พาณิชย์สั่งตรึงราคาไก่ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพประชาชน

พาณิชย์สั่งตรึงราคาไก่ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพประชาชน

กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือผู้เลี้ยง ผู้ผลิตไก่ ตรึงราคาไก่ไป 6 เดือน รอเคาะราคาไข่ไก่ต่อหลังเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องหารือหลังสมาคมผู้เลี้ยงไข่ไก่ประกาศขึ้นราคา

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน  เปิดเผยว่า   กรมได้หารือร่วมกับผู้เลี้ยง ทั้งสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทรายใหญ่ รวมถึงกรมปศุสัตว์ เห็นตรงกันที่จะตรึงราคาขายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาขายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนมิ.ย.65  เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคในระยะสั้น โดยกำหนดราคาจำหน่ายไก่สดมีชีวิต 33.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไก่สด รวมเครื่องในและไม่รวมเครื่องใน จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่องติดสะโพก น่อง สะโพก จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม และเนื้ออก จำหน่าย 65-70 บาทต่อกิโลกรัมและให้กรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงเร่งเพิ่มการผลิตโดยด่วน ซึ่งการเลี้ยงไก่ใช้เวลา 45 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น 

ส่วนราคาไข่ไก่ที่มีการประกาศขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีกฟองละ 20 สต. ส่งผลทำให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ราคาฟองละ 3 บาทหรือขึ้นราคาแผงละ 6 บาท  นั้นในวันนี้ (11 ม.ค.)กรมจะหารือกับสมาคมอีกครั้งเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการประกาศปรับขึ้นราคาดังกล่าวเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ยังไม่ควรปรับราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นซ้ำเติมประชาชนเวลานี้ โดยจะตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตต่อฟอง อยู่ที่ 2.85 บาท เพื่อดูว่าการปรับขึ้นในครั้งนี้ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่จะได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไข่ไก่อีกครั้ง แต่ต้องดูแลไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งไก่เนื้อ  และไก่ไข่ ได้รับผลกระทบด้วย

พาณิชย์สั่งตรึงราคาไก่ 6 เดือน ลดภาระค่าครองชีพประชาชน

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการปลดแม่ไก่ยืนกรงในช่วงเทศกาลตรุษจีนจนอาจทำให้ปริมาณไข่ไก่ในระบบลดลง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นนั้น มองว่าเป็นการปลดแม่ไก่ยืนตรงตามรอบการผลิต ซึ่งเป็นการปลดแม่ไก่ยืนกรงที่เพิ่มจำนวนการเลี้ยงในช่วงที่การผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับการบริโภคก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ทำเพื่อรักษาสมดุลของปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่จะออกมาสู่ท้องตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการบริโภคไม่ให้มีการผลิตส่วนเกินมากจนเกินไปเพราะหากมีไข่ไก่ออกมามากก็จะทำให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาก็จะตกลงมาจนสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงได้

นายวัฒนศักดิ์ กล่าวว่า   สำหรับราคาเนื้อหมู มาตรการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศให้ผู้เลี้ยง และผู้ค้า ต้องแจ้งปริมาณการเลี้ยง และการเก็บสต๊อกหมูชำแหละตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.65 ขณะนี้ กรมอยู่ระหว่างการรวมรวบปริมาณ และจะออกตรวจสอบร่วมกับกรมปศุสัตว์ หากพบผู้ค้ารายใด กักตุน หรือแจ้งไม่ตรง ไม่สอดคล้องกับปริมาณที่แจ้งมา จะดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อนำเนื้อหมูออกมาสู่ตลาดให้มากที่สุด  

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ อยู่ในระหว่างขออนุมัติงบกลางจากรัฐบาลแล้ว เพื่อนำมาดำเนินโครงการต่างๆ ช่วยเหลือประชาชน และชดเชยให้ผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายย่อย ทั้งหมู ไก่ และไข่ไก่ โดยเฉพาะการเปิดจุดขายสินค้าราคาถูกที่อาจจะเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศได้ ถ้าสถานีบริการน้ำมันสนับสนุนพื้นที่ให้เปิดเป็นจุดขายได้ จากขณะนี้ มีจุดขายเนื้อหมูราคาถูกกก.ละ 150 บาท รวม 667 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงจุดขายสินค้าราคาถูกได้อย่างสะดวกขึ้น และมากขึ้น รวมถึงอาจพิจารณาร่วมกับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตสินค้าราคาประหยัดขายสู่ประชาชนภายใต้โครงการธงฟ้า  

ขณะที่ต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกรมยินดีจะจัดโครงการเชื่อมโยงผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้ซื้อได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เหมือนที่ผ่านมา มีโครงการจับคู่หมูข้าว ระหว่างผู้เลี้ยงหมู และโรงสี เพื่อซื้อข้าวมาทำอาหารสัตว์ รวมถึงยังได้ขออนุมัติงบจากกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร (งบคชก.) มาช่วยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้เลี้ยงด้วย