กลยุทธ์ของ‘นินเทนโด’ที่มากกว่า‘มาริโอ’

กลยุทธ์ของ‘นินเทนโด’ที่มากกว่า‘มาริโอ’

นึกถึงชื่อนินเทนโด (Nintendo) ภาพแรกที่จะปรากฏขึ้นคือภาพของมาริโอ (Mario) ช่างประปาที่เป็นตัวคาร์แรกเตอร์ชื่อดังของนินเทนโด แต่ในด้านกลยุทธ์แล้ว นินเทนโดเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจทั้งในด้านการเติบโต การปรับตัว นวัตกรรมและการเรียนรู้จากความล้มเหลว

นินเทนโด ก่อตั้งขึ้นในปี 2432 เริ่มจากการผลิตและขายไพ่แบบญี่ปุ่น จากนั้นก็ปรับตัวมาผลิตและขายของเล่น จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 2510 ถึงเริ่มขยายเข้าสู่เครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ หลายท่านอาจจะจำ “เกมกด หรือ Game and Watch” ที่ฮิตกันมากในไทยในช่วงปี 2523

จากนั้นนินเทนโดก็พัฒนาเครื่องเล่นเกมมาพร้อมกับการพัฒนาตัวคาร์แรกเตอร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากมาริโอแล้ว ก็ยังมี Link, Pikachu, Donkey Kong, Luigi, เจ้าหญิง Peach, Yoshi เป็นต้น ในช่วงแรกกลยุทธ์ที่นินเทนโดเลือกใช้จะเป็นการขายพ่วง ถ้าจะเล่นเกมที่มีตัวคาร์แรกเตอร์ของนินเทนโด ก็จะต้องซื้อและเล่นผ่านเครื่องเล่นเกมของนินเทนโด

 

นินเทนโดประสบความสำเร็จอย่างมากกับ Nintendo Wii ที่ออกมาในช่วงปลายปี 2549 และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเครื่องเล่นเกม ด้วยการใช้การเคลื่อนไหวของตัวรีโมตบังคับการเคลื่อนไหวของเกม

ยอดขายของ Wii ไม่ได้มาจากเด็กหรือวัยรุ่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากก็ตัดสินใจซื้อ Wii ด้วยเหตุผลว่าช่วยในการออกกำลังกาย เล่นง่าย และสามารถเล่นกับบุตรหลานได้ง่ายขึ้น 

ยอดขายของ Wii สามารถเอาชนะยักษ์ใหญ่ทั้ง Sony PlayStation 3 และ Microsoft Xbox 360 ที่อยู่ในยุคเดียวกันได้ 

บทเรียนสำคัญของนินเทนโด คือภายหลังความสำเร็จของ Wii ผลิตภัณฑ์ตัวต่อมากลับล้มเหลวอย่างผิดคาด Wii U ที่ออกมาในปี 2555 โดยเป็นรูปแบบของเครื่องเล่นที่เป็นคล้ายแท็บเล็ตและมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเครื่องเล่นแบบเดิม 

ความล้มเหลวของ Wii U มาจากการขาดเกมที่สามารถใช้คุณสมบัติของ Wii U ได้เต็มที่ และผู้บริโภคสับสนว่า Wii U เป็นเพียงอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ต่อขยายจาก Wii ส่งผลให้ผลประกอบการของนินเทนโดในช่วง 2555-2559 ขาดทุนและพอเสมอตัวอย่างฉิวเฉียด

เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์และปรับตัวให้เข้ากับการเติบโตของมือถือในปี 2559 นินเทนโดเริ่มแยกตัวคาแรกเตอร์ออกจากฮาร์ดแวร์ โดยร่วมกับพันธมิตรทยอยนำเกมและคาร์แรกเตอร์เข้าสู่โทรศัพท์มือถือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Pokemon Go และ Mario Cart

กลยุทธ์ของ‘นินเทนโด’ที่มากกว่า‘มาริโอ’

นินเทนโดพลิกฟื้นสถานการณ์อีกครั้งในปี 2560 ด้วย Switch ที่เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของนินเทนโด 

Switch เป็นเครื่องเล่นแบบไฮบริดที่สามารถพกพาและเล่นผ่านจอใหญ่ ลูกค้ามีความยืดหยุ่นที่ในการเล่นเกมมากขึ้น และกลายเป็นเครื่องเล่นของนินเทนโดที่มียอดขายรวดเร็วที่สุด และทำให้นินเทนโดพลิกกลับมามีกำไรอย่างสวยงามอีกครั้ง

ความสำเร็จของ Switch ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้วนินเทนโดก็ได้ปรับประมาณการกำไรของปีนี้ให้สูงขึ้นเนื่องจากยอดขายของ Switch ที่ยังดีอยู่ (คาดว่าจะขายได้ 15.5 ล้านเครื่องในปีนี้) และได้ประกาศเลื่อนการออกเครื่องเล่นใหม่ที่จะมาทดแทน Switch ออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะออกมาในสิ้นปีนี้เป็นอย่างเร็วสุดไตรมาสแรกของปี 2568

บทเรียนทางกลยุทธ์ที่ได้จากนินเทนโดมี 

1) การใช้ประโยชน์จากคาร์แรกเตอร์ ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ติดตลาดในการขายตัวเครื่องเล่น

2) ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อบริบทเปลี่ยนไป โดยแยกคาร์แรกเตอร์จากตัวเครื่องเล่นให้มาอยู่ในมือถือ

3) การใช้นวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สร้างสามารถประสบการณ์ที่แปลกใหม่และแตกต่างให้กับลูกค้า (Wii และ Switch) 

กลยุทธ์ของ‘นินเทนโด’ที่มากกว่า‘มาริโอ’

4) ความล้มเหลวของ Wii U ที่มาจากการขาดเกมที่รองรับและทำให้ผู้บริโภคสับสน และ

5) ความสามารถในการเรียนรู้และพลิกฟื้นตนเองจากการความล้มเหลว มาสู่ความสำเร็จในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน (จาก Wii U สู่ Switch)

ต้องคอยติดตามดูต่อไปว่าในสมรภูมิเกมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น นินเทนโดจะสามารถรักษาความแตกต่างและความเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมได้ต่อไปอย่างไร.