ย้อนรอยวิกฤติ “ศรีลังกา” กว่าจะมาถึงปากเหว

ย้อนรอยวิกฤติ “ศรีลังกา” กว่าจะมาถึงปากเหว

ชวนย้อนรอยความโกลาหลจากวิกฤติเศรษฐกิจใน "ศรีลังกา" ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. จนถึงการบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดี

หลายคนคงมีโอกาสได้เห็นภาพ ประชาชนจำนวนมหาศาลในศรีลังกาเข้าบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อขับไล่ โกตาพญา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาคนปัจจุบัน หลังพาประเทศเข้าสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 

แม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกาปะทุขึ้นจากภัยคุกคามเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงในทั่วโลก อีกทั้งยังต้องเจอกับทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน ที่คอยซ้ำเติมให้เงินรูปีศรีลังกาอ่อนค่าลง และทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอยู่ในระดับต่ำ แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้ศรีลังกาต้องเจอกับวิกฤติครั้งนี้ คือ การบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาล 

 

  •   ความผิดพลาดของรัฐบาล สู่ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ครั้งประวัติศาสตร์ศรีลังกา  

วิกฤติเศรษฐกิจที่ศรีลังกาต้องเจอเกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งในปี 2562 อาทิ การลดหย่อนภาษีจำนวนมาก และการห้ามนำเข้าสินค้า มีส่วนให้ศรีลังกาพบกับวิกฤติที่เลวร้ายเช่นนี้

นอกจากนั้น เศรษฐกิจศรีลังกา ยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวหดตัวลงเหลือเพียง 0.8% ต่อจีดีพี ขณะที่ก่อนวิกฤติโควิด อยู่ที่ 5% ต่อจีดีพี ส่งผลให้รายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศลดลง 

อย่างไรก็ตาม ศรีลังกา นับว่าเป็นประเทศที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและการเงินอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากการมีหนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศรวมอยู่ในระดับสูง เมื่อต้องประสบกับวิกฤติโควิด จึงส่งผลให้ระดับหนี้โดยรวมของประเทศพุ่งขึ้นไปอีก จากข้อมูลสถิติ ณ สิ้นปี 2563 พบว่า มีหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี เท่ากับ 101% และมีหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่สูงราว 60.85% 

  •   ย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์โกลาหล ก่อนประชาชนบุกยึดทำเนียบปธน.  

เมื่อล่วงเข้าปี 2565 โลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามเงินเฟ้อที่รุนแรงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภาวะสงคราม อีกทั้งยังต้องเจอกับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ของเงินทุน ซึ่งตรงนี้มีผลซ้ำเติมให้ศรีลังกาเจอกับการอ่อนค่าลงของเงินรูปีเป็นอย่างมาก และทำให้ระดับทุนสำรองฯ ลดลงไปด้วย

ระดับทุนสำรองฯ ที่อยู่ระดับต่ำ จึงทำให้ไม่สามารถจัดหาสินค้านำเข้าที่จำเป็นอย่างเพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศได้ เป็นเหตุให้เกิดการขาดแคลนอาหารและพลังงาน เร่งระดับเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไป  และสร้างความไม่พอใจต่อให้ผู้คนทั่วประเทศ 

สถานการณ์ข้างต้น นำไปสู่การรวมตัวประท้วงของประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมหาศาล  นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 65 ซึ่งรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยอ้างเพื่อรักษาความสงบภายใน อย่างไรก็ตาม กระแสความไม่พอใจของชาวศรีลังกายิ่งทวีความรุนแรงขึ้น มีการฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งสามารถไล่ลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้ 

1 เม.ย. 65

ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ท่ามกลางความไม่สงบจากประเด็นการขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น 

3 เม.ย. 65

คณะรัฐมนตรีและผู้ว่าธนาคารกลางศรีลังกายื่นจดหมายลาออก 

5 เม.ย. 65

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังลาออก หลังพึ่งถูกแต่งตั้งได้เพียง 1 วัน และรัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากในสภา 

10 เม.ย. 65

ขาดแคลนยารักษาโรค รวมถึงปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ  อาทิ ไฟฟ้า 

12 เม.ย. 65

ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

19 เม.ย. 65 

เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารผู้ประท้วงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการประท้วงเกิดขึ้นในเดือนมี.ค.  

9 พ.ค. 65

เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ประท้วง

10 พ.ค. 65 

กระทรวงกลาโหมศรีลังกาออกคำสั่งให้กองทัพสามารถยิงผู้ที่ก่อความไม่สงบ โดยอ้างเพื่อรักษาความปลอดภัย

10 มิ.ย. 65

UN เตือนศรีลังกาว่าอาจต้องเผชิญกับ วิกฤติแห่งมนุษยชาติขั้นรุนแรง ผู้คนหลายล้านต้องได้รับความช่วยเหลือ โดยมีรายงานว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดต้องบริโภคลดลง จากการขาดแคลนอาหารในประเทศ 

27 มิ.ย. 65

รัฐบาลประกาศหยุดขายน้ำมันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อสงวนไว้ใช้เฉพาะรถงานบริการที่จำเป็น อาทิ รถโรงพยาบาล รถโดยสารสาธารณะ และรถสำหรับงานฉุกเฉินอื่นๆ 

1 ก.ค. 65

สำนักงานสถิติแห่งชาติศรีลังการายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. พุ่งแตะระดับ 54.6% ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของศรีลังกา 

9 ก.ค. 65

โกตาพญา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกเปิดเผย ก่อนประชาชนศรีลังกาเข้ายึดบ้านพักที่ทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีลาออกในทันที  

ทางด้านโกตาพญา และรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้ให้คำมั่นสัญญากับรัฐสภาศรีลังกาไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะลงจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.ค. เพื่อที่จะสามารถส่งต่ออำนาจการบริหารอย่างราบรื่น 

ขณะเดียวกัน ผู้ประท้วงยืนยันว่าจะยึดทำเนียบจนกว่าประธานาธิบดีจะออกจากตำแหน่งไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า สถานการณ์ในศรีลังกาจะเป็นอย่างไรต่อไป 

--------------------------------------------

อ้างอิง

เดลินิวส์

บีบีซี ไทย

วีโอเอ

Avery Koop 

CEIC Data

Money Buffalo 

Soumya Bhowmick