รู้จัก “กับดักขาดดุลการค้า” หนึ่งปัจจัยสำคัญนำชาติกำลังพัฒนาสู่วิกฤติ

รู้จัก “กับดักขาดดุลการค้า” หนึ่งปัจจัยสำคัญนำชาติกำลังพัฒนาสู่วิกฤติ

รู้จัก "กับดักขาดดุลการค้า" ของแถมจากโปรเจคยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง "เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21" ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำพาประเทศกำลังพัฒนาไปพบกับ "วิกฤติเศรษฐกิจ" เช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกาและปากีสถาน

เมื่อไม่นานมานี้ ปากีสถาน ถูกเปิดเผยว่า ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง ศรีลังกา เนื่องจากเผชิญกับภาวะเงินอ่อนค่า จนระดับเงินสำรองระหว่างประเทศหัวตัวลง ไม่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าจำเป็น และอาจผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศจนนำไปสู่วิกฤติหนี้ในที่สุด 

แม้ว่าในปี 2565 นี้ สินค้าจำเป็นอย่างพลังงานจะดีดตัวขึ้นสูง จนทำให้ประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิต้องจ่ายค่านำเข้าพลังงานด้วยเงินจำนวนมากขึ้น อีกทั้งในหลายประเทศยังต้องใช้เงินคงคลังเพื่ออุดหนุนค่าพลังงานให้กับประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพและชะลอภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นผลให้หลายประเทศต้องเผชิญกับภาวะเงินอ่อนค่า เงินสำรองฯ ลด และอาจรวมไปถึงการขาดดุลทางการคลังและขาดดุลการค้า 

ถึงกระนั้น เหตุการณ์ข้างต้นไม่ได้ทำให้ทุกประเทศประสบกับวิกฤติเช่นเดียวกับศรีลังกา หรือปากีสถาน โดยหากพิจารณาสถานะทางการเงินก่อนปี 2565 พบว่า ทั้ง 2 ประเทศมีระดับเงินสำรองฯ เท่ากับมูลค่านำเข้าสินค้าของประเทศเพียง 3 เดือน ซึ่งตามเกณฑ์ควรเท่ากับ 6 เดือน และมีการขาดดุลบัญเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสินค้าจำเป็นที่แพงขึ้นในปีนี้จึงซ้ำเติมสถานะการเงินของทั้ง 2 ประเทศให้เลวร้ายลง 

สถานการณ์ข้างต้นนับเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุให้ไม่สามารถรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้ได้ แต่สงสัยหรือไม่ว่า อะไรที่ทำให้ศรีลังกาและปากีสถานต้องเผชิญกับความเปราะบางเศรษฐกิจเช่นนี้?

 

  •   ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สาเหตุสำคัญนำชาติเผชิญวิกฤติ  

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ สถานะทางการเงินภาครัฐและครัวเรือน หรือโครงสร้างประชากร เป็นต้น กำลังดำเนินไปในทิศทางที่บ่อนทำลายความแข็งแกร่งหรือความมั่งคั่งของเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งความเปราะบางจากปัจจัยเหล่านี้อาจร้ายแรง จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ววิกฤติเศรษฐกิจมักไม่ได้เกิดจากความเปราะบางของปัจจัยหรือตัวแปรเศรษฐกิจเพียงตัวใดตัวหนึ่ง แต่มักจะเจอกับความเปราะบางของปัจจัยหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่นอย่างที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา 

เมื่อพิจารณาที่ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของศรีลังกาและปากีสถาน พบว่า ทั้งสองประเทศต่างประสบกับการ “ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด” และ “ขาดดุลทางการคลัง” มาอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า “การขาดดุลแฝด” (Twin Deficit)  โดยปากีสถานเริ่มบันทึกการขาดดุลทางการคลังในปี 2553 และหลังจากนั้นก็ประสบกับการดุลทางการคลังเรื่อยมา เช่นเดียวกับศรีลังกาที่เผชิญกับการขาดดุลทางการคลังในระยะเวลาดังกล่าว 

นอกจากนี้ ศรีลังกามีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดครั้งสุดท้ายในปี 2527 (ค.ศ. 1984) และเป็นการเกินดุลฯ ราว 8.79 แสนดอลลาร์ ซึ่งไม่ถึง 0.1% ของขนาดเศรษฐกิจในปีดังกล่าว และหลังจากนั้น ศรีลังกาก็ไม่เคยได้บันทึกตัวเลขเกินดุลของบัญชีเดินสะพัดอีกเลย 

หากนับตั้งแต่ปี 2544-2563  ศรีลังกาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมด้วยมูลค่าราว 3.49 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ข้อมูลที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ตัวเลขดุลการค้า โดยจากการบันทึกข้อมูลสถิติของธนาคารโลก นับตั้งแต่ปี 2518 (ค.ศ. 1975) ศรีลังกาไม่เคยมีการบันทึกตัวเลขเกินดุลการค้าแม้แต่ปีเดียว และมีการขาดดุลการค้าสะสมในช่วงระหว่างปี 2544-2563 ด้วยมูลค่าราว 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจในปี 2563 มีมูลค่าเพียง 8.07 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ไม่เพียงแต่ศรีลังกาที่ประสบกับสถานการณ์ข้างต้น เพราะปากีสถานมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งจากการบันทึกข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าปากีสถานของธนาคารโลก พบว่า นับตั้งแต่ปี 2519 (ค.ศ. 1976) ปากีสถานมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 4 ปี นอกนั้นเป็นการขาดดุลทั้งหมด ซึ่งการเกินดุลฯ มีมูลค่าสะสมรวม 9,434 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเประมาณ 50% ของการขาดดุลฯ ในปี 2561 เท่านั้น และในห้วงเวลาเดียวกัน ปากีสถานมีการขาดดุลการค้าทุกปีเช่นเดียวกับศรีลังกา 

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง มีผลอย่างมากต่อการสะสมเงินสำรองฯ สอดคล้องกับระดับเงินสำรองฯ ของทั้งศรีลังกาและปากีสถานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยหากเทียบเป็นมูลค่าสินค้านำเข้าเฉลี่ยรายเดือน พบว่า ในช่วงปี 2558-2563 ศรีลังกามีเงินสำรองฯ ในระดับที่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินค้านำเข้าเพียง 3 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ทางปากีสถานมีการปรับขึ้นลงระดับเงินสำรองฯ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ตัวเลข 6 เดือนตลอดระยะเวลาดังกล่าว 

นอกจากนั้น “ภาระหนี้ระยะสั้น” ของทั้งสองประเทศก็สูงเช่นกัน โดยในช่วงปี 2558-2563 ปากีสถานมีหนี้ระยะสั้นเฉลี่ยที่ 76% ของมูลค่าเงินสำรองฯ ในขณะที่หนี้ระยะสั้นเฉลี่ยของศรีลังกาอยู่ที่ 111.9% ของมูลค่าเงินสำรองฯ 

ไม่ต่างกันกับคนธรรมดา ถ้ามีพฤติกรรมใช้จ่ายมากกว่ารายได้ก็มักจะต้องเจอปัญหาด้านการเงิน ภาพใหญ่ในระดับประเทศก็เช่นกัน การที่ศรีลังกาและปากีสถานมีรายจ่ายมากกว่ารายได้อย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่ามหาศาลเช่นที่กล่าวไป จึงนับเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้แสดงผลให้เห็นในปีนี้ 

สถานะการเงินของทั้ง 2 ประเทศถูกซ้ำเติมจากภาวะเงินเฟ้อ เกิดปัญหาการมีเงินสำรองฯ ไม่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าหลักที่มีราคาพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในศรีลังกา ที่ประสบกับการขาดแคลนสินค้าจำเป็นอย่าง พลังงาน ยารักษาโรค และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ อีกทั้งยังผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศราว 5.1 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้ได้นำศรีลังกาไปพบกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

  •   “กับดักขาดดุลการค้า” ของแถมจากโปรเจค “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21”   

ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ทำให้ศรีลังกาต้องประสบกับการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ ส่วนปากีสถานทางภาครัฐก็ต้องดำเนินการทางนโยบายที่เข้มงวดตามข้อบังคับของทางกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชนปากีสถานในภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้เป็นอย่างมาก 

แต่สงสัยกันหรือไม่ว่า เพราะเหตุใด ทั้งสองประเทศจึงต้องประสบกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่หนักหนาเช่นนี้? 

นอกจากข้อมูลที่ได้แสดงไปก่อนหน้า ยังคงมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ทั้งศรีลังกาและปากีสถานต่างเป็นประเทศในโครงการ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21”  (Belt and Road Initiative : BRI) โดยมีประเทศผู้นำอย่าง จีน ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทำให้ดำเนินธุรกรรมเช่น การค้า ได้อย่างสะดวก อันจะมีผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเทศที่อยู่ในโครงการนี้จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ และท่อส่งน้ำมัน โดยเส้นทางสายไหมฯ นับว่าเป็นโครงการที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด  

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีฐานะมากพอที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้โครงการนี้สะดุดลงไปได้ เพราะจีนได้อนุญาตให้ธนาคารในประเทศได้ปล่อยกู้กับประเทศ BRI 

นอกจากนี้ หากประเทศไม่มีผู้รับเหมาที่สามารถดำเนินงานโครงสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ งานดังกล่าวก็จะตกมาอยู่ที่มือของผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสัญชาติจีน ทั้งนี้วัตถุดิบหรือสินค้าทุนที่จะใช้สำหรับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจึงมักถูกนำเข้าจากจีน 

จากที่กล่าวไป เราที่อ่านอยู่ตรงนี้อาจจะเริ่มเห็นถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ หากจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ นั่นก็ถือเป็นการก่อหนี้เพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนก็จะจบลงเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ 

แม้ว่าทั้งศรีลังกาและปากีสถานจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างน่าพอใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยปี 2562 เศรษฐกิจศรีลังกามีมูลค่าราว 8.39 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่ 4.21 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.93% ต่อปี และในช่วงเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจปากีสถานก็มีขยายตัวถึง 1.53 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 9.08% ต่อปี 

ถึงกระนั้น ทั้ง 2 ประเทศก็ตกอยู่ในปัญหาที่แก้ไม่ขาด นั่นก็คือ “กับดักขาดดุลการค้า” (Trade Deficit Trap) ซึ่งการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่ามหาศาลของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้การชำระดอกเบี้ยหนี้ที่กู้ยืมมากต้องทำด้วยการตั้งงบประมาณขาดดุล ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังที่เรื้อรังตามมา และการตั้งงบประมาณขาดดุลดังกล่าวจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะ จึงกลายเป็นหนี้เพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เรียกได้ว่า เป็นการติด “กับดักหนี้” (Debt Trap) 

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยแล้วว่า โครงการ BRI เกี่ยวข้องกับการติดกับดักการค้าของทั้ง 2 ประเทศอย่างไร ซึ่งคำตอบสามารถแสดงได้ด้วยข้อมูลสถิติระหว่างปี 2556 ถึง 2564 พบว่า ศรีลังกาและปากีสถานขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้นราว 41% และ 164% ตามลำดับ 

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ Felix K. Chang ประธานอาวุโสสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ ที่ชี้ว่า การเปิดการค้าเสรีด้วยโครงการ BRI อาจไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในโครงการ เนื่องจากความได้เปรียบในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของจีน ทำให้สินค้ามีคุณภาพและราคาถูกกว่าการผลิตของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนำมาสู่การนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นจำนวนมากขึ้น 

ในทางกลับกัน การส่งออกอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยประเทศกำลังพัฒนาที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ หากเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าแร่ธรรมชาติ พลังงาน หรือกลุ่มเกษตรกรรม เช่น แองโกลา 

แม้ว่าทั้งศรีลังกาและปากีสถานจะประสบกับการขาดดุลทางการค้าอยู่ก่อนแล้ว แต่การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นในระยะหลังที่ถูกเรียกว่าเป็นการติดกับดักเช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลเชื่อมโยงจากโครงการ BRI ที่ประเทศจีนดูจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว จากการปล่อยกู้และขยายตลาดสินค้าของประเทศตนได้ 

-----------------------------------------

อ้างอิง

สุมาลี สุดานนท์ , Felix K. Chang , The World Bank , Trading Economics