ส่องทางออกน้ำมันแพง “ขนส่ง-รัฐบาล” ทางไหนโดนใจคนไทย

ส่องทางออกน้ำมันแพง “ขนส่ง-รัฐบาล” ทางไหนโดนใจคนไทย

ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน ระหว่างสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำโดย “อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์ฯ เดินหน้าประกาศขับไล่ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

พร้อมประกาศเจตนารมณ์ประท้วงหยุดวิ่งรถบางส่วน และจะปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 10% ถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคไปอีกทาง

และปานปลายไปยัน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ยืนยันอนุมัติเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท มาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ไปต่ออีกประมาณ 4-5 เดือน โดยยืนยันที่จะพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไม่รับข้อเสนอในราคา 25 บาทต่อลิตร

ซึ่งนายกฯ เองสั่งการให้รัฐบาลโดยเฉพาะภาคขนส่งทั้งรถโดยสาร-รถไฟ เตรียมความพร้อมที่จะออกวิ่งส่งของแทนรถสิบล้อ รวมถึงสั่งรถทหารออกมาวิ่งส่งของด้วยในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง

แผนแก้ปัญหาเบื้องต้นของนายกฯ ดูเหมือนว่าจะไม่ถูกใจใครหลายคน ทั้งฝ่ายค้านที่ออกมาต่อต้านว่าผิดกฎหมาย หรือแม้แต่นักวิชาการหรือประชาชนภาคขนส่งเองต่างมองศักยภาพของทหารว่า ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ และไม่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้าใจบริบทของภาคขนส่งมากพอ

อภิชาติ เล่าว่า สหพันธ์ฯ ยืนยันในจุดเดิม และขอท้าให้รัฐบาลนำรถทหารมาวิ่งขนอ้อยในช่วงเปิดหีบอ้อยส่งเข้าโรงงานอย่างน้อย 1,000 คัน จากปกติรถบรรทุกที่วิ่งขนอ้อยจะใช้ประมาณ 10,000 คัน ในช่วงเดือนธ.ค.2564 เพื่อจะได้ทราบถึงต้นทุน กำไรที่แท้จริง

ทั้งนี้ ยืนยันที่จะยกระดับขอให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบที่ดีกว่าเดิมภายในเดือนพ.ย.2564 ภายหลังจากที่ได้ออกมาเรียกร้องถึง 2 ครั้งแล้ว กระทรวงพลังงานยังไม่มีแนวทางที่ดีพอ เพราะที่ผ่านมาใช้เวลากว่า 1 เดือน ก็ไม่มีทีท่าที่จะหารือร่วมกัน จากเดิมที่สัญญาว่าขอเวลา 5-7 วัน ดังนั้น รถขนส่งที่อยู่ในภายใต้สหพันธ์ฯ กว่า 4 แสนคัน รวมกับรถขนส่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สหพันธ์ฯ และขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกหลายล้านคัน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยืนยันที่จะต่อต้านรัฐบาลต่อไป

สำหรับข้อเรียกร้องของสหพันธ์ฯ หลักๆ ประกอบด้วย

1. ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันภาคขนส่งเป็น 0% ระยะเวลา 1 ปี

2. ขอให้รัฐบาลปรับลดสูตรน้ำมันไบโอดีเซลออก

3. ตรึงราคาดีเซลอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร

“เบื้องต้นเราเราขอให้พยุงราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตร ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เคยต่อรองหรือมีการพูดคุยอะไร ในเมื่อเสนอตัวเข้ามารับใช้ประชาชนก็ควรจะรับฟังปัญหาบ้าง ไม่ใช่ยืนยันจะกู้เงินอย่างเดียว”

สอดคล้องกับนักวิชาการ “พรายพล คุ้มทรัพย์” นักวิชาการอิสระ ระบุว่า ต้นทุนการขนส่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน โดยรถบรรทุกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งเป็นค่าน้ำมัน ราคาที่สูงขึ้นคิดเป็น 20-30% แสดงว่าต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15% รัฐบาลจึงบริหารจัดการให้ผู้ใช้ได้ราคาที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันความเป็นธรรมต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิตและผู้ค้าด้วย

สำหรับประเด็นการลดภาษีน้ำมันนั้น โดยหากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตรส่งผลให้เงินภาษีของรัฐบาลจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน และหากรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงปีละ 120,000 ล้านบาท ส่วนตัวมองว่ามากจนเกินไป ดังนั้น หากจะลดลงลิตรละ 1-2 บาท น่าจะเป็นราคาที่สมควรมากกว่า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์นี้ นายสุพัฒนพงษ์ อาจจะมีความคืบหน้าถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำมันแพงออกมาให้ทราบอีกครั้ง แต่จะเป็นแนวทางไหนก็ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะสิ่งที่สหพันธ์ฯ เสนอ โดยการลดภาษีน้ำมัน กระทรวงพลังงานยืนยันว่าเป็นตัวเลือกสุดท้าย และเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง ในขณะที่การลดส่วนผสมน้ำมันปาล์มออกก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่ายังคงมติเดิม

ในขณะที่เงินกู้เพิ่มเติม 2 หมื่นล้านบาท ยังสามารถพยุงราคาน้ำมันไปได้อีกถึงต้นปีหน้า เพราะรัฐบาลมองแนวโน้มว่าผ่านหน้าหนาวไปน้ำมันดิบจะปรับราคาลง และเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

คงต้องจับตาดูว่ากระทรวงพลังงานจะมีเหตุผลอะไรมาเปลี่ยนใจผู้ประกอบการภาคขนส่ง เพราะที่ผ่านมามาตรการที่เสนอดูเหมือนจะไม่ตรงใจและยังยืนยันที่เดินทางไปพร้อมกันแบบคู่ขนาดไร้ทีท่าจะเป็นมิตร