จับตา! “ปากีสถาน” เอาตัวรอดอย่างไร เลี่ยงวิกฤติซ้ำรอยศรีลังกา

จับตา! “ปากีสถาน” เอาตัวรอดอย่างไร เลี่ยงวิกฤติซ้ำรอยศรีลังกา

“ปากีสถาน” อีกหนึ่งประเทศเสี่ยงเจอ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ตามรอยศรีลังกา หลังจากประสบกับมูลค่าสินค่านำเข้าพุ่ง ทำให้เงินเฟ้อทะยาน และเงินสำรองฯ หดตัวลง อย่างไรก็ตาม ทางการปากีสถานได้เปิดเผยว่า กำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์ในเส้นทางที่ถูกต้อง คาดไม่ซ้ำรอยศรีลังกา

ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นภาพข่าวของหลายประเทศที่กำลังเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ อาทิ ศรีลังกา ลาว และพม่า ซึ่งมีชนวนมาจากราคาสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ที่ถีบตัวขึ้นสูง เนื่องด้วยภาวะสงคราม อีกทั้งยังเจอความผันผวนของทิศทางกระแสเงินทุนระดับโลก  

สำหรับปี 2565 นี้ ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาทิ ภาวะเงินเฟ้อ การไหลออกของเงินทุน ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะเงินอ่อนค่าอย่างหนัก หรือการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ซึ่งหากประเทศใดมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสประสบกับภาวะวิกฤติมากขึ้นเท่านั้น

ล่าสุด สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า  “ปากีสถาน” คือ อีกหนึ่งประเทศที่เสี่ยงเจอวิกฤติหนี้ เพราะเจอสถานการณ์เงินสำรองหดตัว ทำให้ประสบปัญหากับการจ่ายค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น และอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ ไม่ต่างจากวิกฤติที่เกิดขึ้นในศรีลังกา 

  •   เงินเฟ้อพุ่งสูง ทำปากีสถานเสี่ยงเจอ “วิกฤติเศรษฐกิจ”  

ปากีสถาน คืออีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ผ่านการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่พุ่งขึ้นในปีนี้ แต่เศรษฐกิจปากีสถานนั้นมีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว เพราะมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงที่ 84% ในสิ้นปี 2564  อีกทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหลายปี และการไหลออกของเงินทุนสุทธิ จึงเป็นเหตุให้เงินสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ไม่พอต่อการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ 

แม้ในปี 2564 ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของปากีสถานจะลดลงราว 4% จากปีที่ผ่านมา แต่หากพิจารณาที่มูลค่าหนี้สาธารณะระดับ 84% ต่อจีดีพี ก็นับว่ายังอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับการขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2553 

นอกจากนี้ หากพิจารณา “ดุลบัญชีเดินสะพัด” และ “ดุลการค้า” ของปากีสถาน จะพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า นับตั้งแต่ปี 2519 ปากีสถานมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 3 ปี นอกนั้นเป็นการขาดดุลทั้งหมด และในห้วงเวลาเดียวกัน ปากีสถานมีการขาดดุลทางการค้าทุกปี โดยปี 2564 มีการขาดดุลกว่า 4.08 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

ถึงอย่างนั้น เมื่อต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ทางการปากีสถานได้ประกาศตัวเลขดุลการค้าของปีงบประมาณ 2565 (ก.ค. 64 - มิ.ย. 65) พบว่า มีการขาดดุลมูลค่า 4.87 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน และหากนับเฉพาะช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปากีสถานขาดดุลเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ราว 7,900 ล้านดอลลาร์ 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลมาจาก ในเดือนมิ.ย. ปากีสถานต้องเผชิญกับการนำเข้าสินค้าด้วยมูลค่าสูงสุดทุบสถิติตลอดกาลราว 1.58 ล้านล้านรูปีปากีสถาน หรือประมาณ 7,800 ล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ที่พุ่งขึ้นแตะ 21.3% จากระดับ 13.8% ในเดือนพ.ค. และไต่ระดับขึ้นมาอยู่ตรง 24.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งนับเป็นตัวเลขเงินเฟ้อสูงสุดของประวัติศาสตร์ปากีสถาน 

มูลค่าสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นตรงนี้เป็นผลมาจากราคาสินค้าพลังงานและโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ อย่างไรก็ตาม จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับเงินสำรองฯ ที่ปากีสถานมีนั้นอยู่ในระดับต่ำ โดยนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ระดับเงินสำรองฯ ของปากีสถานไม่เพียงพอต่อการสำรองมูลค่าสินค้านำเข้าตามเกณฑ์ระยะเวลา 6 เดือน และระดับเงินสำรองฯ ปากีสถาน ณ สิ้นปี 2564 เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าเพียง 3 เดือนเท่านั้น 

เมื่อต้องประสบกับราคาสินค้านำเข้าที่ดีดตัวสูงขึ้นในปีนี้ ประกอบกับการไหลออกของเงินทุนสุทธิราว 1,096 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จึงนับเป็นการซ้ำเติมสถานะทางการเงินของปากีสถาน โดยเงินสำรองฯ ปากีสถาน ณ วันที่ 29 ก.ค. อยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 2.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งมูลค่าเงินสำรองฯ ที่ลดลงราว 8,600 ล้านดอลลาร์ เป็นผลให้ปากีสถานเสี่ยงเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกับศรีลังกา

  •   แผนเอาตัวรอดของปากีสถาน เลี่ยงวิกฤติตามรอยศรีลังกา  

ระดับเงินสำรองฯ ที่ลดลงดังกล่าว ผลักให้ปากีสถานมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ หรือเผชิญกับวิกฤติหนี้ โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่มีมูลค่ากว่า 4 ใน 5 ของเงินสำรองฯ ทั้งหมด ซึ่งภาระหนี้มหาศาลตรงนี้ ส่งผลให้เงินสำรองฯ ที่มีสภาพคล่องอย่างแท้จริง หรือสามารถใช้จ่ายได้เหลือต่ำกว่าตัวเลขที่ได้กล่าวไปข้างต้น  

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ปากีสถานกำลังจะประสบกับปัญหาการมีเงินสำรองฯ ไม่พอต่อการจ่ายค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น และสุ่มเสี่ยงต่อการประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจตามหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง ศรีลังกา อย่างไรก็ตาม มิฟทาห์ อิสมาอิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปากีสถาน ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า  รัฐบาลปากีสถานกำลังแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญ 

เมื่อไม่นานมานี้ ทางปากีสถานได้อยู่ในขั้นตอนขอรับความช่วยเหลือทางการเงินกับทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนที่เป็นสภาพคล่องเข้ามาพยุงเศรษฐกิจปากีสถานไปอีกระยะ แต่ความช่วยเหลือของ IMF มักมาพร้อมแผนปฏิบัติที่เป็นข้อผูกมัด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของสถานะทางการเงิน สอดคล้องกับที่ทางรัฐมนตรีฯ ได้ให้ข้อมูลว่า 

รัฐบาลปากีสถานได้เลิกอุดหนุนราคาพลังงาน และลดการนำเข้าสินค้าบางรายการ พร้อมทั้งได้ขึ้นภาษีไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนับเป็นการรัดเข็มขัดทางการคลัง ช่วยให้รัฐมีรายได้และเงินสำรองฯ ที่มากขึ้น และลดแรงกดดันต่อเงินรูปีปากีสถานลงด้วย 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเช่นนี้จะซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชนในภาวะเงินเฟ้อ เพราะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากราคาพลังงานที่ต้องจ่ายแพงขึ้น อีกทั้งปริมาณการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ลดลง อาจทำให้สินค้าที่ลดการนำเข้ารายการดังกล่าวนั้นมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงต่อเนื่องขึ้นไปอีก  

ในทางตรงกันข้าม รัฐมนตรีฯ คาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อในปากีสถานจะลดระดับลง จากราคาข้าวสาลีและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง และประเมินว่า ในเดือนต.ค. รัฐจะสามารถรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ประกอบกับความเชื่อมั่นจากตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของปากีสถานสดใสขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

-------------------------------------------

อ้างอิง 

การเงินการธนาคาร , ธนาคารโลก , Currencies.Zone , Trading Economics , The Hindu , Pkrevenue.com