เปิดเหตุผล ‘ไทยเบฟ’ ถอน ‘OISHI’ ออกจากตลาดหุ้นไทย

เปิดเหตุผล ‘ไทยเบฟ’  ถอน ‘OISHI’ ออกจากตลาดหุ้นไทย

ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มเอเชียอย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีความเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อยื่นประกาศขอเพิกถอนหุ้น “OISHI” หรือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) โดยทำคำเสนอซื้อหุ้นที่ 59 บาทต่อหุ้น

Key Points: 

  • ไทยเบฟเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้น OISHI ในราคา 59 บาทต่อหุ้น เพื่อเดินหน้าเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 
  • เล็งรื้อโครงสร้างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จากปี 65 เขย่าใหญ่ วาง 3 กลุ่มสินค้า เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกออฮอล์หัวหอกบุกตลาด
  • รู้จัก "โออิชิ" จากผู้ก่อตั้ง "ตัน ภาสกรนที" สู่การขายกิจการให้ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี"
  • ชาเขียวพร้อมดื่มไม่ได้เติบโตร้อนแรงตลอด แต่วัฏจักรขาลง ฉุดตลาด "ติดลบ" หลายปี

รื้อโครงสร้างสร้างธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์-ลดภาระต้นทุน

3 เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเพิกถอนหุ้น OISHI ประกอบด้วย 1.การซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมีไม่มากนัก ไทยเบฟจึงเห็นว่าการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของ บริษัทในครั้งนี้ จะเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทสามารถขายหุ้นของบริษัทได้

2.บริษัทมีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มอาหาร และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(Non-Alcohol) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และความคล่องตัวรองรับแผนงานในอนาคต

3.ลดภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย

ปัจจุบัน ไทยเบฟ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน OISHI จำนวนทั้งสิ้น 298,720,398 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 79.66% ส่วนหุ้นที่เหลือจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% บริษัทจะมีการทำคำเสนอซื้อหุ้นนอกตลาดจากนักลงทุน เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจากตลาดหุ้นต่อไป

โดยราคาเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้อยู่ที่ราคา 59.00 บาทต่อหุ้น

ด้านผลประกอบการ ปี 2565 โออิชิ กรุ๊ป มีรายได้จากการขายและบริการ 12,696 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,199 ล้านบาท ทั้ง 2 ส่วนเติบโตจากปี 2564 ที่เผชิญผลกระทบจากโรคโควิดระบาด ขณะที่สัดส่วนรายได้ “เครื่องดื่ม” ทำเงิน 57.4% และอาหาร 42.6%

โออิชิ ทำ "กำไร" แค่ 3.5% ให้ไทยเบฟ

“โออิชิ กรุ๊ป” ที่มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอ แต่การทำเงินต่อปีกว่า “หมื่นล้านบาท” หากเทียบรายได้รวมของไทยเบฟ ซึ่งปี 2565 ยอดขายอู้ฟู่ 272,359 ล้านบาท เติบโต 13.2% และมี“กำไร" มั่งคั่ง 34,505 ล้านบาท เติบโต 26.2%

ภาพดังกล่าวทำให้เห็นว่า “โออิชิ” ยัง “เล็ก” รายได้ไม่ถึง 10% ของภาพรวมไทยเบฟ ยิ่งดู “กำไร” ความสามารถทำเงิน “ต่ำ” สัดส่วน 3.5% เท่านั้น และบางปีธุรกิจบางหมวด เช่น อาหารเผชิญขาดทุน ฉุดภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทแม่ด้วย

ส่วนเส้นทางธุรกิจ “โออิชิ” มีการขยายลงทุนไม่มาก เครื่องดื่มชาเขียวเคยลงทุนใหญ่กว่า 2,000 ล้านบาท เมื่อปี 2560 ส่วนธุรกิจอาหารลงทุนหลัก “ร้อยล้านบาท” ต่อปี เพื่อเปิดสาขา เป็นต้น

เมื่อภาพรวมบริษัทมี “ภาระต้นทุน” โดยเฉพาะการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ค่าใช้จ่ายหลายประการ "การดีลีท" หรือถอนหุ้น OISHI ออกจึงช่วยตอบโจทย์การ “ลดต้นทุน” ของบริษัทแม่

อีกมิติที่ต้องติดตาม คือ การปรับโครงสร้างธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในอนาคต หากมองตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม “น่าสนใจ” น้อยลง บริษัทแม่อาจไม่โฟกัสมากนัก จึงผนวกรวมไปอยู่ในกลุ่มหนึ่งได้ เพราะต้องยอมรับว่าหาก OISHI ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะลงทุนขยายกิจการ การระดมทุน ออกหุ้นกู้ต่างๆ ทำได้คล่อง นั่นเป็นหนึ่งในข้อดี 

สำหรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ กลุ่มไทยเบฟ ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยปลายปี 2565 บริษัทวาง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องยนต์สำคัญ พร้อมตั้งแม่ทัพทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ ผลักดันการเติบโตในภูมิภาค ประกอบด้วย 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์สุราหรือเหล้า 2.เบียร์ และ3.เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (นอนแอลกอฮอล์) พร้อมกำหนด 5 กลุ่มฟังก์ชัน เช่น ด้านการวางแผนกลยุทธ์และความยั่งยืน การสร้างแบรนด์ ค้าขายหรือคอมเมอร์เชียล เทคโนโลยี ดิจิทัล และด้านทุนมนุษย์เป็นต้น

ย้อนรอย “ตัน” ปั้น “โออิชิ” ขายกิจการให้ “เสี่ยเจริญ”

“โออิชิ” ถือกำเนิดขึ้นปี 2542 จากการลุยธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น และมี “ตัน ภาสกรนที” เป็นผู้ปลุกปั้นกิจการ จากนั้นแตกไลน์แบรนด์ ขยายพอร์ตโฟลิโอร้านอาหารมากมายตามมา

เมื่ออาหารต้องคู่กับเครื่องดื่มเป็น Combination กัน ปี 2546 จึงต่อยอดธุรกิจสู่เครื่องดื่มชาเขียวภายใต้แบรนด์ “โออิชิ กรีนที” ซึ่งสร้างการเติบโตถล่มทลาย แซงหน้าผู้เล่นรายแรกๆ ที่บุกเบิกตลาดชาเขียวพร้อมดื่มอย่าง “ยูนิฟ กรีนที” จากกลุ่มทุนไต้หวัน ซึ่งสร้างโฆษณาพร้อม “หนอนชาเขียว ชิเมโจได๋” จนโด่งดัง แต่ยอดขายสินค้ากลับชนะผู้มาทีหลังไม่ได้

การเคลื่อนไหวสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อปี 2547 ได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแปลงสู่ "มหาชน"

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่เติบโตร้อนแรงของชาเขียวพร้อมดื่ม การทำตลาดที่ออกอาวุธไม่ยั้ง ทำให้ “โออิชิ” ยืนหนึ่งอย่างแข็งแกร่ง ทว่า เวลาผ่านไประยะหนึ่ง “ตัน” เคยมองว่าตลาดจะไม่เติบโต และเข้าสู่ขาลง จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ด้วยการ “ขายกิจการ” ให้กับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” และเข้ามาถือหุ้นใหญ่ภายในปี 2551

ระยะแรกของการเปลี่ยนถ่าย “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ตัน ยังคงทำหน้าที่เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนธุรกิจให้สักสะระยะ แต่ที่สุดก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและ “ทีมงานผู้บริหาร” ซึ่งที่สุดแล้ว “ตัน” ก็หมดหน้าที่ในองค์กรลง

วัฏจักรชาเขียวพร้อมดื่ม “โต-ขาลง”

ยุคบูมของตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ย้อนไปช่วงที่ผู้เล่นบิ๊กเนมทำตลาด ทั้ง ยูนิฟ กรีนที โออชิ กรีนที ฯ ถือเป็นการบุกเบิกหมวดหมู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคชาวไทย

เมื่อทุกตลาดมีวัฏจักร ทำให้ผู้ประกอบการต้องคาดการณ์อนาคต ซึ่ง “ตัน” มองจังหวะ “ขาลง” ทำให้ขายกิจการ และออกจากการเป็นผู้บริหาร

ทว่า หลังจากนั้นเพียงไม่นาน “ตัน” หวนคืนสู่สังเวียนชาเขียวพร้อมดื่มอีกครั้ง เมื่อคาดการณ์ผิด! และยังเห็นว่า “โอกาส” ในการเกาะเกี่ยวขุมทรัพย์มีอยู่มาก ดังนั้น วันที่ 3 กันยายน 2553 จึงก่อตั้งบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด เพื่อผลิตชาเขียวพร้อมดื่มยี่ห้อ “อิชิตัน” เข้าทำตลาด และปี 2556 นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขยายกิจการให้เติบโต

ระยะเวลากว่า 12 ปี “ตัน” สามารถสร้างความมั่งคั่งจากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ระดับ “พันล้านบาท” โดยปี 2565 ปิดรายได้จากการขาย 6,340.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.3% กำไรสุทธิ 641.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% จากปีก่อน

 อย่างไรก็ตาม วัฏจักรตลาดชาเขียวพร้อมดื่มแม้จะมีช่วงเติบโต แต่หลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการเผชิญภาวะตลาด "ติดลบ" เช่นกัน

สำหรับ “โออิชิ กรีนที” ยังคงเป็นเบอร์ 1 ในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมูลค่ากว่า "หมื่นล้านบาท" ซึ่งการขับเคี่ยวที่เข้มข้น ก็มีเพียงกับ “อิชิตัน” เท่านั้น เพราะทำโปรโมชั่น จนถูกนิยาม "หวยชาเขียว" ชิงส่วนแบ่งตลาด นักดื่ม ส่วนแบรนด์อื่น แม้จะเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค แต่ดูเหมือนเป็นเพียงไม้ประดับ