มาตรการช่วย 'Fintech' ที่น่าอิจฉาของสิงคโปร์

มาตรการช่วย 'Fintech' ที่น่าอิจฉาของสิงคโปร์

ส่องมาตรการช่วยเหลือ Start-up และ SMEs จากฝั่งของสิงคโปร์ เป็นอย่างไรบ้าง? หลังจากผู้ประกอบการรายเล็กและใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันแบบเต็มๆ ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ข่าวการ Lay off จากบริษัทดังๆ อย่าง Airbnb, Uber หรือ Agoda ที่ปลดพนักงานรวมกันหลายพันคน

แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทจดทะเบียนหรือ Start-up ระดับ Unicorn นั้นมีทางเลือกค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ SMEs หรือ Start-up ขนาดเล็ก ซึ่งมีพนักงานไม่มาก และอาจมีทีมงานที่ Lean มากอยู่แล้ว แต่อาจไม่มีสายป่านของเงินทุนยาวพอ

ด้วยเหตุนี้เอง Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสิงคโปร์ (คล้ายกับธนาคารแห่งประเทศไทย บวกกับสำนักงาน กลต.ของบ้านเรา) จึงออกมาตรการช่วยเหลือ Fintech Start-up อย่างจริงจัง โดยวงเงินในก้อนแรกคือ 125 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,800 ล้านบาท

หลังจากนั้นไม่นานก็มีวงเงินช่วยเหลือรอบที่สอง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ MAS, Singapore Fintech Association (SFA) และ AMTD Foundation ในวงเงิน 6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 135 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สมาคมฟินเทคสิงคโปร์ หรือ SFA เป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของ Fintech Start-up ที่ยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุน

โดยมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ ต้องจดทะเบียนและดำเนินกิจการในสิงคโปร์มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน และเป็นสมาชิกของ SFA ที่ได้รับ Fintech Certificate ซึ่งเป็นมาตรฐานว่า Start-up นั้นๆ ดำเนินธุรกิจด้าน Fintech จริง โดยมีบริการที่ใช้งานได้แล้วหรือไม่ก็มี Minimum Viable Product (MVP) แล้ว โดยที่ Fintech Certificate นี้จะเป็นประตูเปิดทางให้ MAS ได้รู้จักและรับรู้ Fintech Start-up แต่ละรายอีกด้วย

มาตรการช่วยเหลือครั้งล่าสุดนี้ แบ่งออกเป็น Business Sustenance Grant (BSG) และ Business Growth Grant (BGG) โดยที่ BSG เป็นมาตรการที่ตรงจุดมากคือ ภายในระยะเวลา 6 เดือนนี้ จะช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานให้รายละไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 45,000 บาท และช่วยจ่ายค่าเช่าสำนักงานในสิงคโปร์ให้ไม่เกิน 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 90,000 บาท โดยรวมทั้งการช่วยจ่ายเงินเดือนและค่าเช่าต้องไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 450,000 บาท ตลอดช่วงการให้ความช่วยเหลือ

หากเปรียบ BSG เป็นเกมรับแล้ว BGG ถือได้ว่าเป็นเกมรุก เพราะเป็นวงเงินที่เตรียมไว้เพื่อช่วยให้เกิดการสร้างบริการใหม่ภายใต้ API Exchange ของ MAS (ผมขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ API Exchange ในตอนอื่นนะครับ) โดยมีวงเงินช่วยเหลือต่อรายสูงสุดถึง 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,200,000 บาท เพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงานโดยไม่จำกัดสัญชาติ จ่ายเงินเดือนนักศึกษาฝึกงานสัญชาติสิงคโปร์ จ่ายค่าที่ปรึกษาที่เกี่ยวกับการทำ Prove of Concept (POC) รวมทั้งค่า Hardware / Software ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจคือ มาตรการครั้งนี้ไม่ใช่เป็นแค่การช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อให้พ้นวิกฤติ COVID-19 เท่านั้น หากแต่เป็นการใช้โอกาสนี้สนับสนุนการสร้างบริการใหม่ๆ อีกด้วย

ลองจินตนาการดูสิครับ ว่ามันจะดีแค่ไหน (ในมุมมองของ Co-founder ที่สิงคโปร์ ธุรกิจด้านการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสิงคโปร์) หาก Fintech Start-up สัญชาติสิงคโปร์พลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเติบโตแบบยั่งยืน ในขณะที่ Fintech Start-up สัญชาติอื่นกำลังดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้อยู่รอด 

อ้างอิงข้อมูลจาก www.mas.gov.sg และ www.singaporefintech.org