ทำไมจู่ๆ เทคโนโลยีญี่ปุ่นถึงล้าหลัง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ทำไมจู่ๆ เทคโนโลยีญี่ปุ่นถึงล้าหลัง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

หากมองย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษที่ 70 จนถึงช่วงปลายปี 2000 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นถือว่าเฟื่องฟูมาก ญี่ปุ่นส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ให้กับทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูมาก

ผมยังจำได้เลยว่าตอนเด็กๆ ผมเคยดูหนังของโรเบิรต์ เซเมคคิส (Robert Zemeckis) ที่มีชื่อว่า Back to The Future ในภาพยนตร์เรื่องนั้น ตัวเอกสองคนในเรื่องกำลังหารือกันว่า ตัวเอกรุ่นพ่อ : “สินค้าที่ผลิตที่ญี่ปุ่นนั้นดีจริงหรือเปล่า?” ตัวเอกรุ่นลูก : “สินค้าเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นดีมากเลยนะ แทบจะทุกที่ใช้สินค้าของญี่ปุ่นหมดเลย” 

ตอนที่ผมดูในสมัยนั้นทั้งๆ ที่ไม่มีสินค้าตัวไหนมาโฆษณาในเรื่อง ทางตัวเอกทั้งสองคนยังพูดถึงข้อดีของสินค้าเทคโนโลยีญี่ปุ่นได้ดีขนาดนี้ หรือช่วงที่ผมเรียนอยู่ช่วง ป.6 แม่ผมจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของโซนี่ รุ่นไวโอ (Vaio) ซึ่งสมัยนั้นมันดูล้ำสมัยมาก

เวลาผมมีโอกาสได้แตะเครื่องโน้ตบุ๊กนั้นจะกลัวทุกครั้ง เพราะกลัวว่าเราจะแตะอะไรผิดพลาดไหม เพราะมันดูล้ำสมัยมาก และเท่มากๆ 

แต่ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เทคโนโลยีของญี่ปุ่นของถดถอยลง เครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นอย่างยี่ห้อพานาโซนิค ชาร์ป ฮิตาชิ โตชิบา และมิตซูบิชิ ก็โดนตีตลาดโดยเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนและเกาหลี เช่น ซัมซุง แอลจี หรือจะเป็นเสี่ยวมี่ ไฮเออร์ หรือไฮเซนส์

หรือแม้กระทั่งโซนี่ ไวโอ ก็โดนตีตลาดโดยแบรนด์อย่างแอ๊ปเปิ้ล มีเพียงแค่สองตลาดเท่านั้นที่โซนี่ก็ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวคือ เครื่องเล่นวีดิโอเกมอย่างเพลย์สเตชันและกล้องถ่ายรูป เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่ไม่สามารถแข่งขันได้กับคนอื่นในทุกวันนี้

มันดูเป็นเรื่องที่น่าตกใจเหมือนกันนะครับ ที่จากเดิมที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตทั้งเครื่องเล่นซีดี Sony Walkman เกมบอยนินเทนโด หรือแม้กระทั่งรถไฟชินกันเซน จะสามารถล้าหลังประเทศอื่นๆ บนโลกได้ แต่สามตัวอย่างที่ผมยกตัวอย่างไปจะสังเกตได้ว่าทั้งสามอย่างเป็นฮาร์ดแวร์หมดเลย 

ประเทศญี่ปุ่นเน้นการผลิตฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนถ่ายไปผลิตซอฟต์แวร์มากขึ้น เหตุผลที่ญี่ปุ่นไม่เน้นการผลิตซอฟต์แวร์ ก็เพราะว่าเขามองว่า ซอฟต์แวร์เป็นชนชั้นต่ำกว่าฮาร์ดแวร์ครับ

คนที่ทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ญี่ปุ่น ไม่ได้รับการยกย่องเท่าคนที่ทำงานเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ เขามองว่า คนที่ทำงานซอฟต์แวร์จะทำงานเพียงแค่ไม่กี่ปีก่อนจะผันตัวเองไปเป็นผู้จัดการหรือไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ในประเทศญี่ปุ่นมีคำพูดที่เรียกว่า โมโนซูกูริ “Monozukuri” หรือคนที่ทำชิ้นงานออกมาจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่จับต้องไม่ได้

ทำไมจู่ๆ เทคโนโลยีญี่ปุ่นถึงล้าหลัง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ถ้าเราไปลองดูวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ยังคงส่งเสริมของที่ทำด้วยมืออยู่ตั้งแต่ พู่กัน ดาบ จนถึงกางเกงยีน ก็มองเห็นได้ชัดว่าทำไมถึงคนญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์มากกว่าซอฟต์แวร์

เรื่องที่สอง ที่ทำให้ญี่ปุ่นล้าหลังกว่าประเทศคู่แข่งในเรื่องของเทคโนโลยีคือ บริษัทญี่ปุ่นเลือกที่จะเอาท์ซอร์สงานซอฟต์แวร์ต่างๆ ไปให้บริษัทข้างนอก หรือบริษัทลูก แทนที่จะพัฒนาของตัวเองขึ้นมา เพราะบริษัทที่ญี่ปุ่นมองว่าการประหยัดต้นทุนในการทำงานนั้นสำคัญกว่าการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม 

บริษัทญี่ปุ่นมองว่าการลงทุนของบริษัทไม่ใช่อินโนเวชันใหม่ๆ แต่เป็นการลงทุนหรือเอาท์ซอร์สสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ด้วยความที่โดยพื้นฐานของคนญี่ปุ่นนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ไม่อยากลองเสี่ยงอะไรใหม่ๆ กว่าของที่มีอยู่เดิม ทำให้การผลิตสินค้าใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก

เรื่องที่สาม ที่ทำให้ญี่ปุ่นล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ คือ ไม่เพียงแต่บริษัทของญี่ปุ่นที่มองว่าซอฟต์แวร์นั้นมีความสำคัญน้อยกว่าฮาร์ดแวร์ แต่ยังรวมไปถึงในระดับมหาวิทยาลัยด้วย ในปี 2555 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยโตเกียว หรือโทได เปิดรับนักศึกษาใหม่ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เพียงแค่ 80 ที่นั่ง ในขณะที่สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเปิดรับถึง 150 ที่นั่ง

ทำไมจู่ๆ เทคโนโลยีญี่ปุ่นถึงล้าหลัง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ในปีเดียวกันมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐ เปิดรับนักศึกษาใหม่ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ถึง 250 ที่นั่ง ในขณะที่คณะวิศวกรรมไฟฟ้าเพียงแค่ 50 ที่นั่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าภายใน 4 ปีสหรัฐจะมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าญี่ปุ่นถึงประมาณ 4 เท่า

เหตุผลอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยคือ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยออกมาทำสตาร์ตอัปหรือทำธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากเป็นคนที่ค่อนข้างกลัวความเสี่ยงและความไม่แน่นอน อีกเหตุผลหนึ่งคือ ในบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแต่คนที่ใกล้เกษียณที่เป็นผู้บริหาร ซึ่งพอเป็นคนที่กลัวความเสี่ยงด้วย ก็ยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยากขึ้น

แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ดีเสมอไป ล่าสุด ในญี่ปุ่นมีบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัปที่มีชื่อว่าเมอร์คาริ (Mercari) ซึ่งเป็นแอปซื้อขายสินค้าทั้งมือหนึ่งและมือสอง ก่อตั้งเมื่อปี 2556 ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้นได้กลายมาเป็นบริษัทยูนิคอร์นแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น

ต่อมาในปี 2561 บริษัทนี้ก็ได้เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์นิคเคอิของญี่ปุ่น เพราะว่าเมอร์คาริเป็นบริษัทแรกที่เป็นทั้งยูนิคอร์นและบริษัทเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรมสตาร์ตอัปและเทคโนโลยีในญี่ปุ่นกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง 

เมอร์คาริเองก็นำเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ จากบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายมาใช้ด้วย เช่น การจ่ายเงินเดือนที่สูงยิ่งขึ้น การที่คุณสามารถซื้อหุ้นบริษัทได้ รวมไปถึงการทำงานในบริษัทที่มีความยืดหยุ่นและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น 

รัฐบาลญี่ปุ่นตอนนี้เข้าใจถึงปัญหาทางด้านนี้ จึงพยายามจัดการแข่งประกวดแผนธุรกิจต่างๆ ให้กับนักศึกษาญี่ปุ่น รวมไปถึงคนต่างชาติ ในการทำให้ญี่ปุ่นมีบริษัทเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนี้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งครับ.

ทำไมจู่ๆ เทคโนโลยีญี่ปุ่นถึงล้าหลัง | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

คอลัมน์ คุยให้... “คิด” 

ทิวัตถ์ ชุติภัทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

[email protected]