กกพ.เร่งศึกษา "ค่าชาร์จEV" ดึงหน้าใหม่ลงทุน

กกพ.เร่งศึกษา "ค่าชาร์จEV" ดึงหน้าใหม่ลงทุน

กกพ.เล็งเคาะค่าชาร์จอีวีใหม่ จากปัจจุบันกำหนดราคาชั่วคราวขายส่งที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ระบุเอกชนลงทุนติดตั้งในพื้นที่กทม.อาจจะไม่คุ้มทุน แนะรัฐบาลให้ความสำคัญเส้นทางต่างจังหวัด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมและภาคขนส่งเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดกว่า 70% ซึ่งนโยบายผลักดันและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงเป็นอีกตัวที่จะขับเคลื่อนการในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ดี เมื่อมีการใช้งานรถอีวีเพิ่มมากขึ้น อัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นมาด้วย

อย่างไรก็ตาม กลไกลในการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของสถานีชาร์จอีวีนั้น หากเป็นการชาร์จไฟที่บ้านจะมีราคาค่าไฟที่กกพ.กำหนดอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จอีวี ก็จะมีราคาขายส่งที่เท่าเทียมกัน อยู่ที่ว่าเอกชนที่ติดตั้งจะไปบวกราคาค่าบริการอีกเท่าไหร่ ซึ่งส่วนมากจะคิดค่าบริการเพิ่มเติมตามโลเคชั่นหรือย่านเศรษฐกิจ ก็อาจจะมีราคาค่าบริการที่สูงกว่าโลเคชั่นอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ กกพ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลไว้ทั้งหมดว่าจะต้องมีการกำกับราคาค่าบริการของสถานีหรือไม่ และควรเก็บอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมและสมเหตุสมผลที่สุด เพราะบางอย่างไม่จำเป็นต้องกำกับ เนื่องจากเวลาผู้ซื้อตัดสินใจซื้อรถอีวี จะเป็นจะเลือกใช้เองว่าอันไหนราคาเหมาะสมหรือสะดวกในเวลานั้น

จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อผู้ลงทุนไปติดตั้งสถานีชาร์จในทำเลดี ในย่านเศรษฐกิจ ราคาค่าบริการก็จะสูงตามไปด้วย เหมือนกับการเช่าสถานที่ขายสินค้า เพราะทุกอย่างมีต้นทุน แต่ในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยมีคนเข้ามาใช้บริการ ส่วนมากจะใช้บริการเพื่อการจอดรถมากกว่า และกลับไปชาร์จไฟที่บ้าน เพราะมีราคาที่ถูกกว่า

“เราก็ได้มีการศึกษาราคาค่าบริการของต่างประเทศเหมือนกัน หลายประเทศก็ไม่มีการกำกับ บางประเทศต้องการโลเคชั่น ต้องการรีจิสเตอร์เหมือนกับที่เราทำอยู่ตอนนี้ เขาไม่ได้กำกับราคาขายแต่จะดูระบบว่าเพียงพอหรือไม่ อีกทั้ง ตอนนี้อีวีเพิ่งจะเริ่มเข้ามา”

อีกปัจจัยสำคัญคือ หากมีปริมาณรถอีวีเพิ่มขึ้น แล้วเกิดการแย่งการใช้ไฟฟ้าในระบบช่วงเวลาเดียวกัน อาจต้องมาคำนวณอีกครั้งว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับอีวีควรเป็นเรทที่เท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีปริมาณไม่เยอะและหากจะมองถึงปัญหาในช่วงการใช้ไฟพร้อมกันก็คงต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าเรทราคาค่าไฟเพื่อชาร์จรถอีวีถึงจะให้ราคาสิทธิพิเศษ แต่ปัญหาที่ผู้ติดตั้งต้องเจอ คือปริมาณควิกชาร์จมีปริมาณสมดุลกับการใช้งานหรือไม่ เพราะบางสถานีหากมีจำนวนคนใช้น้อย ผู้ติดตั้งก็จะเสียเงินและต้องใช้เวลาในการคืนทุน

“ส่วนใหญ่ต่างประเทศที่เห็นการกำกับคือกำกับค่าไฟที่ซื้อ ไม่ได้กำกับค่าไฟขาย อย่างที่บอกมีรายละเอียดเยอะ ถ้าจะคุมราคาขายก็ทำได้ แต่ยังอยู่ระหว่างศึกษาก่อนว่าตัวชาร์จมีหลายแบบทั้งแบบ AC ที่เป็นหัวชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสสลับ ชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) และแบบ DC หัวชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสตรง ชาร์จแบบเร็ว (Quick Charger)”

อีกทั้ง เมื่อรถอีวียังไม่แพร่หลาย อาจใช้วิธีปล่อยให้เอกชนดำเนินธุรกิจไปก่อน ระหว่างนี้รัฐจะเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งข้อดีหรือปัญหาต่างๆ เพื่อกำหนดราคานโยบาย เช่น อาจจะตั้งแคปไว้ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ 100% ว่าจะควบคุมราคาหรือไม่ เพราะรถอีวีคือสิ่งใหม่ หลายๆ ที่จะไม่มุ่งเป้าไปที่ยอดขายและกลุ่มผู้ซื้อ และบางที่บังคับว่าเมื่อมาจอดรถแล้วต้องชาร์จไฟฟ้าด้วย เพราะราคาที่เป็นอยู่ปัจจุบันคนอยากไปจอดรถมากกว่า

ทั้งนี้ จากการศึกษาในหลายๆ ประเทศ ปัจจัยที่จะสนับสนุนการใช้รถอีวีคือราคา ส่วนประเด็นที่ว่าไม่มีที่ชาร์จคิดว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เพราะผู้ผลิตรถอีวีปัจจุบันจะออกแพ็คเกจซื้อรถพร้อมการติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน สิ่งที่ห่วงคือสถานีชาร์จต่างจังหวัด ดังนั้น รัฐต้องโปรโมทในเรื่องของสถานีชาร์จระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด เพราะยิ่งหากเป็นช่วงเทศกาลเมื่อต้องใช้รถอีวีจริงๆ พอแวะปั๊มเพื่อหาสถานีชาร์จก็อาจจะต้องแย่งกันชาร์จได้

“รัฐบาลจะต้องดูภาพรวมการใช้รถอีวี ซึ่งถ้าใช้จริงดีกว่าอยู่แล้ว เพราะอะไหล่รถอีวีจะมีชิ้นส่วนน้อยชิ้นหากเทียบกับรถสันดาป แต่ถ้ายอดการใช้รถอีวีมาเร็วอีกประเด็นคือ หลายโรงงานจะต้องปิดตัวลง บางโรงงานที่ผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป หรือ ICE กระทบแน่นอน เพราะถ้าจะให้เปลี่ยนมาเป็นโรงงานผบิตเครื่องยนต์ EV จะต้องลงทุน โรงงานเดิมก็ขาดทุน ดังนั้นจึงจะต้องมีขั้นตอนให้มีการปรับตัว มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานผลิตท่อไอเสีย และหัวเทียนจะต้องปิดตัวลงก่อนใครเพื่อน”

ทั้งนี้ สำนักงานกกพ.ได้ออกประกาศกำกับอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) เมื่อช่วงเดือนธ.ค.2563 โดยการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จ (ขายส่ง) อยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่หักค่าพลังงานไฟฟ้า(Demand Charge) หรือ ค่าลงทุนโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ออกจากสูตรค่าไฟฟ้าฐานที่คิดสำหรับอีวี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge ) กระจายในต่างจังหวัดมากขึ้น และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะเป็นอัตราชั่วคราว ที่ทดลองใช้ 2 ปี (2563-2564)

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์แห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวว่า อยู่ระหว่างหามาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จโดยจะให้มีการครอบคลุมใน 2 ส่วน คือ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จูงใจการลงทุน และการอำนวยความสะดวกการติดตั้งจุดชาร์จ โดยคาดว่าจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีต้นปี2565 เพราะอีกปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้รถอีวีคือ ราคาค่าไฟฟ้าและการลงทุนในการติดตั้งสถานีชาร์จอีวี ที่ต้องให้จูงใจทั้งผู้ติดตั้งและผู้ใช้รถอีวีด้วย