ส.อ.ท.ขานรับแพ็กเก็จ EV มั่นใจดันยอดขายปีนี้แตะ 5,000 คัน

ส.อ.ท.ขานรับแพ็กเก็จ EV มั่นใจดันยอดขายปีนี้แตะ 5,000 คัน

ส.อ.ท. คาดความนิยมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐคลอดแพ็กเกจอีวีหนุนความเชื่อมั่นผูผลิต มั่นใจยอดขายปีนี้แตะ 5,000 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อประกาศใช้แพ็กเกจรถอีวีแล้วย่อมเป็นผลดีต่อความต้องการซื้อรถอีวี ซึ่งคาดปี 2565 จะดันยอดรถยนต์นั่งและกระบะประเภท BEV เพิ่มขึ้น จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3,000 คัน เพิ่มเป็น 4,000-5,000 คัน ในกรณีที่ปีนี้มีการนำเข้ารถอีวีราคาต่ำกว่าหนึ่งล้านบาทเพิ่มเติม 

ขณะที่ปี 2564 สถิติจำนวนรถยนต์ BEV อยู่ที่ 1,958 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มี 1,278 คัน

ทั้งนี้ แพ็กเกจรถอีวีที่ ครม.อนุมัติและให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการ รวมทั้งลดภาษีสรรพสามิตและอากรนำเข้าจะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ผลิตเชื่อมั่นว่าไทยต้องการการส่งเสริมการใช้รถอีวีในประเทศอย่างจริงจัง และเร่งให้ผู้ประกอบการตัดสินใจตั้งโรงงานเพื่อผลิตในไทยเร็วขึ้น อาทิ ผู้ผลิตแบรนด์เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน

นอกจากนี้ การเพิ่มสถานีชาร์จให้มากขึ้นและเพียงพอจะเป็นจุดสำคัญยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้ซื้อสะท้อนได้จากจำนวนรถ BEV ที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 เนื่องจากจำนวนสถานีชาร์จที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมารวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและความเข้าใจในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดมาตรการส่งเสริมรถอีวี แบ่งออกเป็นมาตรการทางภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ทางภาษี 6 ข้อ ตามประเภทของรถยนต์ เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ได้แก่ 

1.กรณีรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการภาษี จะให้นำเข้าแบบรถถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี โดยหากมีอากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้น หากมีอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40% ปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

รวมทั้งให้เงินอุดนหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนที่แบตเตอรี่ที่มีขนาด 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ได้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

2.กรณีรถยนต์นั่งที่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ราคามากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ครม.เห็นชอบให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566 คือ การนำเข้ารถ CBU หากอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับยกเว้นอากร หากอากรเกิน 20% ให้ลดอากรลงอีก 20% ส่วนอัตราอากรนำเข้าให้ลดเหลือ 60% และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งฯประเภท BEV จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

3.กรณีรถยนต์กระบะ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

4.กรณีรถจักรยานยนต์ BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท โดยมีมาตรการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

โดยในส่วนของเงินอุดหนุนจะให้ 18,000 บาท ต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศและการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน

5.การผลิตหรือประกอบรถยนต์ BEV ในประเทศ ในเขตปลอดภาษีอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 2565-2568 โดยอนุมัติให้นับมูลค่าของ Cell แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสำหรับ การนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท BEV) ในเขตปลอดอากร (Free Zone) หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ 

สำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้า (BEV) หน้าโรงงาน เพื่อส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ

6.ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหรือประกอบภายในประเทศ เห็นควรส่งเสริมให้ใช้ชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงระยะเวลาในปี 2565-2568 ประกอบด้วย แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction Gear 

รวมทั้งส่วนประกอบของชิ้นส่วนดังกล่าว ให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยให้สถาบันยานยนต์เป็นผู้รับรองชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนย่อยเพื่อลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมต่อไป

โดยมีเงื่อนไขสำหรับค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการกับรัฐบาล คือ ต้องมีการผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่ นำเข้า CBU ระหว่างปี 2565-2566 ในปี 2567 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาได้ ถึงปี 2568 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน) ผู้ใช้สิทธิ์สามารถผลิตรถ BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชย ยกเว้นรถยนต์ที่มีราคาขาย ปลีก ราคา 2 ล้านบาทไม่เกิน 7 ล้านบาท จะต้องผลิตรุ่นเดียวกันกับที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย

โดยหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิ์ 

1.ต้องเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ทำสัญญากับ กรมสรรพสามิต โดยกรมฯ จะอุดหนุนเงินและภาษีฯ ไปที่ผู้ประกอบการเท่านั้น 

2. ประเภทรถยนต์ครอบคลุมรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ เฉพาะ BEV

ในขณะที่เงื่อนไขการใช้สิทธิ์และบทลงโทษมี 2 ส่วน คือ 

1.จะต้องมีการวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) ประกอบการขอใช้สิทธิ์ 

2.หากไม่ปฏิบัติติตามประกาศจะต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย ยึดเงิน ค้ำประกันจากธนาคาร ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม