“พลังงาน” ระดมแผนรับมือวิกฤต "ราคาพลังงาน" พุ่ง

“พลังงาน” ระดมแผนรับมือวิกฤต "ราคาพลังงาน" พุ่ง

เปิดแผน “พลังงาน” ระดมสมองรับมือวิกฤตราคาพลังงานพุ่ง หากสถานการณ์ “รัสเซีย-ยูเครน” บานปราย หวั่นกระทบสต็อกสำรองปริมาณพลังงานเชื้อเพลิง

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เริ่มทยอยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวของรัสเซียต่อการปฏิบัติการในยูเครน โดยรัสเซียได้เริ่มมีการใช้กำลังทางทหารในพื้นที่ สร้างความวิตกกังวลให้กับนานาชาติ และส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังานได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม LPG ภาคครัวเรือน จนถึงขณะนี้ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน มีรายจ่ายเดือนละประมาณ 7,000  ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายน้ำมันดีเซลเดือนละ 5,000  ล้านบาท และรายจ่ายก๊าซ LPG เดือนละ 2,000 ล้านบาท

ส่วนประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 ติดลบ 20,164  ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 6,172  ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 26,336  ล้านบาท โดยขณะนี้ กองทุนน้ำมันฯ อยู่ระหว่างขอกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุน คาดว่าจะได้รับเงินเข้ากองทุนช่วงเดือนเมษายน 2565

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทางการเมืองต่างระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้หลายคนกังวลว่าปริมาณสำรองด้านพลังงานของประเทศไทยจากการนำเข้าจะเพียงพอหรือไม่หากสถานการณ์บานปลายออกไป ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ก่ออาจจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้ามาด้วยเช่นกัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 55% และนำเข้าจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็น 3% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ส่วน LNG นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 18% จากหลากหลายแหล่ง

กระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน ซึ่งจากที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่าเริ่มมีการใช้กำลังทางทหารเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

รวมถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของโลกที่ยังมีข้อจำกัดทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการที่มีอย่างต่อเนื่องและยังคงเตรียมมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม

สำหรับความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,200 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,460 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,670 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 27 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 12 วัน ส่วน LPG สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 16 วัน

ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเกิดผลกระทบวงกว้างทั่วโลก แต่กระทรวงพลังงาน จะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ได้กำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมาตรา 7 ในสัดส่วนน้ำมันดิบ 4% และน้ำมันสำเร็จรูปที่ 1% ของปริมาณยอดขายหรือยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละวันซึ่งในทุกรอบปีจะมีการสรุปยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อมาเป็นกอบการคำนวณในระยะต่อไป ส่วนการสำรองเพิ่มเติมอื่นๆ อยู่ที่การกำหนดธุรกิจของผู้ค้าน้ำมันเองว่าจะมีการเพิ่มหรือสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ อย่างไร

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองของทั้ง 2 ประเทศบานปลายจนถึงขั้นอาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งพลังงานเชื้อเพลิงมายังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย แล้วปริมาณสต็อกพลังงานเชื้อเพลิงในประเทศไทยอาจไม่เพียงพอ หากมองในมุมร้ายแรงรัฐบาลอาจจะประกาศให้งดใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆ หรือให้ใช้เท่าที่จำเป็น

นอกจากนี้ หากจะให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มสต็อกน้ำมันทันทีคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจะต้องมีการลงทุนในเรื่องของคลังสต็อกและอาจจะใช้เวลาถือเป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งทุกวันนี้ผู้ค้าน้ำมันได้มีการสต็อกน้ำมันเพิ่มเติมจากข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานอยู่แล้วราว 7-10 วัน