จับตา 10 ปัจจัยสำคัญ อาจทำพิษ "เศรษฐกิจโลก" ปี 2022

จับตา 10 ปัจจัยสำคัญ อาจทำพิษ "เศรษฐกิจโลก" ปี 2022

"เศรษฐกิจโลก" ในปี 2022 ถูกคาดการณ์ว่ายังคงอยู่ในสภาวะการฟื้นตัว จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ 10 ปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่คาดการณ์ไว้

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวต่อจากปีที่ผ่านมา และถูกตั้งความหวังว่าในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกปี  โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตที่ 4.9%  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากช่วงวิกฤติ-19 ในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งการแก้ปัญหาของประเทศหนึ่งก็จะส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น ช่วงที่ประเทศในโลกกำลังดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูจึงอาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกได้  

นอกจากนี้ ความน่าจะเป็นที่ไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์และกลับมาสร้างความเสียหายได้อีก ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ทำให้หน่วยงานวิเคราะห์หลายแห่งได้ออกมาแสดงความเห็นกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ  Bloomberg Economics ที่ได้ทำการวิเคราะห์ 10 สถานการณ์ที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ ดังนี้ 

  1. โอมิครอนและการล็อกดาวน์ 

แม้โอมิครอนจะสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่แสดงอาการรุนแรงกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือมีระดับความอันตรายต่อชีวิตที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม หากเกิดไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่มีอัตราป่วยหนักและเสียชีวิตสูงขึ้น จะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

นอกจากนี้ มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้สกัดโควิดจะสร้างปัญหากับห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก ไม่ว่าจะการขาดแคลนแรงงาน และการปัญหาด้านการขนส่งในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์ เช่น การปิดเมืองท่าของประเทศจีน 

  1. ภัยคุกคามของเงินเฟ้อ

โอมิครอนที่อาจจะสร้างปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานในวันข้างหน้า เป็นหนึ่งในตัวแปรที่จะเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจากปี 2021 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้มีเพียงปัจจัยนี้ แต่ยังประกอบด้วย ค่าแรงที่อาจสูงขึ้นอีกในสหรัฐ ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากมีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ถ้าเราคาน้ำมันยังเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการล็อกดาวน์ ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงสู่ภาวะ “Stagflation” ขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ยากของธนาคารกลางในหลายประเทศ แม้อาจเป็นเพียง Shock ในระยะสั้นก็ตาม 

  1. การไต่ขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed rate) ในสหรัฐ 

มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น 3 ครั้งในปี 2022 นี้ ซึ่งจะขึ้นไปแตะที่ 2.5% ต่อปี 

ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะสร้างปัญหาให้กับตลาดของสหรัฐ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านราคาสินทรัพย์ได้มีการปรับขึ้นไปอยู่ในระดับสูงแล้ว โดยดัชนี S&P 500 นั้นเข้าใกล้การเกิดภาวะฟองสบู่ และราคาบ้านที่ดีดตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น สะท้อนความเสี่ยงที่รุนแรงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่หลังวิกฤติซับไพรม์ในปี 2007-2008  

 

  1. ผลกระทบจากการถอนมาตรการทางการเงินของ Fed ต่อประเทศ Emerging market 

การที่ Fed ถอนมาตรการทางการเงิน อาทิ QE จะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เงินทุนไหลกลับเข้ามายังสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ประเทศที่พึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะ Emerging Markets จนอาจถึงขั้นต้องเผชิญกับวิกฤติค่าเงิน 

บราซิล-อียิปต์-อาร์เจนติน่า-แอฟริกาใต้-ตุรกี หรือที่โดยรวมเรียกว่า BEASTs คือ 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเกิดวิกฤติ จากการถอนมาตรการทางการเงินของ Fed 

  1. การเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจถึงทางตัน 

ในปีที่ผ่านมา วิกฤติหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ การล็อกดาวน์ และการขาดแคลนพลังงาน ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง 0.8% จากระดับปกติที่ 6% 

ในปี 2022 แม้การขาดแคลนพลังงานจะบรรเทาลง แต่ปัญหาที่เหลือยังคงอยู่ เนื่องด้วยที่จีนดำเนินนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ จึงอาจมีผลให้เกิดการล็อกดาวน์อีกในปีนี้ เพื่อสกัดโอมิครอน หรือสายพันธุ์อื่นหากมีตามมา

นอกจากนี้ การถดถอยลงของอุปสงค์และข้อจำกัดทางการเงิน ทำให้ภาคการก่อสร้างที่เคยเป็น 25% ของจีดีพีอาจถูกบั่นทอนลง จึงมีคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 5.7% ซึ่งต่ำกว่าปกติเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ผ่านการขาดกำลังซื้อหลัก เป็นต้น 

  1. ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป

กลุ่มผู้ต่อต้านการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปอาจทำให้เกิดความระส่ำระสายต่อภาคเศรษฐกิจและการเงิน มีคาดการณ์ว่าอาจทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจไปกว่า 4% ในปี 2022 ซึ่งจะมีผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และรื้อฟื้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับมีอยู่ของ “สหภาพยุโรป”

  1. ผลกระทบจาก Brexit 

การเจรจาเรื่องพิธีสารไอร์แลนด์เหนือระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร โดยหากการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าหรือล้มเหลว ความไม่แน่นอนจากเรื่องดังกล่าวจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ การอ่อนค่าของเงินปอนด์ การเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และรายได้ที่แท้จริงด้อยค่าลง 

นอกจากนี้ หากต้องเผชิญกับสงครามการค้าเต็มรูปแบบ ภาษีศุลกากรของไอร์แลนด์จะสร้างปัญหามาก เพราะจะทำให้ระดับเงินเฟ้อนั้นเพิ่มสูงขึ้น

  1. อนาคตของนโยบายทางการคลัง 

แนวโน้มการใช้นโยบายการรัดเข็มขัดในหลายประเทศ จะมีผลให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศลดลง แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยังคงทุ่มเงินเพื่อฟื้นฟูประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และ จีน เป็นต้น 

  1. ราคาอาหาร และความไม่สงบ

ผลกระทบจากโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลักดันให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีกในปีหน้า 

ในประวัติศาสตร์ความหิวโหยมักจะนำมาซึ่งความไม่สงบ เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารอย่างไม่คาดคิดในปี 2011 ได้ก่อให้เกิดการประท้วงในหลายพื้นที่แถบตะวันออกกลาง อาทิ ซูดาน เยเมน และเลบานอน ซึ่งการลุกฮือของผู้คนมักไม่ได้สร้างเพียงผลกระทบต่อท้องที่หนึ่ง แต่ยังจะสร้างความเสี่ยงให้กับความมั่นคงในระดับภูมิภาค 

  1.  การเมืองภูมิรัฐศาสตร์-ท้องถิ่น 
  • ดินแดนจีน-ไต้หวัน อาจนำมาซึ่งการเผชิญหน้ากันของสองมหาอำนาจ โดยสิ่งที่อาจจะเกิดในลำดับถัดไป คือ การชะลอเรื่องการกระชับมิตรระหว่างจีนและสหรัฐ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศ 
  • ท่ามกลางความปั่นป่วนจากสถานการณ์ของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในบราซิล แม้ว่าจะมีกำหนดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่หลายอย่างอาจจะยังไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง 
  • ฝ่ายค้านในตุรกีกำลังผลักดันให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งเข้ามาในปีนี้ แทนที่จะเกิดขึ้นปี 2023 จากปัญหาการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของค่าเงินลีรา (Turkish Lira)

 

อ้างอิง 

Bloomberg Economics