‘ซีบีอาร์อี’ชี้อานิสงส์ท่องเที่ยว‘ขาขึ้น’โรงแรม รีเทล สำนักงาน นิคมฯ

‘ซีบีอาร์อี’ชี้อานิสงส์ท่องเที่ยว‘ขาขึ้น’โรงแรม รีเทล สำนักงาน นิคมฯ

เกือบครึ่งปีสถานการณ์ตลาดอสังหาฯเพื่อขายเริ่มออกอาการชะลอตัวชัดเจน! จาก 3 ปัจจัยลบฉุดรั้ง นั่นคือ ดอกเบี้ย ยอดปฎิิเสธสินเชื่อ หรือ รีเจกต์เรต หนี้สินครัวเรือนทะยานสูง สวนทางอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม โรงแรม รีเทล และอาคารสำนักงาน รับอานิสงส์จากท่องเที่ยวฟื้นตัว

รุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย มองภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยปี 2567 ในเชิงบวก ธุรกิจยังเป็น “ขาขึ้น” โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย รวมทั้งธุรกิจคลังสินค้า 

ส่วนธุรกิจ “โรงแรม” ฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่นักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากขึ้น คาดการณ์ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 35 ล้านคน แม้จะน้อยกว่าปี 2562 ที่มีจำนวน 40 ล้านคน แต่ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

“นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจรีเทลตามไปด้วย และตลาดที่ได้รับผลดีต่อมา คือ อาคารสำนักงาน แม้ว่าจะเห็นตัวเลขซัพพลายเพิ่มขึ้น จนหลายคนกังวลว่าเกิดโอเวอร์ซัพพลาย แต่ในมุมของผู้เช่าจะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น การแข่งขึ้นในตลาดรุนแรงมากขึ้น”

แต่ธุรกิจตัวที่ชะลอตัว คือ “ที่อยู่อาศัย” ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรก ดอกเบี้ยขาขึ้น และยังไม่ลดลง ปัจจัยที่สอง ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งขึ้น ทั้งคนซื้อและผู้พัฒนาโครงการขอสินเชื่อยากขึ้น ทำให้เกิดการร่วมทุนมากขึ้น และปัจจัยที่สาม ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย

 “ปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทรงตัวเมื่อเทียบกับภูเก็ต ส่วนรีเทลได้ผลพวงจากการที่ทัวริสต์เข้ามามากขึ้นเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และมีการเปิดตัวโครงการรีเทลหลายแห่ง แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจับกลุ่มลูกค้าถูกหรือไม่ ส่วนอุตสาหกรรมปีนี้ถือเป็นพระเอกเพราะมีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก จนหาที่ดินไม่พอกับความต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะโซนอีอีซี”

อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดอาคารสำนักงาน กระแสแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ามามีบทบาท​ สามารถสร้าง​แต้มต่อให้เจ้าของอาคารและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังเกตได้จาก 94% ของอาคารที่สร้างใหม่ต้องมีมาตรฐานการรับรอง อาทิ มาตรฐานของ LEED กับ WELL BUILDING STANDARD การันตี

"สมัยก่อนเราบอกว่า No Pain No Gain แต่ปัจจุบันถ้าไม่มี Sustain ไม่ได้แล้วเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง workplace"

ในส่วนซีบีอาร์อี มีบริการหลากหลาย 16 ธุรกิจแบบครบวงจร ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบแม้ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เพราะมีลูกค้าในหลายเซ็กเตอร์จึงลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

“ยกตัวอย่างปีนี้ภาษีที่ดินขึ้น ทำให้กลุ่มลูกค้าที่มีที่ดินสนใจที่จะพัฒนาโครงการ หรือขาย หรือปล่อยเช่าเพื่อที่ไม่ต้องแบกรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทำให้งานวิจัยและที่ปรึกษาเพิ่มขึ้น เป็นต้น หรือ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดโควิด-19 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เติบโต บริษัทมีรายได้จากธุรกิจนี้ 300-400 ล้านบาท

ชาญวิชญ์ พสุวัต หัวหน้าแผนกที่ปรึกษากลยุทธ์พื้นที่ทำงานและแผนกพัฒนาการออกแบบโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า จากเทรนด์ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work from anywhere) ส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่ใช้พื้นที่ในอาคารสำนักงานลดลง 20-30% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม แต่ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ไม่ลดลง ขณะเดียวกันความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้นซึ่งในแต่ละปีในแต่ละเซ็กเตอร์ธุรกิจขึ้นลงแตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน การออกแบบพื้นที่อาคารสำนักงานมีความสำคัญมากขึ้นทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่ให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของพฤติกรรมในการใช้งานที่เปลี่ยนไป การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กร รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น