“พลังงาน” ชงกู้เพิ่มหมื่นล้าน รับมือวิกฤติตรึงราคาน้ำมัน

“พลังงาน” ชงกู้เพิ่มหมื่นล้าน รับมือวิกฤติตรึงราคาน้ำมัน

“พลังงาน” เล็งชง ครม.กู้เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน “กุลิศ” ชี้น้ำมันเกิน 100 ดอลลาร์ กระทบทั่วโลก 

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์วานนี้ (2 มี.ค.) ทะลุ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557 ไม่กี่ชั่วโมงให้หลังน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอก็เป็นแบบเดียวกันทะลุระดับสูงสุดเหมือนเมื่อปี 2556

การซื้อขายช่วงบ่ายในตลาดเอเชีย ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทำราคาไปถึง 113.02 ดอลลาร์ ส่วนดับเบิลยูทีไอสูงสุดที่ 111.50 ดอลลาร์ จากความกังวลว่ามาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลกส่งออกน้ำมันไม่ได้

ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกเกิดขึ้นในช่วงที่น้ำมันแพงไปเรียบร้อยแล้วเนื่องจากอุปทานตึงตัว และความต้องการทั่วโลกฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งผลจากการเปิดประเทศอีกครั้งหลังถูกล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19

นักค้ายังคงจับตาการประชุมโอเปคและพันธมิตรรวมถึงรัสเซียอย่างใกล้ชิดว่าจะเพิ่มผลผลิตเพื่อกดราคาน้ำมันลงมาหรือไม่ ยิ่งน้ำมันราคาสูงก็ยิ่งโหมกระพือเงินเฟ้อ

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นประเด็นที่รัฐบาลจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลราคาดีเซลขายปลีกในประเทศไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท หลังจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 และทำให้ดีเซลลดลงทันที 2 บาท ในขณะที่ราคาดีเซลปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 29.74 บาท

“พลังงาน” เล็งกู้เพิ่มหมื่นล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน และสร้างความกังวลให้นานาชาติ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานความคืบหน้าการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท โดยมีธนาคารสนใจและยื่นข้อเสนอหลายราย และคาดว่าจะได้เงินในเดือน เม.ย.2565

กระทรวงพลังงานใช้มาตรการที่มีต่อเนื่องและยังเตรียมมาตรการเพิ่มเติม แม้ราคาน้ำมันดิบจะสูงถึงบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ แล้ว และกระทบวงกว้างทั่วโลก แต่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการเต็มที่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด” นายกุลิศ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในเดือน มี.ค.นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินกู้ก้อนที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ ต่อจากเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เพราะการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 3 บาท ไม่ได้เข้ากองทุนฯ ทั้งหมด และกองทุนน้ำมันฯ ยังมีภาระอุดหนุนดีเซลลิตรละ 3.79 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบยังสูงขึ้นทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องประคองสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบประชาชน

“การกู้เงินทั้ง 2 ก้อน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะช่วยดูความสามารถในการชำระเงินกู้คืน และความเป็นไปได้ต่างๆ อีกทั้ง กระทรวงฯ ยังมีแผนช่วยกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งการจะนำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาช่วยคงเป็นไปไม่ได้จึงต้องหาแหล่งเงินเพิ่ม หรือจะต้องปรับส่วนผสมน้ำมันที่มีต้นทุนออก" 

กกร.หวั่นวิกฤติลากยาว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ประเมินความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด เพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจาก 2 ประเทศมีแนวโน้มเผชิญหน้ากันมากขึ้น

ส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวสู่ระดับบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ ครั้งแรกในรอบ 8 ปี ซึ่งจะอยู่ระดับนี้ 20-30 วัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมถึงส่งผลให้มีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ และเป็นปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน อาจทำให้การเศรษฐกิจโลกชะลอได้

“แม้รัฐบาลจะมีเครื่องมือตรึงราคาน้ำมัน คืน การใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดภาระกับการคลังของประเทศ

หวั่นผลกระทบปิดน่านฟ้า-ท่าเรือ

ทั้งนี้ กกร.เสนอให้ภาครัฐตั้งคณะทำงานร่วม (รัฐ-เอกชน) ในการเป็น Focal Point ในการติดตามและประเมินสถานการณ์ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อาทิ การปิดน่านฟ้า การประกาศหยุดของสายเรือ รวมถึงผลกระทบหากเกิดกรณีการคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตกและพันธมิตรด้วย เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าไทย

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามราคาพลังงาน ซึ่งเป็นผลกระทบหลักต่อเศรษฐกิจไทย โดยผู้ประกอบการที่แบกรับต้นทุนพลังงานเริ่มทยอยขึ้นราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่า 3% เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ

ผู้ส่งออกห่วงต้นทุนขนส่งพุ่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือจะเกิดขึ้นแน่จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น หรือมีการปิดท่าเรือบางแห่งในรัสเซียหรือยูเครน ซึ่งการส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือจะกระทบต้นทุนการขนส่ง

สำหรับผลกระทบทางอ้อมมีเรื่องราคาพลังงานและราคาเหล็กนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋อง วัสดุก่อสร้าง รวมถึงธัญพืชนำเข้าเพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยกระทรวงพาณิชย์เตรียมรับมือหาตลาดทดแทน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา