ประวิตร จี้ระบายน้ำท่วมขัง ชี้น้ำเต็มเขื่อนเอื้อฤดูแล้ง66

ประวิตร จี้ระบายน้ำท่วมขัง ชี้น้ำเต็มเขื่อนเอื้อฤดูแล้ง66

“ประวิตร” สั่งเร่งลดพื้นที่น้ำท่วมขังให้เร็วที่สุด ประเมินฝนตอนบนเริ่มลด. ขณะเขื่อนมีน้ำ 80 % เสี่ยงต่อความมั่นคง แนะให้บริหารจัดการ แต่เป็นผลดีกับฤดูแล้งปี2565/66

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

ประวิตร จี้ระบายน้ำท่วมขัง ชี้น้ำเต็มเขื่อนเอื้อฤดูแล้ง66 ประวิตร จี้ระบายน้ำท่วมขัง ชี้น้ำเต็มเขื่อนเอื้อฤดูแล้ง66

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อ สถานการณ์น้ำ เนื่องจากปริมาณฝน ในปีนี้มากกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีปริมาณฝนใกล้เคียงปี 54

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันน้อยกว่าสถานการณ์น้ำท่วมปี 54 เป็นอย่างมาก จะมีเพียงพื้นที่เฉพาะจุดเท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่าจากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบและความเสียหายที่เกิดแก่ประชาชน โดยได้สั่งการ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชีและมูล พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการน้ำทุกแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ มากกว่า 80% ของความจุ หรือมากกว่าระดับควบคุม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงแข็งแรงและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้านท้ายน้ำของอ่างฯ โดยสั่งการให้บริหารจัดการให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

รวมถึงให้ตรวจสอบคัน ทำนบ และพนังกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างฯ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้เต็มศักยภาพ รวมถึงกำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ตอนบนปริมาณฝนเริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้ว

จึงให้ลดการระบายน้ำเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำกระทบในพื้นที่ด้านท้าย ขณะเดียวกันก็เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในจุดต่าง ๆ ที่มีน้ำท่วมขังออกโดยสู่ลำน้ำสายหลักเพื่อระบายออกสู่ทะเลโดยเร็ว

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนอยู่จำนวนมากในขณะนี้ ทำให้
กรมชลประทานจำเป็นต้องจะปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ให้อยู่ในอัตรามากกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่

เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร พร้อมดำเนินการแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดการณ์ว่าในช่วงหลังวันที่ 11 ต.ค. 65 แนวโน้มปริมาณฝนจะเริ่มลดลง โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ เริ่มทรงตัว รวมถึงปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ลดลง โดยปัจจุบันอ่างฯ ส่วนใหญ่เริ่มลดและงดระบายน้ำที่อาจจะส่งผลกระทบด้านท้ายน้ำ รวมถึงเพื่อเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง


ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร ยกเว้นอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นต้น โดยจากคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 65 พบว่า จะมีปริมาณน้ำ รวม 59,511 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 84% ของความจุ ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำเมื่อปี 2564 อยู่เกือบ 6,000 ล้าน ลบ.ม.

โดยในจำนวนนี้คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การสำหรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงฤดูแล้ง ปี 65/66 ทั้งด้านอุปโภคบริโภค ด้านการเกษตร ด้านรักษาระบบนิเวศและด้านอุตสาหกรรม จำนวน 35,968 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 76% ของความจุ ทำให้ภาพรวมของ ฤดูแล้งในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

โดยเฉพาะปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ รวม 14,118 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 64 อยู่ถึง 6,448 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ โดยวันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 65/66 จำนวน 10 มาตรการ ตามที่ สทนช. เสนอ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งในต้นเดือนหน้า พร้อมมอบหมายให้หน่วยงาน นำมาตรการไป จัดทำแผนปฏิบัติการในส่วนที่เกี่ยวข้องและจัดส่งให้ สทนช. เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการและติดตามประเมินผลต่อไป