แม่ฟ้าหลวงฯรุกธุรกิจที่ปรึกษาความยั่งยืน เดินหน้างานพัฒนา - คาร์บอนเครดิต

แม่ฟ้าหลวงฯรุกธุรกิจที่ปรึกษาความยั่งยืน เดินหน้างานพัฒนา - คาร์บอนเครดิต

“แม่ฟ้าหลวง” ปรับทิศธุรกิจจับมือเอกชนใช้องค์ความรู้เป็นที่ปรึกษาเพื่อสร้างความยั่งยืน เดินหน้าธุรกิจคาร์บอนเครดิต เน้นพัฒนาเชิงพื้นที่สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม “โครงการพัฒนาดอยตุง” สนับสนุนพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน

ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จากนี้ไปจะปรับองค์กรตัวไปทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้น

โดยปัจจุบันมูลนิธิอยู่ระหว่างการจัดทีมภายในองค์กรเพื่อเปิดพื้นที่ธุรกิจใหม่ในรูปแบบที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ยั่งยืนให้กับองค์กรธุรกิจและภาคเอกชนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ที่การสร้างความยั่งยืนถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยมีการกำหนดกติกาใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้มูลนิธิฯจะใช้ความแข็งแกร่งขององค์กรที่มีความรู้ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนที่มีมากว่า 30 ปี และองค์ความรู้ที่สั่งสม มาเป็นจุดนำทางทำธุรกิจที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น เช่น การจัดการขยะเพื่อลดจำนวนขยะที่จะไปสู่หลุมฝั่งกลับ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละองค์ให้ความสนใจมากขึ้น

ปัจจุบันแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมกับหลายโครงการสำคัญของประเทศ เช่น  การพัฒนาระบบการจัดการขยะทั้งหมดให้กับโครงการพื้นที่มักกะสัน และการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยมีภาคเอกชนหลายรายทำงานร่วมกับมูลนิธิฯในการเข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายจะปลูกป่าเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานที-เวอร์ ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่ดำเนินการได้แล้วประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าในโครงการพัฒนาดอยตุงด้วย

"ภาพใหญ่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงขณะนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยน ทั้งส่วนของฝ่ายบริหารที่มีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมา ทางด้านธุรกิจก็เน้นไปที่ความสอดคล้องของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นจุดแข็งที่มูลนิธิฯ สะสมองค์ความรู้ตรงนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปีซึ่งสามารถนำไปสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆได้ในทิศทางการพัฒนา โดยการหันมาจับมือกับภาคเอกชนในการทำงาน และหากเอกชนขยับตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ประเทศจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าทุกคนย่อมได้รับผลประโยชน์มากขึ้น และทำให้ประเทศเดินไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วย”ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

แม่ฟ้าหลวงฯรุกธุรกิจที่ปรึกษาความยั่งยืน เดินหน้างานพัฒนา - คาร์บอนเครดิต

สำหรับงานการพัฒนาปัจจุบันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงยังคงขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่หลายโครงการ โดยคงหลักการนำองค์ความรู้การพัฒนาในพื้นที่ตามแนวทางพระราชดำริ เข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมาย โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ระยะยาวซึ่งดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งเช่น โครงการพัฒนาดอยตุง จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยหลังจากการพัฒนาโครงการมาเป็นเวลากว่า 30 ปี คนในพื้นที่ได้รับการศึกษา มีความรู้พึ่งพาตนเองได้

พืชเศรษฐกิจที่โครงการเคยส่งเสริมให้ปลูก เช่น กาแฟ แมคาเดเมีย รวมทั้งการปลูกดอกไม้และผัก รวมทั้งคนชนเผ่าต่างๆ สามารถรวมตัวเป็นวิสาหกิจทำธุรกิจ กลางน้ำ ปลายน้ำได้เอง ดังนั้นสิ่งที่โครงการฯ สนับสนุนต่อเนื่องก็คือต้องเพิ่มการวิจัยและส่งเสริมพืชมูลค่าสูงทั้งเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง และให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชในพื้นที่  

แม่ฟ้าหลวงฯรุกธุรกิจที่ปรึกษาความยั่งยืน เดินหน้างานพัฒนา - คาร์บอนเครดิต

รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ของดอยตุงเองยังสามารถเพิ่มการเพาะปลูกพืชมูลค่าสูง รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งการทำค่ายเยาวชนที่ให้ความสนใจมาศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่ด้วย  

ทั้งนี้ในส่วนของการหาพืชมูลค่าสูงใหม่ๆ ขณะนี้โครงการพัฒนาดอยตุง มีโครงการศึกษาวิจัยพืชมูลค่าสูง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาพืชทางเลือกใหม่หรือแนวทางการทำการเกษตรแบบใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้ต่อพื้นที่ได้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่กลับมาประกอบอาชีพในพื้นที่ รวมถึงเพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับผู้สูงอายุ โดยมีพืชเป้าหมายการศึกษาวิจัยหลายชนิด เช่น วานิลลา โกโก้ บุก เห็ด สตรอว์เบอร์รี

สำหรับวานิลลา ซึ่งนำไปเพาะปลูกที่พื้นที่บริเวณดอยผาหมี ที่อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ดอยตุง ปัจจุบันมีการทดลองเสร็จสิ้นแล้วอยู่ระหว่างการถอดองค์ความรู้และถ่ายทอดให้กับชุมชน โดยมีพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดแล้วคือ DoiTung Vanilla Syrup มีวางจำหน่ายในคาเฟ่ดอยตุงและขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งต่อไปวนิลาจะเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดที่ชาวบ้านในพื้นที่สามารถนำไปเพาะปลูกเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน เนื่องจากเป็นพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีความต้องการของตลาดมาก ซึ่งดอยตุงได้มีการทดลองทำตลาดแล้วในปีที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดี

ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการเดิมได้พัฒนาและออกผลิตภัณฑ์มูลค่าที่สูงขึ้น และเจาะตลาดเฉพาะมากขึ้น เช่นกาแฟ DoiTung G series, W series และทยอยปล่อยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Super G, Furious G, Ultra G, Splashing G, Typica, Aloha, Riding the Rainbow และ C Punch

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า  สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มหัตถกรรมภายใต้แบรนด์ดอยตุง ก็มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มที่เป็นลูกค้าดอยตุงเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีการปรับดีไซน์ให้เข้าถึงคน Gen Z มากขึ้นเพราะคนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของดอยตุง

ขณะที่การออกสินค้าใหม่ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ หรือการทำ Collab Marketing เช่นเดียวกับที่ทำรองเท้าร่วมกับแบรนด์ Onitsuka Tiger ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเตรียมแผนทำกับแบรนด์และสินค้าอื่นๆ ด้วย