สืบสาแหรก ‘ตันตรานนท์’ ตระกูลดังเชียงใหม่ ยักษ์ ‘ค้าปลีกภูธร’
เปิดอาณาจักรทุนเก่าเชียงใหม่ ตระกูล “ตันตรานนท์” ครอง “Sub-Area License” เซเว่น-อีเลฟเว่น 3 จังหวัดภาคเหนือ ปรับพอร์ตฮึดสู้ยักษ์รีเทล-ร่วมทุนกลุ่มเซ็นทรัล ดัน “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ชิงตลาดบนเชียงใหม่ สร้างความได้เปรียบเหนือ “ดิสเคาต์สโตร์”
Key Points:
- “กลุ่มตันตราภัณฑ์” โดยตระกูล “ตันตรานนท์” เป็น “ทุนท้องถิ่น” ที่คลุกคลีในวงการค้าปลีก จ.เชียงใหม่ มายาวนาน เริ่มจาก “ง่วนชุน แซ่ตั้ง” ต้นตระกูลตันตรานนท์ ทำธุรกิจร้านขายของชำเล็กๆ จนเติบโตเป็นร้านโชห่วยขายของสารพัดอย่าง
- “ธวัช ตันตรานนท์” คือ ผู้ที่มีบทบาทในการก่อตั้ง “ห้างตันตราภัณฑ์” ผงาดสู่ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจ.เชียงใหม่ ต่อยอดสู่ห้างตันตราภัณฑ์สาขาอื่นๆ รวมถึง “แอร์พอร์ตพลาซ่า” ที่ปัจจุบันเป็นของ “กลุ่มเซ็นทรัล” รู้จักกันในชื่อ “เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต”
- ปัจจุบัน “กลุ่มตันตราภัณฑ์” มุ่งหน้าสู่ธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญ-รู้จักผู้บริโภคเป็นอย่างดี ได้แก่ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” “ตลาดช้างเผือก” และยังเป็น “Sub-Area License” บริหาร “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในสามจังหวัดภาคเหนือ มีรายได้ปีล่าสุดเฉียด “หมื่นล้านบาท”
ในยุคที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าเครือยักษ์รีเทลครอบคลุมทั่วประเทศ จังหวัด “หัวเมืองใหญ่” แต่ละภูมิภาคมักมีกลุ่มทุนเก่าแก่ทำตลาดในพื้นที่มายาวนาน อาทิ “ยงสงวน” จ.อุบลราชธานี, “ตั้งงี่สุน” จ.อุดรธานี, “พวงทอง” จ.ฉะเชิงเทรา, “ศรีสมัยค้าส่ง” จ.ยะลา, “ธนพิริยะ” จ.เชียงราย รวมถึง “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ของตระกูล “ตันตรานนท์” ค้าปลีกภูธรใน จ.เชียงใหม่ ที่มีอายุประกอบกิจการเกือบ 100 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 3 เจเนอเรชัน ทั้งยังมีการปรับตัวไปตามยุคสมัยและสภาพเศรษฐกิจอย่างแข็งขันมาโดยตลอด
ทว่า ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ตระกูล “ตันตรานนท์” เคยทำธุรกิจห้างสรรพสินค้ามาก่อนในชื่อ “ห้างตันตราภัณฑ์” ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจ.เชียงใหม่ กระทั่งปัจจุบัน “ห้างตันตราภัณฑ์” ปิดตัวลง ตระกูล “ตันตรานนท์” หันไปจับธุรกิจอื่นๆ ในสนามที่ตัวเองแข็งแรงจนอาจเรียกได้ว่า “ตันตรานนท์” เป็นหนึ่งในตระกูล “ยักษ์ค้าปลีก” แห่งลุ่มแม่น้ำปิงเลยก็ว่าได้ เพราะแม้จะไม่ได้ทำกิจการห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้าแล้ว แต่สาแหรกธุรกิจของ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ในปัจจุบันยังครอบคลุมทั้งดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดสด โดยมีรายได้รวมทุกเครือธุรกิจทะลุ “หมื่นล้านบาท” ต่อปี
- ตระกูลพ่อค้าที่โตจาก “โชห่วย” สู่ “ตันตราภัณฑ์” ห้างแห่งแรกในเชียงใหม่
จุดเริ่มต้นอาณาจักรค้าปลีกของตระกูล “ตันตรานนท์” เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2475 หรือราว 91 ปีที่แล้วจากการเปิดร้านขายของชำขนาดเล็กชื่อว่า “ตันฮั่วง้วน” ก่อตั้งโดยเถ้าแก่ “ง่วนชุน แซ่ตั้ง” ต้นตระกูล “ตันตรานนท์” เดิม “ง่วนชุน” เป็นคนเชื้อสายจีนที่อพยพมาตั้งรกรากยังจ.เชียงใหม่ กระทั่งตัดสินใจเปิดร้านโชห่วย-ขายของชำโดยมีลักษณะเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ขายของสารพัดอย่างที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ “ธวัช ตันตรานนท์” ระบุว่า ร้านตันฮั่วง้วนตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ ถนนสายเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ ด้านขวามือเป็นถนนท่าแพยาวไปยังตลาดวโรรส หรือ “กาดหลวง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าในจ.เชียงใหม่ ด้านซ้ายมือคือตลาดต้นลำไย ทำให้สองฝั่งของถนนเต็มไปด้วยร้านค้าเรื่อยมาจนถึงสถานกงสุลอเมริกา เรียกว่า เป็นที่ตั้ง “ทำเลทอง” ก็คงไม่ผิดนัก สินค้าภายในร้าน “ตันฮั่วง้วน” มีตั้งแต่น้ำปลา น้ำตาล เกลือ ขนมปัง โอวัลติน โกโก้ รวมถึงยังเป็นตัวแทนจำหน่ายบุหรี่ยี่ห้อ “BAT” ซึ่งได้รับความนิยมในขณะนั้นด้วย
-ร้าน “ตันฮั่วง้วน” ร้านค้าแห่งแรกของตระกูล “ตันตรานนท์”-
ในช่วงเวลาดังกล่าว ตระกูล “ตันตรานนท์” เริ่มมีชื่อเสียงและฐานะร่ำรวยกว่าชาวบ้านในละแวกเดียวกัน จากคำบอกเล่าของบุตรชายของ “ธวัช ตันตรานนท์” ระบุในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพผู้เป็นพ่อว่า สมัยนั้นผู้คนส่วนใหญ่ใช้จักรยานเป็นพาหนะ บ้านที่ใช้ “รถยนต์” มีเพียงไม่กี่แห่ง อาทิ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย หลวงอนุสารสุนทร คหบดีชาวเชียงใหม่ รวมถึง “ง่วนชุน” ผู้ก่อตั้งร้าน “ตันฮั่วง้วน” ด้วย
กระทั่ง “ง่วนชุน” เสียชีวิตลง ทายาทที่มารับช่วงต่อ คือ “ประเสริฐ ตันตรานนท์” ลูกชายคนโตจากทั้งหมด 12 คน ร่วมกับ “ธวัช ตันตรานนท์” น้องชายคนที่ 6 ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาต่อยอดร้านขายของชำสู่ห้างสรรพสินค้า “ตันตราภัณฑ์” จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจาก “ธวัช ตันตรานนท์” เข้ามาบริหารกิจการร่วมกับประเสริฐ เขาเริ่มคิดหาลู่ทางทำการค้ารูปแบบใหม่โดยตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณท่าแพซึ่งเป็นที่ดินของตระกูล “นิมมานเหมินทร์” ในราคา 24,000 บาท จากนั้นได้ลงทุนสร้างห้างใหม่ ใช้งบก่อสร้าง 350,000 บาท มีขนาดใหญ่โตโอ่โถงกว่าร้าน “ตันฮั่วง้วน” เป็นตึกคอนกรีตขนาด 3 ชั้น เน้นขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูป
“ธวัช” หมายมั่นปั้นมือในการสร้างห้างแห่งนี้อย่างมาก เขาทำการสำรวจคู่แข่งในตลาดขณะนั้น อาทิ ร้านกวงหลง ร้านกวงยูหลง ร้านแฟชั่นของชาว “จีนแคะ” บริเวณถนนวิชยานนท์ รวมถึงมีการบินไปดูงานที่กรุงเทพฯ เพื่อประกอบการทำการตลาดด้วย ทำให้ “ห้างตันตราภัณฑ์” เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจ.เชียงใหม่ที่ติดป้ายราคาไว้กับสินค้า และไม่มีการลดราคาจากป้ายแต่ประการใด หลังจากนั้น “ธวัช” คิดหาจุดขาย-สร้างความแตกต่างจากห้างร้านอื่นๆ ทำให้ในปี พ.ศ.2500 “ห้างตันตราภัณฑ์” กลายเป็นห้างแรกในเชียงใหม่ที่มีการติดตั้งบันไดเลื่อน ด้วยงบประมาณ 420,000 บาท
เขาบินไปต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งเพื่อสำรวจสินค้าที่น่าสนใจแล้วนำมาวางขายที่ห้างตันตราภัณฑ์ จากข้อมูลระบุว่า “เสื้อกันหนาว” เป็นสินค้าที่ขายดีมาก มีแคมเปญลดราคาปีละ 1 ครั้ง แม้กระทั่งลูกค้าจากกรุงเทพฯ ก็ยังเดินทางมาซื้อสื้อกันหนาวที่ห้างแห่งนี้จำนวนมาก เนื่องจากห้างในกรุงเทพฯ มีสินค้าเสื้อกันหนาวให้เลือกค่อนข้างน้อย และตอนนั้นยังไม่มีโรงงานผลิตเสื้อกันหนาวในประเทศไทย
- แตกหน่ออาณาจักรค้าปลีกต่อเนื่อง มีทั้ง “สำเร็จ” มีทั้ง “ล้มเหลว”
หลังจาก “ห้างตันตราภัณฑ์” เริ่มติดตลาดก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดต้นลำไยและตลาดวโรรส “ตันฮั่วง้วน” ร้านชำดั้งเดิมของตระกูลที่ตั้งอยู่บริเวณดังกล่าวก็พลอยได้รับความเสียหายไปด้วย คนในตระกูลจึงตัดสินใจยกที่ร้าน “ตันฮั่วง้วน” คืนให้กับทางตลาดวโรรส “ประสงค์ ตันตรานนท์” ที่เป็นคนดูแลกิจการ “ตันฮั่วง้วน” เป็นหลักจึงเลิกกิจการแล้วหันมาช่วยดูแลห้างตันตราภัณฑ์ร่วมกับ “ธวัช ตันตรานนท์” แทน ต่อมาจึงได้ขยาย “ห้างตันตราภัณฑ์” ออกไปอีกสาขา โดยใช้ชื่อว่า “ตันตราภัณฑ์นวรัฐ” ประกอบกิจการร้านขายส่งตั้งอยู่ที่ตลาดนวรัฐ
กิจการห้างสรรพสินค้าดูจะไปได้สวย สาขาแรกที่ “ท่าแพ” มีผลประกอบการที่ดีจนมีการขยายสาขาเพิ่มอีกแห่ง คือ “ห้างตันตราภัณฑ์ สาขาช้างเผือก” ในปี พ.ศ.2524 ต่อมาในปี พ.ศ.2530 ตระกูลตันตรานนท์ซื้อที่ดินด้านข้างห้างเพื่อเปิดเป็นร้าน “ซูเปอร์มาร์เก็ต” และทำที่จอดรถเพิ่มด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” สาขาแรก
-“ห้างตันตราภัณฑ์” ในยุคแรก-
แต่แล้วเส้นทางการขยายอาณาจักรค้าปลีกของ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ก็ถึงคราวสะดุดลง เมื่อปี พ.ศ.2530 ตระกูลตันตรานนท์เริ่มคิดขยายเซกเมนต์ธุรกิจไปยัง “ศูนย์การค้า” ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ “เครือเซ็นทรัล” กลุ่มค้าปลีกในกรุงเทพฯ ขยายตลาดมายังภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งก็รวมถึง “เชียงใหม่” จังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือตอนบนด้วย “กลุ่มตันตราภัณฑ์” จึงคิดการใหญ่-ขยายสเกลธุรกิจด้วยโปรเจกต์ห้างสรรพสินค้า หวังสู้ศึกค้ายักษ์ค้าปลีกในขณะนั้น “แอร์พอร์ตพลาซ่า” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมี “วรวัชร ตันตรานนท์” บุตรชายของ “ธวัช” นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร
ปี พ.ศ.2535 “กลุ่มเซ็นทรัล” ตัดริบบิ้นเปิดทำการ “ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว” เซ็นทรัลสาขาแรกในจ.เชียงใหม่ หลังจากนั้น “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดในสมรภูมิค้าปลีกที่ตนเองครอง “เบอร์ 1” มาตลอดหลายทศวรรษ “ห้างตันตราภัณฑ์ สาขาช้างเผือก” ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก “เซ็นทรัล กาดสวนแก้ว” ยอดขายสาขาดังกล่าวลดลงอย่างมาก รวมไปถึงปัจจัยเรื่องการจัดระบบการจราจรรอบคูเมือง จากเดิมที่ถนนเดินรถได้สองเลนกลายเป็นถนน “วันเวย์” ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งหายไป
สุดท้าย “ห้างตันตราภัณฑ์ สาขาช้างเผือก” ตัดสนใจปิดตัวและขายกิจการในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการปิดกิจการพร้อมกันทั้ง 2 สาขา ทั้งสาขาท่าแพ (สาขาแรก) และสาขาช้างเผือก นอกจากต้องสู้ศึกกับทุนต่างถิ่นแล้ว “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ยังต้องแบกรับต้นทุนถึงสองด้านพร้อมๆ กัน คือ ต้นทุนการดำเนินกิจการห้างตันตราภัณฑ์ และต้นทุนของการดำเนินกิจการ “แอร์พอร์ตพลาซ่า”
- โฟกัสจุดแข็ง ละทิ้งจุดอ่อน ตกผลึกความถนัดของตัวเอง
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะแม้จะเปลี่ยนเกม-ตัดลดต้นทุนด้วยการขายห้างตันตราภัณฑ์ทั้งสองสาขาไปแล้ว แต่ “แอร์พอร์ตพลาซ่า” ได้กลายเป็นภาระก้อนโตที่ไม่สามารถคืนทุน-สร้างกำไรให้กลุ่มตันตราภัณฑ์ได้ “วรวัชร ตันตรานนท์” ทายาทรุ่นที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์กับ “BrandAge” ไว้ว่า การลงทุนสร้าง “แอร์พอร์ตพลาซ่า” คือ จุดพลิกผันสำคัญของตันตรานนท์ ตนเคยคิดว่า ธุรกิจ “ห้างสรรพสินค้า” และ “ศูนย์การค้า” คือเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อลงมือทำจริงๆ แล้วกลับพบว่า มีรายละเอียดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ห้างสรรพสินค้า” คือธุรกิจ “ซื้อมาขายไป” ส่วน “ศูนย์การค้า” เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องลงทุนก่อนแล้วค่อยเก็บเกี่ยวทีหลัง ศูนย์การค้าเป็นการลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ค้าปลีกภูธรโดยกลุ่ม “ตันตรานนท์” ยังไม่มีสภาพคล่องมากขนาดนั้น เมื่อลงทุนไปเยอะแล้วไม่ได้กลับมาจึงเริ่มติดขัด ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนั้นทำให้ต้องตัดสินใจละทิ้งส่วนที่ไม่เชี่ยวชาญออกไปเพื่อเพิ่มเงินสดในมือให้ได้มากที่สุด จากนั้นจึงพิจารณาเซกเมนต์ที่ตนเองทำได้ดี เพื่อเดินหน้าชูจุดแข็งในตลาดค้าปลีกเชียงใหม่ต่อไปให้ได้
-ห้าง “เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต” ที่ตั้งเดิมของ “แอร์พอร์ตพลาซ่า”-
ปี พ.ศ.2539 “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ขายศูนย์การค้า “แอร์พอร์ตพลาซ่า” ให้กับกลุ่ม “เซ็นทรัลพัฒนา” และขายส่วนที่เป็นร้านค้าย่อยภายในศูนย์การค้าให้กับ “โรบินสัน” โดย “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ถือหุ้นด้วยสัดส่วนที่น้อยกว่า และเลือกที่จะเก็บ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ไว้ หากใครเคยไปเดิน “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ในจ.เชียงใหม่ก็จะพบว่า มีบรรยากาศที่แตกต่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าที่นำมาวางขายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้า-ไฮเอนด์ เจาะกลุ่มผู้บริโภคตลาดบน และกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในจ.เชียงใหม่ เรียกได้ว่า เป็นสินค้าที่ “หาซื้อที่ไหนไม่ได้” หากต้องการสินค้าแบบนี้ต้องมาที่ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” เท่านั้น
ปรากฏว่า “กลุ่มตันตราภัณฑ์” คิดถูก เพราะธุรกิจ “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” มีตัวเลขการเติบโตที่ดีสม่ำเสมอ ด้วยการวาง “Positioning” ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร ใช้ความเป็น “ทุนท้องถิ่น” เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก นอกจากนี้ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ยังใช้ “ข้อได้เปรียบ” ดังกล่าว เดินหน้าทำธุรกิจที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญในตลาดค้าปลีกท้องถิ่นเป็นอย่างดี คือ การถือ “Sub-Area License” ของ เซเว่น-อีเลฟเว่น ในสามจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ภายใต้การบริหารในนาม บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 จนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปถึงที่มาในการร่วมธุรกิจกับกลุ่มซีพีนั้น ในช่วงเวลาที่ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากยักษ์รีเทลทั้ง “ทุนเมืองกรุง” และ “ทุนข้ามชาติ” เข้ามาตีตลาดเชียงใหม่ “ซีพี ออลล์” ที่ได้สิทธิบริหารกิจการ “เซเว่น-อีเลฟเว่น ประเทศไทย” ต้องการขยายขอบเขต-รุกตลาดต่างจังหวัดไปด้วย
“ซีพี ออลล์” จึงใช้โมเดล “Sub-Area License” โดยมีกลุ่มทุนท้องถิ่นที่รู้จักผู้บริโภคในจังหวัดเป็นอย่างดีได้รับสิทธิบริหารภายในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับ จ.เชียงใหม่ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” คือผู้ถือสิทธินั้น รวมระยะเวลาการบริหารร้าน “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ในสามจังหวัดภาคเหนือมาเกือบ 35 ปีเต็มแล้ว โดยธุรกิจบริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้ “กลุ่มตันตรานนท์” สูงที่สุดด้วย
- พลิกดูตัวเลขธุรกิจในเครือ “ตันตรานนท์” รวมกันหลัก “หมื่นล้าน”
ปัจจุบัน “กลุ่มตันตราภัณฑ์” บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่ 3 นำโดย “วรวัชร ตันตรานนท์” และ “วรกร ตันตรานนท์” มีทายาทรุ่นที่ 3, 4 และเครือญาติในตระกูลร่วมบริหารด้วยอีกหลายคน โดยมีบริษัทในมือ ดังนี้
- บริษัท ชอยส์ มินิ สโตร์ จำกัด: บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” โดยกลุ่ม “ตันตราภัณฑ์” ได้รับสิทธิบริหาร “Sub-Area License” 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- บริษัท ซีอาร์ เชียงใหม่ (ประเทศไทย) จำกัด: ถือหุ้นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมี “วรวัชร ตันตรานนท์” นั่งกรรมการบริหาร โรบินสันเชียงใหม่
- บริษัท ตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาร์เก็ต (1994) จำกัด: ก่อตั้งและบริหารร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ในจ.เชียงใหม่ทั้งหมด 8 สาขา
- บริษัท ตันตราภัณฑ์ ฟู้ด จำกัด: ธุรกิจร้านอาหารในจ.เชียงใหม่ โดยเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์ร้าน “เขียง” ในจ.เชียงใหม่
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ตลาดช้างเผือก: ธุรกิจตลาดสด ให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์
เมื่อค้นดูข้อมูลในเว็บไซต์ “Creden Data” พบว่า ที่ผ่านมา “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ดำเนินธุรกิจและถือหุ้นประเภทธุรกิจอื่นๆ อีกมาก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ การศึกษา ความสวยความงาม-จำหน่ายเครื่องสำอาง รวมไปถึงธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย โดยมีทั้งที่ดำเนินกิจการอยู่และเสร็จการชำระบัญชีหรือ “ปิดกิจการ” ไปแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ “กลุ่มตันตราภัณฑ์” ถืออยู่ ณ ปัจจุบัน จึงเหลือไว้เพียงประเภทค้าปลีกตามที่เชี่ยวชาญและคลุกคลีในสมรภูมิแห่งนี้มายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น
อ้างอิง: BrandAge 1, BrandAge 2, Brand Buffet, Chiang Mai News, Creden Data, Data Warehouse, Positioning Magazine, Rimping, The People, หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายธวัช ตันตรานนท์ ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้า ตันตราภัณฑ์