จับตา ‘ไทยเบฟ’ ปลดล็อก 'เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์-อาหาร' หลังถอน OISHI จากตลท.
การประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 ไฟเขียวอนุมัติการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัท ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หรือถอนหุ้น OISHI ออกจากตลาดเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ไป คือการ “เขย่าโครงสร้างธุรกิจ” ในกลุ่ม “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ Non-Alcohol และ “อาหาร” จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
หากหยิบยกเหตุผล การถอนหุ้น OISHI ออกจากตลาด เกิดจากบริษัทแม่ อย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” ของมหาเศรษฐีอย่าง “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่เห็นว่า 1.การซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีไม่มากนัก จึงต้องการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ถือหุ้น 2.ลดภาระ “ค่าใช้จ่าย” ในการคงไว้ซึ่งการเป็นบริษัทจดทะเบียน ลดหน้าที่การทำงาน เช่น เปิดเผยข้อมูลต่อตลท. ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ฯ และ 3.บริษัทมีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และความคล่องตัวรองรับแผนงานในอนาคต
ทั้งนี้ ประเด็นที่ 3 มีความน่าสนใจ และต้องติดตาม เนื่องจากปัจจุบัน กลุ่มไทยเบฟ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน และประกอบธุรกิจของธุรกิจอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ภายในกลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจให้ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ มีแผน “ปรับโครงสร้างกิจการ” ที่อาจมีการซื้อ จำหน่าย หรือโอนทรัพย์สิน สิทธิต่างๆ “การควบรวมกิจการ” การโอนสิทธิตามสัญญาณทางการเงิน เปลี่ยนกลยุทธ์ รวมถึงนโยบายการบริหารงาน โอนย้ายพนักงาน การกู้ยืม-ให้กู้ยืมเงิน ระดมทุนรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจสุดพลัง
PASSION 2025 ของไทยเบฟ ไม่เพียงสร้างการเติบโตของรายได้ แต่ “กำไร” ต้องแกร่งและสร้างความยั่งยืนด้วย ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่บริษัทวางไว้มี 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Build สรรสร้างความสามารถและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ Strengthen เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจหลักเพื่อรั้ง “ผู้นำ” ของตลาด และ Unlock คือการนำศักยภาพของไทยเบฟที่มี มาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด
ปี 2565 ไทยเบฟ เขย่าโครงสร้างธุรกิจสำคัญ วาง 3 เสาหลัก “ซีอีโอ” นำทัพธุรกิจทั้งสุรา เบียร์ และ “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” ให้เติบโตในภูมิภาคอาเซียนด้วย
ตัวอย่างแบรนด์ในพอร์ตเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์
หากเจาะลึกภารกิจการปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มในกลุ่ม “เครื่องดื่มไม่มีแอลกออล์” จะเห็นว่า การถอนหุ้น OISHI เป็นเพียง “จิ๊กซอว์” หนึ่งเท่านั้น เพราะตามแผนงานปี 2566 บริษัทจะมีการปักหมุด “สร้างฐานทัพ” และมีการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มเติมด้วย จากปัจจุบัน มีอยู่ในไทย มาเลเซีย ฯ นอกจากนี้ “เอส” โคล่า ยังมีการปรับแผนครั้งใหญ่รอบ 10 ปี มุ่งสู่การเป็นโคล่าของอาเซียนด้วย สะท้อนการเดินเกมใหญ่ในภูมิภาค ย้ำการเป็นยักษ์เครื่องดื่มครบวงจรในเอเชียหรือ Total Beverage นั่นเอง
เจาะพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์-อาหาร
ไทยเบฟ เป็นบิ๊กคอร์ปของไทย และสร้างรายได้ปี 2565(ปีงบประมาณ ต.ค.64-ก.ย.65) มูลค่ากว่า 2.72 แสนล้านบาท แบ่งพอร์ตทำเงินจากกลุ่มเบียร์ 45% เหล้า 43% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6% และอาหาร 6% ส่วน “กำไรสุทธิ” มั่งคั่ง 3.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5%
“โออิชิ” ทำรายได้ปีก่อนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 1,100 ล้านบาท และเป็นเพียงพอร์ตหนึ่งของไทยเบฟ ที่มีสินค้าเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์มากมาย หลายแบรนด์ทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม นมถั่วเหลือง ชาพร้อมดื่ม น้ำผลไม้ เป็นต้น ส่วน “อาหาร” นอกจากมีร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้โออิชิ ยังมีร้านอาหารประเภทอื่นอีกจำนวนมาก
เช่น ร้านไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลก ร้านเบเกอรี ร้านอาหารจีน ร้านอาหารอาเซียน ร้านอาหารอิสาน ร้านอาหารตะวันตก ฯ จำนวนร้านในปี 2565 มีกว่า 730 สาขา จากแบรนด์ดัง เช่น KFC ชาบูชิ บายโออิชิ SO Asian เรด ล็อบสเตอร์ คาคาชิ โฮวยู โออิชิ บุฟเฟต์ หม่านฟู่หยวน ร้านเอ็มเอกซ์ เค้กแอนด์เบเกอรี่( mx cakes & bakery) รวมถึงร้านกาแฟระะดับโลก “สตาร์บัคส์” อยู่ในอาณาจักร เป็นต้น
'เบียร์' นำร่อง Unlock สร้างมูลค่าธุรกิจ
หนึ่งในการเขย่าโครงสร้างใหญ่ของไทยเบฟ เพื่อปลดล็อกศักยภาพ สร้างมูลค่าให้ธุรกิจมากขึ้น คือกลุ่ม “เบียร์” แสนล้านบาท คือการประกาศตั้ง “BeerCo” หรือเบียร์โค เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หรือ Spin-off Listing และเสนอขายหุ้น 20% ให้แก่สาธารณชน ซึ่งปี 2565 แผนดังกล่าวต้องเลื่อนออกไป หลังเผชิญสภาวะตลาดที่ท้าทายต่อเนื่องยาวนาน ทำให้บริษัทต้องติดตามภาวะตลาดใหม่ ประเมิน และสำรวจโอกาสต่อไป เพื่อ “เพิ่มมูลค่าสูงสุด” ให้แก่ผู้ถือหุ้น
นอกจากแผนที่ชัดเจนของ BeerCo ยังมีกระแสข่าวการเขย่าโครงสร้างธุรกิจ “สุรา” หรือเหล้า ที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าบริษัทจะนำหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ด้วย แต่ไทยเบฟ ได้ส่งหนังสือชี้แจงและ “ปฏิเสธ” ว่าไม่มีแผนงานดังกล่าวแต่อย่างใด ทว่าในมิติการขับเคลื่อนองค์กร บริษัทมีกลยุทธ์ในการศึกษาโอกาสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจอยู่แล้ว
ใครเป็นใคร บนสังเวียนเครื่องดื่ม
ไทยเบฟ เป็นยักษ์เครื่องดื่มครบวงจรของเอเชีย มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Market Cap) ใหญ่ไม่แพ้ใคร ทั้งจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ แม้กระทั่งแบรนด์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เหมาไถ, คิริน โฮลดิ้งส์, อาซาฮี กรุ๊ป และซานมิเกล เป็นต้น
ส่วนไทย การขับเคี่ยวแข่งขันในประเทศ กับบิ๊กเครื่องดื่มทั้งน้ำเมาหรือแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เต็มไปด้วยผู้เล่นท้องถิ่น(Local) และระดับโลก(Global) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ หรือค่ายสิงห์ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โคฯ โคคา-โคล่า เซ็ปเป้ คาราบาวกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจทีซีพี(TCP)หรือกระทิงแดง โอสถสภา เป็นต้น ซึ่งล้วนทุนหนา และมีสารพัดแบรนด์แกร่ง ที่แข่งกันในหลายหมวดสินค้า(แคทิกอรี)
- อ่าน ใครเป็นใครบนสังเวียนเครื่องดื่มเอเชีย
- อ่าน ไทยเบฟเขย่าโครงสร้างธุรกิจ พร้อมยึดตลาดอาเซียน
- อ่าน เมื่อไทยเบฟ เพิกถอนหุ้น OISHI ออกจากตลาดหุ้นไทย
ในการวัดวาขุมกำลังและความยิ่งใหญ่ของธุรกิจ แม่ทัพไทยเบฟเคยย้ำกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงมาร์เก็ตแคปของผู้ประกอบการ ควรจะเป็นธุรกิจที่อยู่บนกระดานเดียวกัน(หมวดหมู่อุตสาหกรรม) ดังนั้น หากจะเทียบฟอร์มน้ำเมา ก็วัดที่น้ำเมา เทียบฟอร์มอาหาร ต้องชนกับอาหาร เป็นต้น
เมื่อการถอน OISHI ออกจากตลาดหุ้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ สานภารกิจปลดล็อกศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการมั่งคั่งกว่าเดิม เพราะแต่ตลาดที่ “ไทยเบฟ” มีสินค้าเสิร์ฟผู้บริโภค ล้วนขนาดใหญ่มหาศาล เช่น
ส่วนแบ่งตลาดน้ำอัดลมรวมของบริษัท(ปี 2563)
-เครื่องดื่มเบียร์ในไทยเกือบ 2 แสนล้านบาท
-เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กว่า 2.5 แสนล้านบาท จากสินค้ากว่า 1,000 แบรนด์(ที่มา : สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย หรือ TBA)
-ธุรกิจร้านอาหารราว 4 แสนล้านบาท
-ธุรกิจอาหารแช่แข็งพร้อมทาน(โออิชิมีสินค้าทำตลาด) มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท
เป็นต้น