดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบเชิงรุกมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม

หนึ่งในตัวเต็งสำหรับผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้นี้คือ “มาซาโยชิ อะมามิยะ” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการบีโอเจ โดยทำงานเป็นลูกหม้อบีโอเจมาเป็นเวลายาวนานถึง 43 ปี โดยเริ่มเข้าทำงานในปี2522

ขณะที่อีกคนที่ดูจะสูสีมากไม่แพ้กันคือ“ฮิโรชิ นาคาโสะ” อดีตรองผู้ว่าการบีโอเจ ซึ่งเข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 2521 แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยไดวา

สำหรับผู้ที่ถูกมองว่าอาจจะเป็น “ม้ามืด” วิ่งเข้าวินในช่วงโค้งสุดท้ายก็เป็นได้ คือ “ชิเกอากิ โอคาโมโตะ”อดีตผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัทยาสูบญี่ปุ่น
 

 แม้ตอนแรกคนส่วนใหญ่จะมองว่าโอคาโมโตะน่าจะเป็นตัวเต็งได้ขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯบีโอเจที่ตำแหน่งกำลังจะว่างลงในเดือนมี.ค. 2566 มากกว่า แต่มาระยะหลังๆ ปรากฏว่า มีผู้คาดหมายเขาอาจจะได้ขึ้นถึงตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจเลยก็เป็นได้ เพราะแม้บีโอเจจะทำงานเป็นเอกเทศ แต่ก็อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง 

การที่โอคาโมโตะเคยมีประสบการณ์ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง อาจจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของญี่ปุ่นมีความสอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งคุโรดะ ก็เคยเป็นรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นมาก่อนเช่นกัน

การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าบีโอเจมีขึ้นในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียวช่วงเช้าวานนี้ (18ต.ค.)เนื่องจากเงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากร่วงลงสู่กรอบ 149 เยนต่อดอลลาร์เมื่อคืนวานนี้ (17ต.ค.)ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปี ขณะนักลงทุนยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อเข้าซื้อเยน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ช่วงเวลา 12.00 น.ของวานนี้ ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 148.94-148.95 เยน เทียบกับ 148.97-149.07 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 148.64-148.65 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อวานนี้เวลา 17:00 น.

ส่วนยูโรเคลื่อนไหวที่ 0.9829-0.9833 ดอลลาร์ และ 146.39-146.46 เยน เทียบกับ 0.9838-0.9848 ดอลลาร์และ 146.61-146.71 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 0.9747-0.9748 ดอลลาร์ และ 144.88-144.92 เยนช่วงบ่ายวานนี้

เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเทขายสกุลเงินดอลลาร์ และซื้อสกุลเงินเยน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแทรกแซงตลาดค่าเงิน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี  โดยมีเป้าหมายชะลอเงินเยนที่อ่อนค่าไม่หยุด เพราะมองว่าจะสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น