"DITTO" ตอบโจทย์องค์กร เปลี่ยน ‘กระดาษ’ สู่ ‘ดิจิทัล’

"DITTO" ตอบโจทย์องค์กร เปลี่ยน ‘กระดาษ’ สู่ ‘ดิจิทัล’

DITTO พลิกธุรกิจด้วยแนวคิดประหยัดการใช้กระดาษ ลดการใช้งานเอกสารรูปแบบกระดาษ เพื่อใช้ทรัพยากรกระดาษให้น้อยที่สุด หรือ “Paperless Solution” ทุกองค์กรสู่เป้าหมายเดียวกัน เป็น “แรงกระตุ้น” ชั้นดีที่ทำให้แนวปฏิบัติดังกล่าวเกิดได้รวดเร็วขึ้น !

และหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้ามาช่วย “ตอบโจทย์” ในการเปลี่ยนโมเดลองค์กรจาก “กระดาษ” สู่ “เอกสารดิจิทัล” คงต้องยกให้ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ที่ปัจจุบัน “ธุรกิจการให้บริการจัดเก็บจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์”(Document Digitization) กำลังเป็น “ดาวเด่น” สร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างโดดเด่นในยุคดิจิทัลครองโลก

       “ฐกร รัตนกมลพร”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่าพลันที ! รัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็น “โอกาส” ในการเร่งขยายธุรกิจการบริหารจัดการเอกสารแบบครบวงจร ในกลุ่ม Soft Tech ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลัก คาดว่าเมื่อพ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศใช้ จะทำให้กลุ่มดังกล่าวมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประเมินมูลค่าตลาดหน่วยงานราชการระดับ“หมื่นล้านบาท”

                โดยคาดว่าตลาดจะเติบโตได้รวดเร็ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดรูปการทำงานในรูปแบบ Work From Home โดยผลที่ตามมา! คือ สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงความเคยชินในการใช้เอกสารกระดาษเข้าสู่เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็วแล้ว

                “เปลี่ยนห้องเก็บเอกสารกระดาษเป็นห้องเก็บเอกสารดิจิทัล” ซึ่งโมเดลธุรกิจดังกล่าวเชื่อว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าจาก “อนาล็อก” (Analog) กลายเป็น “ดิจิทัล” (Digital) ชนะยุคโควิด-19 !เนื่องจากระบบออนไลน์ ลดพื้นที่ ลดเวลาค้นหา ลดพลังงาน และลดพื้นที่ในการจัดเก็บ...

                สะท้อนผ่านหลายหน่วยงานพยายามลงทุนเรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น “ศาล” การเปลี่ยนการยื่นฟ้องคดีเป็นระบบยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน (e-Filing) ทำให้กระบวนการภายในศาลลดการใช้กระดาษ นำไปสู่กระบวนการในการจัดเก็บสำนวนคดีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ ในอนาคตถัดมา กระดาษจะมีการใช้น้อยลง เพราะต้นทางเป็นดิจิทัล

 

 

 

          “กรมที่ดิน” ซึ่งมีที่ดินทั่วประเทศราว 45 ล้านแปลง และ น.ส.3 ก จำนวน 5 ล้านแปลง หลังจากปีก่อนบริษัทชนะการประมูลเฟสแรก ในการนำหลังโฉนดที่ดินเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3 ล้านแปลง (เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา สิงห์บุรี และเพชรบุรี)ซึ่งตั้งเป้าในปี 2566 ขยายไปยัง จ.อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่ สงขลา และในปี 2567 จ.ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

         ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทจะเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ปัจจุบันมีกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ในการจัดเก็บระบบข้อมูลลูกค้าใบจำนำข้าว

       ท้ายสุด “ฐกร” บอกไว้ว่า ล่าสุดเราได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์สำนักงานอัจฉริยะซึ่งเป็นโซลูชันใหม่ออกสู่ตลาดแล้ว ขณะนี้มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจเข้ามา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปีนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์