ลดภาษีน้ำมัน-หนุนอีวี บรรเทา ‘วิกฤติ’

ลดภาษีน้ำมัน-หนุนอีวี บรรเทา ‘วิกฤติ’

การประชุม ครม. ครั้งล่าสุด เคาะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 100% ลงลิตรละ 3 บาท จากลิตรละ 5.99 บาท เหลือ 2.99 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนกรณีน้ำมันไบโอดีเซล จะลดน้อยลงตามสัดส่วนเกรดน้ำมันดีเซล

วิกฤติมากมายที่กำลังรุมถล่มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงนี้ นับเป็นมหาวิกฤติที่พร้อมเขย่ารัฐบาลให้ “ล้ม” ลงได้ทุกเมื่อ โควิด-19 ที่ไม่มีวันจางหาย ยังคงพ่นพิษต่อเนื่อง ยอดติดเชื้อยังหลักหมื่น

การฟื้นฟูเยียวยาก็ทำกันไปอย่างทุลักทุเล ด้วยงบประมาณที่เหลือจำกัด เสถียรภาพทางการเมืองที่สั่นคลอน ความไร้เอกภาพของรัฐบาลไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจการลงทุนสักเท่าไหร่

ปัญหาน้ำมันแพง กลายเป็นอีกปัญหาที่ถล่มซ้ำ แม้ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะไทย เพราะทั่วโลกก็ประสบกับวิกฤตินี้ด้วยเช่นกัน จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความตึงเครียดระหว่าง “รัสเซียและยูเครน” ที่เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ถึงฝีมือของรัฐบาล ในการหาทางออกในมหาวิกฤติครั้งนี้

 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 100% ลงลิตรละ 3 บาท เหลือ 2.99 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จากปัจจุบันมีอัตราที่ลิตรละ 5.99 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งจากนี้กรมสรรพสามิตจะร่างประกาศเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้

สำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้จากภาษีน้ำมันดีเซล เดือนละ 5,700 ล้านบาท รวม 3 เดือน จะสูญเสียรายได้ 17,000 ล้านบาท

อัตราการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 3 บาทต่อลิตรดังกล่าว ลดให้สำหรับน้ำมันดีเซล 100% แต่กรณีน้ำมันไบโอดีเซล จะลดน้อยลงตามสัดส่วนเกรดน้ำมันดีเซล

ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ปัจจุบันยังมีปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งแม้ ครม.อนุมัติให้กองทุนกู้เงินได้ในเพดานไม่เกิน 30,000 ล้านบาท แต่กองทุนยังกู้เงินเพื่อนำมาใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ได้ เพราะงบการเงินกองทุนยังไม่ได้รับการรับรอง

 

สาเหตุมาจากช่วงเปลี่ยนสถานะจากนิติบุคคล สังกัดกระทรวงพลังงาน เป็นองค์การมหาชน ซึ่งคาดว่าภายในเดือน มี.ค.นี้ ถึงจะเริ่มกู้ได้ แน่นอนว่า การลดภาษีน้ำมันครั้งนี้ ย่อมทำให้รายได้ของรัฐหายไปส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจคลี่คลาย จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสูงขึ้น

การปรับลดภาษีน้ำมันครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น พยุงสถานการณ์ไม่ให้วิกฤติเกินเยียวยา เราเห็นว่าจากนี้ รัฐบาลควรต้องมองหาวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวควบคู่ไปด้วย เพราะเชื่อว่าปัจจัยลบต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้จะเกิดขึ้นอีก

การส่งเสริมใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้น้ำมัน เป็นอีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่วันเดียวกันนี้ ครม. ตัดสินใจอนุมัติแพ็กเกจสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือแพ็กเกจรถอีวีทั้ง 3 ประเภท คือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ ที่จะมีทั้งลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และรัฐบาลให้เงินอุดหนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ

เราเชื่อว่าการประกาศอุดหนุนรถอีวี เป็นการนับหนึ่งของการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานในระยะยาว ซึ่งสเต็ปต่อไป รัฐคงต้องทำให้ครบวงจรมากกว่านี้