“พลังงาน” เกาะติด “รัสเซีย–ยูเครน” ชี้ มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองกว่า 2 เดือน

“พลังงาน” เกาะติด “รัสเซีย–ยูเครน” ชี้ มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองกว่า 2 เดือน

“พลังงาน” พร้อมรับมือหลังสถานการณ์ “รัสเซีย-ยูเครน” เริ่มตึงเครียดมากขึ้น หากเกิดสถานการณ์รุนแรง อาจจะกระทบกับราคาพลังงาน ระบุ มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองกว่า 2 เดือน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เริ่มทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อการปฏิบัติการในยูเครน ปัจจุบันรัสเซียและชาติตะวันตกพยายามหาทางออกทางการทูต แต่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ และรัสเซียได้เริ่มมีการใช้กำลังทางทหารในพื้นที่ สร้างความวิตกกังวลให้กับนานาชาติ และส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 55 และนำเข้าจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด และในส่วนของ LNG ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 18 จากหลากหลายแหล่ง

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,200 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,460 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,670 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 27 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 12 วัน ส่วน LPG สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 16 วัน

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน ซึ่งจากที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่าเริ่มมีการใช้กำลังทางทหารเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว รวมถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของโลกที่ยังมีจำกัดทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการที่มีอย่างต่อเนื่องและยังคงเตรียมมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม และขอยืนยันว่า จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นนี้

แม้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเกิดผลกระทบวงกว้างทั่วโลก แต่กระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน