"หุ้นไทย" เปิดตลาดบวก 2.82 จุด ดีล TRUE - DTAC บวกต่อทั้งกลุ่มสื่อสาร

"หุ้นไทย" เปิดตลาดบวก 2.82 จุด ดีล TRUE - DTAC บวกต่อทั้งกลุ่มสื่อสาร

"หุ้นไทย" เปิดตลาดวันนี้ (22 พ.ย.) ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,647.88 จุด เพิ่มขึ้น 2.82 จุด หรือ 0.17% โบรกชี้หุ้นไทยยังแนวโน้มขาขึ้น แม้ถูกกดดันยอดโควิดยุโรปเพิ่มขึ้นและกลับมาล็อกดาวน์ แต่ในไทยยังแตกต่างยุโรป ส่วนดีล TRUE - DTAC บวกต่อทั้งกลุ่มสื่อสาร

ความเคลื่อนไหวของตลาด "หุ้นไทย" เปิดภาคเช้าวันนี้ (22 พ.ย.2564) ดัชนีปรับขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,647.88 จุด เพิ่มขึ้น 2.82 จุด หรือเพิ่มขึ้น  0.17%  มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 9,217.58  และยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในแดนบวกต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. เอเซีย พลัส  ประเมินว่าแม้ตลาดหุ้นโลกจะยังถูกกดดันจาก Covid ในยุโรปที่เพิ่มขึ้นและการกลับมา Lockdown แต่ผลกระทบต่อ SET  Index ประเมินจะกดดันจำกัดเนื่องจากทิศทางผู้ติดเชื้อในไทยยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง  แตกต่างจากยุโรป  และที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนไทยยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง  

ประเมินคาด SET Index วันนี้แนวโน้ม Sideway Up คาดแกว่งในกรอบ 1639 จุด ส่วนแนวต้าน 1650-1658 จุด

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญธุรกิจสื่อสารไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง หลัง DTAC และ TRUE อนุมัติให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการขั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมบริษัทกัน ภายใต้โครงสร้างจำนวนหุ้นบริษัทใหม่ที่ 138,102 ล้านหุ้น จะแบ่งเป็นการแปลงหุ้น DTAC เดิม สัดส่วน 1 หุ้น DTAC : 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้น TRUE เดิม สัดส่วน 1 TRUE : 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่ ทั้งนี้ ภายใต้สัดส่วนดังกล่าว หลังรวม ผู้ถือหุ้น DTAC และ TRUE จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วน 42.1% และ 57.9%  โดยการควบรวมจะเกิดขึ้น หลังจากดำเนินตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำเร็จ นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 กลุ่ม คือ Telenor และกลุ่ม CP ยังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นใหม่ เพื่อทำคำเสนอซื้อโดยสมัครใจ DTAC และ TRUE ที่ราคาหุ้นละ 47.76 และ 5.09 บาท 

 

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกรรม ถือเป็นบวกในมุมธุรกิจทั้ง 2 ฝ่าย ถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อทั้ง DTAC และ TRUE ช่วยปิดจุดอ่อนแต่ละฝ่าย 

DTAC คือ บริการ 5G ที่ปัจจุบันยังขาดคลื่นความถี่ช่วงกลาง โดยรอกำลังประมูลคลื่น 3500 MHz กำหนดการยังมีความไม่แน่นอน บวกกับ ฐานลูกค้าธุรกิจที่จะเป็นส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ 5G ยังมีน้อยและขยายช้ากว่าคู่แข่ง ส่วน TRUE มีจุดแข็ง คือ มีคลื่นความถี่ 5G ช่วงกลางพร้อมให้บริการ และมีฐานลูกค้าธุรกิจหลากหลายทั้งในกลุ่ม CP ผู้ถือหุ้นและพันธมิตรโดยรอบช่วยต่อยอด ส่วน TRUE คือ ภาระหนี้สินที่สูง และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่ครอบคลุมงบลงทุนในแต่ละปี ขณะที่ DTAC มีจุดแข็งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความสม่ำเสมอการรวมธุรกิจกัน จะช่วยเรื่องฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้น ต้นทุนที่ลดลง ช่วยในเรื่องกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้สูงพอลงทุนแต่ละปี และทยอยลดภาระหนี้ในลำดับถัดไป

ในด้านภาพรวมธุรกิจ คือจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการอันดับที่ 1 หากอิงขนาดรายได้, ลูกค้า 51.28 ล้านราย เทียบ ADVANC ที่มี 43.44 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาด (รายได้) 54.4% เทียบ ADVANC ที่ 45.6% มีรายได้ Synergy บริษัทใหม่ที่คาดหวังได้หลักๆ ประเมินที่ต้นทุน คือ

1.  การลดภาระต้นทุนที่มีความซับซ้อนกัน เช่น โครงข่าย สาขาให้บริการ ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินต้นทุน DTAC+TRUE หากเทียบส่วนที่จะลดลงได้ โดยอิงกับต้นทุน ADVANC จะมี Upside คาดหวังได้ลดลงอย่างน้อย 15%  เทียบกับกรณีไม่รวมธุรกิจ ประเมินทุกๆ 5% ที่ลดลงได้ จะคิดเป็นต้นทุนลดลงปีละ 5.0-6.0 พันล้านบาท

2.  การประหยัดงบลงทุน (CAPEX) เมื่อรวมธุรกิจกัน เฉพาอย่างยิ่งในส่วน 5G ที่ต้องใช้เม็ดลงทุนสูง+ต่อเนื่อง รองรับ Use Case ในอนาคต อาทิ Internet of Things (IoTs), ระบบอัตโนมัติต่างๆ, Metaverse หากเทียบ CAPEX ของ DTAC+TRUE ที่แยกกันลงทุนสูงปีละ 4.0 หมื่นล้านบาท เทียบกับ ADVANC ปีละ 2.75 หมื่นล้านบาท CAPEX เมื่อรวมธุรกิจกันคาดลดลงอย่างน้อยปีละ 1.0 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรม ฝ่ายวิจัยประเมินเป็นบวก จากจำนวนผู้ประกอบการที่ลดลงเหลือ 2 ราย และมีศักยภาพทางธุรกิจใกล้เคียงกัน (ปริมาณคลื่นในมือ (DTAC+TRUE มีคลื่นทั้งสิ้น 1350 MHz ส่วน ADVANC อยู่ที่ 1420 MHz), ขนาดธุรกิจที่ใกล้กัน รวมถึงโครงข่ายและบริการ) จึงคาดความเข้มข้นการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นบวกต่อการเติบโตรายได้ ซึ่งแทบไม่เติบโตระยะหลัง รายได้ก่อน COVID ปี 2561-62 เติบโตปีละ 1.9% ก่อนผลกระทบ COVID จะมีส่วนกดดันลดลง 3.3% ในปี 2563 ขณะที่งวด 9M64 ลดลงอีก 1.9%  ฝ่ายวิจัยจึงมีแนวโน้มปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนกลุ่มสื่อสารขึ้น จากแนวโน้มตลาดที่อาจจะ Rerate Valuation ของกลุ่ม จากปัจจุบันที่ซื้อขายระดับ EV/EBITDA ราว 7 เท่า ตามคาดหวังการเติบโตกำไรกลุ่มที่สูงขึ้น ด้านประมาณการและมูลค่าพื้นฐาน 

ปัจจุบันฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลเพิ่มเติม  เฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของ กสทช. ต่อการควบรวมดังกล่าว ซึ่งหากอิงตามมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ผู้ที่จะดำเนินธุรกรรมดังกล่าวต้องรายงาน เลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนเริ่มดำเนินการ และถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.  รวมถึงเงื่อนไขประกอบธุรกิจที่ กสทช. มีแนวโน้มกำหนดเพิ่มเติม หาก กสทช. อนุญาต สำหรับ DTAC+TRUE และ ADVANC ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เพื่อประเมินมูลค่าบริษัทใหม่ DTAC+TRUE รวมถึง ADVANC

ด้านราคาหุ้น ในส่วน DTAC และ TRUE ระยะสั้นเชื่อว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นใกล้เคียงราคา Tender Offer ส่วนระยะยาวอาจจะต้องพิจารณามูลค่าเพิ่ม เมื่อรวมกันเป็นบริษัทใหม่อีกครั้ง ส่วน ADVANC(FV@B226) ที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม จากการแข่งขันลดลง และมี Upside จากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้น YTD ปรับตัวขึ้นเพียง 12.2% โดยราคาปัจจุบันซื้อขายที่ราว EV/EBITDA ราว 7 เท่า ซึ่งทุกๆ EV/EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 0.5 เท่าจะบวกต่อมูลค่าหุ้นราว 15 บาท เชื่อว่าเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน คงแนะนำ ซื้อ