จับตา ‘จุรินทร์’ งัดมาตรการคุมราคาหมู

‘จุรินทร์’ ถกกกร.พิจารณามาตรการคุมราคาเนื้อหมู คาดงัดมาตรการสูงสุดดูแล ด้านกระทรวงเกษตรฯชงนายกฯสั่งพาณิชย์ห้ามส่งออหมูชั่วคราว เพื่อกดดันราคาลดลง

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธาน ช่วยบ่าย (5 ม.ค.) จะมีการพิจารณามาตรการในการดูแลสินค้าหมูเนื้อแดง หลังจากที่ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการยกระดับใช้มาตรการขั้นสูงสุดในการควบคุมราคาหรือไม่ เช่น มาตรการกำหนดเพดานราคาสูงสุด มาตรการเคลื่อนย้ายสุกรต้องขออนุญาต จนไปถึงการห้ามส่งออกหมูชั่วคราว รวมถึงมาตรการในการดูแลวัตถุดิบที่ผลิตอาหารสัตว์และอาหารสัตว์ และการพิจารณาทบทวนรายการบัญชีสินค้าและบริการควบคุมประจำปี 2565

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประภัตร โพธสุธน จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาเนื้อหมูแพงต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯแก้ปัญหาด่วนที่สุด โดยจะเสนอให้นายกฯสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ระงับการส่งออกหมูเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูในประเทศซึ่งจะส่งผลให้ราคาเริ่มปรับลดลงทันที ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กซึ่งหยุดเลี้ยง กลับมาเลี้ยงใหม่

สำหรับปัจจัยเรื่องอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรหยุดเลี้ยงนั้น จะเสนอนายกฯ พิจารณาช่วยเหลือ เช่น การลดภาษีนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชในประเทศเพื่อให้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ราคาต่ำ

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2561-2564  ได้มีการระบาดของโรคที่สำคัญในสุกรได้แก่ โรคพีอาร์อาร์ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร ซึ่งเป็นโรคที่พบในประเทศอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยซึ่งกรมปศุสัตว์ป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเมื่อพบหมูป่วยหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะกำจัดทันทีซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว แต่ยืนยันว่า โรค ASF ยังไม่พบในประเทศไทย