ส่องกลยุทธ์แกร่งค้าปลีกภูธรโตยาว ปรับตัวเร็ว คงเอกลักษณ์ เสริมเทคโนโลยี

ส่องกลยุทธ์แกร่งค้าปลีกภูธรโตยาว ปรับตัวเร็ว คงเอกลักษณ์ เสริมเทคโนโลยี

ภาคค้าปลีกในตลาดต่างจังหวัดยังโตแกร่ง แข่งขันได้ตามโลกการค้าที่เปลี่ยนเร็ว ชี้ปรับตัวเร็ว ใช้เทคโนโลยีสร้างจุดแข็ง คงเอกลักษณ์ความโดดเด่น ดึงลูกค้าใช้บริการยาว

ค้าปลีกภูธร เนเวอร์ดาย แต่จะปรับตัวอยู่ในรูปแบบใหม่ตามพลวัตตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกปี” บทสรุปสำคัญกูรูค้าปลีกที่มองว่า การค้ายุค Post Modern Trade ไม่ใช่! แค่ค้าปลีกแบบออฟไลน์และออนไลน์ หรือ Omni Channel แต่ต้องเป็นการค้าปลีก ที่ต้องฉีกกฎ!

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการด้านค้าปลีก และรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัดยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องใน 20-30 ปีข้างหน้า และมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจปลีกของไทย ขณะที่ห้างค้าปลีกรายใหญ่ มุ่งขยายการเติบโตในตลาดต่างประเทศแทน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภาคธุรกิจค้าปลีกที่เห็นอย่างชัดเจน คือ เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ช่องว่างการแข่งขันลดลง ซึ่งหากประเมินภาพรวมตลาดค้าปลีกไทย ปัจจุบันเป็นสัดส่วนของค้าปลีกสมัยใหม่ 32% ค้าปลีกภูธร 20% ที่เหลือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“เทคโนโลยีทำให้ช่องว่างทางการแข่งขันลดลง อยากให้ไปดูที่สหรัฐ ปัจจุบันแบรนด์ Amazon สามารถสร้างยอดขายเป็นอันดับ2 ของประเทศแล้ว จาก 5 ปีก่อนอยู่อันดับ 179 ส่วนวอลมาร์ตที่อยู่อันดับ 1 มายาวนาน มีข้อผิดพลาดที่ไม่ได้มองเทรนด์ที่เกิดขึ้นในตลาดโดยเฉพาะเทคโนโลยี”

ส่องกลยุทธ์แกร่งค้าปลีกภูธรโตยาว ปรับตัวเร็ว คงเอกลักษณ์ เสริมเทคโนโลยี

จุดเปลี่ยน หรือ Disruption ที่เกิดในภาคค้าปลีกส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเวลา 30-40 ปีต่อครั้ง สิ่งสำคัญต้องติดตาม “เทคโนโลยีสมัยใหม่” และการมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ จากช่องว่างการแข่งขันที่ปรับลดลงต่อเนื่องระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ในเมืองกับผู้ประกอบการในต่างจังหวัด ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามเทรนด์ใหม่ อย่างกระแส แพลนท์เบส หรือ โปรตีนจากพืชที่กำลังมาแรง รวมทั้งการยกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

“ตั้งแต่ปี 2560 การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในภูธร เป็นผู้นำการเติบโตของภาคการค้าปลีกไทย”

กวิศพงษ์ สิริธนนนท์สกุล ผู้บริหาร เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์หาดใหญ่ กล่าวว่า ได้เปิดให้บริการ เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ หาดใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2536 สามารถสร้างธุรกิจเติบโตท่ามกลางมีคู่แข่งมากขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบภายในให้มีมาตรฐาน การจัดทำระบบบัญชีที่ถูกต้อง 

“ที่สำคัญการมีความเข้าใจในธุรกิจของตัวเอง ทั้งจุดเด่นและจุดอ่อน เพื่อแสวงหาจุดเด่นสร้างการเติบโตในระยะต่อไป”

หากประเมินอนาคตธุรกิจค้าปลีกภูธรช่วง 10 ปีข้างหน้า...ความสำเร็จในอดีตไม่สามารถทำนายอนาคตได้  กลุ่มนายทุนใหญ่ก็ยังไม่ยอมแพ้และมองโอกาสขยายต่อเนื่อง ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันตลอดเวลาค้าปลีกภูธรยังคงอยู่ในตลาดได้ต่อไป แต่ต้องปรับรูปแบบและหน้าตาของธุรกิจอาจเปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าผู้ประกอบการพร้อมที่จะปรับตัวตลอดเวลา ยกตัวอย่าง ช่วงอดีต หากกรุงเทพฯ มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ตลาดต่างจังหวัดอาจต้องใช้เวลา 10 ปีจึงตามทัน แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

ส่องกลยุทธ์แกร่งค้าปลีกภูธรโตยาว ปรับตัวเร็ว คงเอกลักษณ์ เสริมเทคโนโลยี

มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ผู้บริหาร ตั้งงี่สุน จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ทุกธุรกิจไม่มีธุรกิจใดไม่มีคู่แข่ง แต่ธุรกิจที่สามารถอยู่รอดได้ยาวนานมาจากการปรับตัว เอาชนะตัวเองได้ และเข้าใจสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ดึงเทคโนโลยีมายกระดับ เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ พร้อมหาพันธมิตรช่วยขับเคลื่อน

“การแข่งขันในตลาดค้าปลีกรุนแรงขึ้น แต่ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ท่ามกลางตลาดที่เปลี่ยนไปมาจากความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ การใช้เทคโนโลยีร่วมเสริมจุดแข็ง และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ”

ล่าสุดผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง 52 ร้านค้าในตลาดต่างจังหวัด ร่วมกันจัดทำโครงการ “โลคอล โลคอสต์” (Local Low Cost) โดยมีพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตสินค้า ซัพพลายเออร์รายใหญ่ นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษให้ลูกค้าพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-10 ก.ย.นี้ นับเป็นโครงการที่แสดงพลังความร่วมมือของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยในต่างจังหวัด

ประกอบ ไชยสงคราม ผู้บริหาร ยงสงวนกรุ๊ป ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง อุบลราชธานี กล่าวว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัด มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของแต่ละแบรนด์ หัวใจสำคัญจึงต้องนำจุดเด่นสร้างการสื่อสารที่ดีไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนร่วมขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตมาทุกยุคสมัย อีกองค์ประกอบสำคัญ คือ ให้ความจริงใจต่อลูกค้า ทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ และอยากเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ซึ่ง ยงสงวนกรุ๊ป มีการเปิดเพจและ “ไลฟ์” จำหน่ายสินค้า มีพาร์ทเนอร์กลุ่มสินค้าต่างๆ สนับสนุนระหว่างไลฟ์ เป็นการขยายฐานลูกค้าและช่องทางใหม่

ทพ.วชิรวิชญ์ ศิริไชย ผู้บริหารจากศรีสมัยค้าส่ง ยะลา กล่าวว่า ธุรกิจมาร่วม 40 ปีจากจุดเริ่มต้นทำโชห่วยเพียง 1 ห้อง ที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตมากขึ้น และตลาดมีคู่แข่งเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ด้วยการประเมินศักยภาพธุรกิจของตัวเอง ประเมินคู่ค้า คู่แข่ง จึงได้ลงทุนเทคโนโลยี ปรับระบบหน้าร้าน-หลังร้านใหม่ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขยายตัวและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง

“การทำธุรกิจค้าปลีกมีข้อมูลมหาศาลมาก ต้องเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์สู่ Data เพื่อเข้าใจกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด และยังนำข้อมูลนี้ไปหารือร่วมกับซัพพลายเออร์ เพื่อสร้างการตลาดในพื้นที่ให้โดนใจ เมื่อเข้าใจลูกค้าจะนำสู่การพัฒนาธุรกิจเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต”

ส่องกลยุทธ์แกร่งค้าปลีกภูธรโตยาว ปรับตัวเร็ว คงเอกลักษณ์ เสริมเทคโนโลยี

จาตุรนต์ เหลืองสว่าง ผู้บริหาร สหแสงชัยซุปเปอร์สโตร์ พิจิตร เปิดมุมมองการเป็นทายาทที่การเข้ามาร่วมบริหารธุรกิจจะต้องประสานช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นต่างๆ ให้เดินหน้าไปได้ด้วยดี โดยนำระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ ตั้งแต่การวางระบบหน้าร้าน การบริหารยอดขายที่สามารถรู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้ปรับระบบสต็อกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างโอกาสการขายใหม่ๆ

“จุดแข็งของค้าปลีกต่างจังหวัดที่สร้างธุรกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง มาจากร้านค้าในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ ชูโรงช่วยดึงดูดลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการเสมอ หากผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลและความเป็นโลคอลไว้ด้วยกัน จะเป็นแม่เหล็กสำคัญของค้าปลีกต่างจังหวัด”

อีกปัจจัยที่โดดเด่นของค้าปลีกต่างจังหวัดเป็นเรื่องของ “ราคา” กระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

สุดชาย สิงห์มโน ผู้บริหารแสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ ระยอง ระบุว่า ได้นำเทคโนโลยีมาสร้างจุดแข็งให้แก่ธุรกิจค้าปลีกก้าวสู่ “รีเทลเทค” นับเป็นการวาง บิสสิเนส ทรานฟอร์ม ครั้งสำคัญ โดยปรับธุรกิจให้เข้าสู่ “รีเทลเทค ดิจิทัล ทรานฟอร์ม”  ซึ่งทำให้ Key success ที่ธุรกิจเคยทำไว้สามารถคงอยู่ต่อไป

สำหรับจุดเริ่มต้นที่นำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อน มาจากช่วงโควิดที่ลูกค้าไม่สามารถเข้ามาใช้บริการที่ร้านได้สะดวก จึงทดลองพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบง่ายๆ และลงทุนน้อย แต่ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าสูงมาก 

“แต่ระบบฐานข้อมูลมีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องวางระบบพัฒนาใหม่ให้รองรับฐานข้อมูลจำนวนมาก จึงได้พัฒนาระบบและสร้างช่องทางการขายผ่าน Line ดึง CRM มายกระดับประสบการณ์ใหม่ในการซื้อสินค้า จัดทำโปรโมชั่น พร้อมพัฒนาระบบสมาชิกได้สะสมแต้มเพื่อได้ point ปัจจุบันมีฐานลูกค้าสมาชิกผ่านออนไลน์กว่าหมื่นคน”

หากถอดรหัสค้าปลีกที่สามารถอยู่ได้รอดในตลาดอย่างยาวนาน 20-30 ปีนั้นมีทั้งวาไรตี้ของสินค้า ในร้านค้าจะมีสินค้าราว 10,000-20,000 เอสเคยู ราคาถูก คือ คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าประหยัด สะดวกในการเดินทาง และนำเสนอสิ่งที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ 

ธนะพงศ์ พุฒิพิริยะ ผู้บริหารธนพิริยะเชียงราย ทายาทที่เข้ามาร่วมบริหารธุรกิจและดึงเทคโนโลยีมาร่วมวางระบบบริหารจัดการตั้งแต่การเก็บข้อมูล (Data) จำนวนมหาศาลเพื่อนำมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ควบคู่การเตรียมความพร้อมบุคลากรให้สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเพิ่มคุณค่าให้องค์กรในระยะยาว ใช้เทคโนโลยีวางโซลูชันแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้า สร้างสรรค์บริการที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การมุ่งสร้างความสำเร็จของธุรกิจนนั้น ผู้ประกอบการต้องเข้าใจในโอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวด้วย เมื่อล้มเหลวแล้วจะต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นบทเรียนสร้างการเติบโตครั้งต่อไป ไม่สามารถทำธุรกิจแบบเดิมได้แล้ว