เปิดยอดช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้’ผ่านมาตรการทางการเงิน 4 แบงก์

เปิดยอดช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้’ผ่านมาตรการทางการเงิน 4 แบงก์

เปิดยอดอัพเดท การช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้’ ผ่านมาตรการทางการเงิน จากผลกระทบโควิด-19 โดยธปท.ระบุยอดช่วยเหลือลูกหนี้ เหลือเพียง 5.91 ล้านบัญชี หรือ 3.6 ล้านล้านบาท ขณะ 4 แบงก์เดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง พร้อมหนุนลูกหนี้เข้าสู่มาตรการแก้หนี้ระยะยาว

     ล่าสุด  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการเปิดเผยความคืบหน้า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ โดยหากดูด้าน มาตรการทางการเงินที่เกี่ยวกับการแก้หนี้เดิม ณ 30 พ.ย. 64 การช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ 5.91 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่า 3.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 2.01 ล้านบัญชี มูลค่า 2.09 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3.09 ล้านบัญชี มูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท โดยลดลงต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงแรกที่เกิดโควิด-19 ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 

    สำหรับในส่วนของการเติมเงินใหม่ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 24 ม.ค. 65 พบว่า ยอดสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 1.46 แสนล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 4.49 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย โดยสัดส่วนประมาณ 41.6% เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งกระจายตัวไปทั้งกลุ่มค้าปลีกและบริการ

       ในส่วน โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มียอดการอนุมัติสินเชื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว 3.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 266 ราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่น กลุ่มโรงแรม โรงงาน โรงพยาบาล ร้านอาหาร และสปา 
      นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งทางด่วนแก้หนี้ ที่ปัจจุบันมียอดการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว 2.54 แสนบัญชี คิดเป็น 76% ที่ได้รับการแก้หนี้ และปัจจุบันขยายไปสู่ลูกค้าธุรกิจ ขณะที่ คลินิกแก้หนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 7.02 หมื่นบัญชี คิดเป็น 88% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข โดยยอดสะสม ตั้งแต่ 1 มิ.ย60 ถึง 30 พ.ย. 2564 

      ขณะที่มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล 2.19 แสนบัญชี คิดเป็น 72% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข และเช่าซื้อจำนวน 9,608 บัญชี หรือ 75% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข 
     ส่วนการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลพีโลน ณ สิ้นปี 2564 มีผู้ให้บริการทางการเงิน ได้รับอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 8 ราย เพิ่มขึ้น จากต้นปี ที่มีเพียง 1-2 รายเท่านั้น แต่ปล่อยกู้จริง วันนี้มี 4 ราย โดยมีการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบแล้ว 7.46 แสนราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 3,868 ล้านบาท ยอดหนี้เฉลี่ย 5,100 บาท 
      สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้รายแบงก์ โดยเฉพาะ 4 แบงก์ คือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)BAY ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด(มหาชน)ttb และธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) TISCO 
     โดยเริ่มต้นที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ตลอดช่วงวิกฤตินี้ การช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร ถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของธนาคารไทยพาณิชย์  โดยล่าสุดยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือที่เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 มีจำนวน 8.39 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ของสินเชื่อรวม 
      ปัจจุบัน สินเชื่อภายใต้ตามมาตรการลดลงเหลือ 4.02 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 18% ของสินเชื่อรวมเท่านั้น 
      ซี่งหากดูรายมาตรการพบว่า จากมาตรการในการพักชำระหนี้ 2 เดือนของธปท. ในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.64  แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 20% ของยอดสินเชื่อรวม ขณะที่ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ยอดลดลงเหลือเพียง 3.97 แสนล้านบาท หรือ 17% ของสินเชื่อรวมเท่านั้น ณ สิ้นปี 2564
     ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ตามมาตรการธปท.เมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ สิ้นปี 2564 มียอดสินชื่อราว 2.78 แสนล้านบาท ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เรียบร้อยแล้วภายใต้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว 
    ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb ระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคาร ได้เน้นมาตรการความช่วยเหลืออย่างยั่งยืนเพื่อมั่นใจว่าลูกค้าสามารถอยู่รอดในระยะยาว จากผลกระทบโควิด-19  

    โดย ณ ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีสินเชื่อที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ คิดเป็นราว 12 % ของสินเชื่อรวม ซึ่งทรงตัว หากเทียบกับกับก.ย. 2564 ที่ผ่านมา หากเทียบกับยอดการช่วยเหลือทางการเงิน ที่  40%  ในช่วงล็อคดาวน์เต็มรูปแบบ ณ สิ้นมิ.ย. 2563 
     โดยลูกค้าธุรกิจที่อยู่ภายใต้มาตรการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 9% มาอยู่ที่ 10% ของสินเชื่อธุรกิจรวมเนื่องจากนโยบายที่รอบคอบของธนาคารในการกำหนดเกณฑ์อย่างเข้มงวด สำหรับการออกจากโปรแกรมความช่วยเหลือ 
     ขณะที่ลูกค้ารายย่อยลดลง จาก 14 % เป็น 13% ของสินเชื่อรวม ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ 
     ซึ่ง ธนาคารยังคงติดตามดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวม ของธนาคารยังดีอยู่ พร้อมทั้ง ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อ
มั่นใจว่าลูกค้าสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว
     ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด(มหาชน) Bay กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงศรีให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019อย่างต่อเนื่อง

    ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ครอบคลุมการปรับโครงสร้างหนี้ การขยายเวลาพักชำระหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมทั้ง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวเพื่อให้การฟื้นตัวที่ยั่งยืน 
     โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เงินให้สินเชื่อคงเหลือ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกค้าของกรุงศรีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9 % ของเงินให้สินเชื่อรวม หรือจำนวน 170,211 ล้านบาท โดยเป็นลูกค้ารายย่อย 181,279 บัญชี และ
ลูกค้าธุรกิจ 5,359ราย 
     ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการสนับสนุนวงเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นอยู่ที่จำนวน 28,017 ล้านบาท คิดเป็นลูกค้า 8,127ราย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและสินเชื่อเพื่อ การฟื้นฟูธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน

     ด้านธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) TISCO ระบุว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคาร จากผลกระทบ โควิด-19 ธนาคารยังคงดําเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือแก้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง 
     ทั้งการเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ ในระยะยาวให้แก่ลูกหนี้รายย่อย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2564 ยอดสินเชื่อที่รับกาขอช่วยเหลือทั้งหมดอยู่ที่ราว 7.9 %  ของสินเชื่อรวม และยอดสินเชื่อรายย่อยอยู่ภายใต้มาตรการอยู่ที่ราว 4.2%  ของสินเชื่อรวม 
     สำหรับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการซอฟท์โลน และสินเชื่อฟื้นฟู ล่าสุดมียอดสินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท 
     นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการ “คืนรถจบหนี้”ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือพิเศษที่บริษัทตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้ โดยที่ผ่านมาธนาคารได้เปิดรับลูกหนี้เข้าโครงการไปแล้ว 2 เฟส โดยมียอดเข้าร่วมโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ณ สิ้นปี 2564 มีทั้งสิ้น 3,800 ราย