นายกฯ รับ 5 ข้อเสนอเอกชน พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาฯ ฉ.13 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายกฯ รับ 5 ข้อเสนอเอกชน พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาฯ ฉ.13 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

‘ประยุทธ์’รับ 5 ข้อเสนอเอกชน เร่งแผนพัฒนาฯ ฉ.13 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย้ำสั่งปลูกผักชี-ใช้รถทหารขนส่ง เพื่อช่วยเหลือ ไม่แข่งกับใคร เตือนตัดต่อรูปภาพสร้างเฟคนิวส์ ผิดกฎหมาย รับเศรษฐกิจไทยไตรมาส3/64 ติดลบเพียง 0.3%  คาดภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้โต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จับมือ รวมใจ พาไทยรอด” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 โดยแนวคิดหลักของการสัมมนาในปีนี้คือ “Connect the Dots DESIGN THE FUTURE รวมพลัง สร้างสรรค์ อนาคต” ว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่าน ประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อทุกคน และไม่ทราบว่าจะต้องอยู่กับโรคนี้ไปถึงเมื่อไหร่​ ซึ่งนอกจากเรื่องของสุขภาพแล้วเรายังต้องแก้ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจควบคู่กับสุขภาพไปด้วย โดยต้องหามาตรการที่เหมาะสม​ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ทั้งนี้ รัฐบาล​ไม่ได้นิ่งนอนใจและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่รายบุคคล จนถึงผู้ประกอบการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรัฐบาลได้พยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้มีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมแต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาอยู่ที่การกระจายวัคซีน เพื่อให้เกิดความทั่วถึง​ ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ขณะนี้ คือต้องการให้ทุกคนได้ฉีดวัคซีนครบโดส​ และพยายามฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้​ ส่วนปีหน้าจะเตรียมขั้นต้นราว 60-70 ล้านโดส เพื่อบูสเตอร์ 

“ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่คนมาฉีด​ ตอนนี้หมอพร้อม​ วัคซีนพร้อม​แล้ว จึงขอให้ทุกคนช่วยกัน หากไม่อยากเจ็บ​ ไม่อยากป่วย​ ไม่อยากตาย​ สิ่งที่ช่วยได้คือฉีดวัคซีน แม้อาจจะมีผลข้างเคียงอยู่บ้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง​ แต่วันนี้เรากำลังพยายามสร้างความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขของไทย​ โดยได้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศและขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งตรวจสอบคุณภาพ​ตาม WHO

สำหรับการเตรียมความพร้อมและทยอยสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของไทยที่เคยดีอยู่แล้วในระดับ 6 ของโลก การที่เกิดโรคโควิด-19 ในการแพร่ระบาดติดคนทั้งโลกเช่นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน จึงมีมาตรการหลายอย่างที่พอจะเป็นแบบอย่างให้กับต่างประเทศได้ทั้งเรื่องของวัคซีน ที่คนไทยเองอาจจะไม่พอใจในการแก้ไขปัญหา แต่ต่างประเทศยังแก้ปัญหาได้ไม่เท่า และยกย่องประเทศไทยทั้งนี้ ยืนยันว่าประเทศไทยได้ใช้เงินงบประมาณกว่า 25% ของ GDP ในทุกมิติแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีนและเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีรายได้มากขึ้นจะได้มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม วันนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับแต่ต้องอย่าประมาท​ และย้ำเสมอว่าอย่าถอดหน้ากาก​ เว้นแต่อยู่คนเดียว​ โดยวันนี้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ​ และยืนยันไม่อยากปิดกั้น​ จึงอยากให้ช่วยกันรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีนเพราะมีวัคซีนอย่างเพียงพอ​ และอยากให้คำนึงสถานการณ์โลกด้วยไม่ใช่เพียงเฉพาะประเทศไทยเพียงอย่างเดียว วันนี้ ต้องมีการคาดการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความมั่นคงของโลกประเทศไทยเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ และมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในนามของรัฐบาลอยากฝากช่วยคิดช่วยติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองและรอบบ้าน ไม่เช่นนั้นจะวิเคราะห์อะไรไม่ได้ จะมองแต่ปัญหาและแก้ปัญหาของเราโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ ปัจจุบัน มีปัญหาหลายอย่าง อาทิ สุขภาพ การเกิดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ปัญหาพื้นฐาน คือความยากจน อุทกภัย น้ำท่วม หนี้สินครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ถึงมีการบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น เพื่อจัดโครงการงบประมาณให้ตรงจุด และชี้ชัดเฉพาะว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน จึงอยากให้ดูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่คิดว่ามีไว้เพื่อยึดครองอำนาจต้องมองไปที่อนาคตหน้าเป็น10-20 ปี ยืนยันว่าการทำงานของแต่ละรัฐมนตรีตนจะไม่ไปก้าวล่วงในหน่วยงาน อาจจะมีความละเอียดบ้างในบางเรื่อง แต่ต้องไม่ก้าวล่วงอำนาจของรัฐมนตรีในฐานะเป็นเพื่อนร่วมงาน เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ที่เป็นการปกครองแบบพิเศษ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ตนสั่งทหารให้ปลูกผักชี ก็กลายเป็นประเด็น ตนไม่ได้อยากปลูกผักแข่งกับใคร ปลูกไปแจก จะได้เงินสักเท่าไหร่​ สั่งให้ปลูกในค่ายทหารเพราะมีพื้นที่ ใครลำบากก็มาซื้อที่ทหาร​ แต่ไม่ได้ไปขายแข่งกันกับใคร​ ส่วนเรื่องการสั่งให้นำรถทหารมาช่วยเรื่องการขนส่งก็เช่นกัน ไม่ได้เปิดการขนส่งแข่งกับใคร จึงขออย่าไปเชื่อในคำบิดเบื่อน ถ้าเดือดร้อนขึ้นมาถ้าไม่มีรถวิ่งเลยทำอย่างไร จะถึงขั้นแบกกระสอบเดินหรือไม่ ตนพูดไม่ใช่ว่าต้องการให้เป็นอย่างนั้น แต่ถูกตีความผิดเพราะถูกบิดเบือนไปเยอะ อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดสงครามไฟเบอร์ ที่มาจากเฟคนิวส์ โดยเฉพาะการดัดแปลง ตัดต่อถือว่าไม่สมควร เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น ผิดกฎหมาย จึงอยากให้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชน เสริมสภาพคล่องทางการเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เน้นการเข้าถึงเงินทุนและสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนฐานรากและผู้ประกอบการรายย่อย ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ติดลบเพียง 0.3% ซึ่งติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการไว้มาก และคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโต จากการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างสมดุลตามมาตรการสาธารณสุข

ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นพลิกโฉมประเทศไทยด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ ที่ 13 ซึ่งจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีกำลังคนที่มีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาส สร้างความรับผิดชอบอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ เอสเอ็มอีและการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่

นอกจากนี้ หอการค้าทั่วประเทศถือเป็นภาคีสำคัญที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับตัวเองและประเทศ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะช่วยต่อยอด ยกระดับการพัฒนาในทุกมิติ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับโลก

โดยข้อเสนอเอกชนในการพัฒนาประเทศทั้ง 5 ด้าน คือ

- การเยียวยา

- การท่องเที่ยว

- การเกษตร

- การพัฒนาคุณภาพชีวิต

- โครงสร้างพื้นฐาน

เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างเต็มที่และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเสมอมา อีกทั้ง เอกชนยังมีบทบาทสำคัญในการเสนอแนวทางและ

ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศในหลายด้าน ได้แก่

1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมุ่งสร้างความแข็งแกร่งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจลงไปในระดับพื้นที่

2. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ ในยุค Next Normal ด้วยการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวตามกระบวนการเข้าเมืองวิถีใหม่

3. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ การขยายเส้นทางคมนาคมและระบบขนส่งโลจิสติกส์ ที่จะเชื่อมทั่วทุกภูมิภาคให้ถึงกันอย่างไร้รอยต่อ

4. การบริหารจัดการน้ำ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำต้นทุนและพัฒนาระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตร การลงทุน และอุปโภคบริโภค

5. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการมุ่งสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Model) และสังคมคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วย การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

6. การพัฒนากำลังคนและคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

“รัฐบาลยังตระหนักถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงการทำงาน ทั้งจากบนลงล่าง (Top - Down) และล่างขึ้นบน (Bottom - Up) คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ โดยอาศัยกลไกการบริหารงานในระดับภูมิภาค ทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไปจนถึงการกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยปกครองที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ ความสามัคคีของคนไทยด้วยกัน โดยความเชื่อมั่นว่าไทยทำได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง จะช่วยพาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน”