โอกาส 'เศรษฐกิจชุมชน' จะเปิดในช่วงปิดเมือง?

โอกาส 'เศรษฐกิจชุมชน' จะเปิดในช่วงปิดเมือง?

จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดภาวะล็อคดาวน์เมืองในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อระบเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันได้นำไปสู่โอกาสการเติบโตที่ชัดเจนของเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) เพราะความจำเป็นนำไปสู่การต้องลุกขึ้นปรับตัวและพึ่งพาตัวเอง

ช่วง lock down กักตัวอยู่บ้าน หรือ work from home แบบนี้ นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่าอาจส่งผลระยะยาวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเด็น Globalization จากยุคที่ทุกประเทศมุ่งเชื่อมโยงแสวงหาโอกาสกันข้ามชาติตามกระแสโลกาภิวัตน์ จะกลายเป็นยุคที่ต่างคนต่างหาทางอยู่รอด ให้ได้ในประเทศเขตแดนตัวเอง

นักคิดสายดาร์คบอกว่า อาจจะไปถึงจุดที่ปิดกั้นการเชื่อมโยงกับภายนอก เพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาสนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงลบจากการแยกตัว (Isolationism) และการปกป้องประโยชน์ตัวเอง (Protectionism) ซึ่งกลับจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงระยะยาวจากการขาดการพัฒนาที่เท่าทันโลก และอาจถูกครอบงำโดยกลุ่มอิทธิพลอำนาจ

นักคิดอีกสายบอกว่า ภาวะเช่นปัจจุบันนำไปสู่โอกาสการเติบโตที่ชัดเจนของเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) เพราะความจำเป็นนำไปสู่การต้องลุกขึ้นปรับตัวและพึ่งพาตัวเอง นอกจากจะเป็นการให้โอกาสกับคนที่ในอดีตถูกมองข้าม เช่น ร้านค้าในชุมชน พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ตลาดในท้องถิ่น ร้านโชห่วย ให้มีแต้มต่อกับผู้เล่นรายใหญ่ที่เคยเข้ายึดครองตลาด เช่น กรณีซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ

ยังพบการพัฒนาโอกาสใหม่ๆ เพื่อมาเติมเต็ม เช่นกรณีการขนส่ง delivery และการสื่อสารออนไลน์กับโซเชียลมีเดียที่เข้ามาช่วย สนับสนุนกระทั่งเกิดเป็นการขยายพื้นที่การขายสินค้าและการให้บริการ ไม่เฉพาะแต่ในชุมชนเท่านั้น แต่ยังข้ามไปสู่ชุมชนอื่นได้ ประกอบกับการผลักดันโอกาสโดยสื่อต่างๆ ที่ขณะนี้พยายามใช้ช่องทางสื่อสารช่วยบอกเล่าเรื่องราวการปรับตัวของธุรกิจใหญ่น้อย เป็นแบบอย่างให้ความหวังกับการดำเนินชีวิตกันต่อไป

ทำให้ธุรกิจรายย่อยได้พื้นที่เล่าเรื่องให้คนวงกว้างเกิดการรับรู้และเกิดเป็นความสนใจต้องการสนับสนุน เช่น ที่พบในกรณีชุมชนเกษตรกร เป็นต้น ปัจจุบันหลายคนหันมาสั่งผักผลไม้ตรงจากเกษตรกรมากขึ้น นอกจากได้ความสดใหม่ รู้แหล่งที่มา แล้วยังได้เป็นการสนับสนุนกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

จึงกล่าวได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนไม่จำกัดตัวปิดกั้นอยู่แต่ในพื้นที่ แต่เป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ของการขยายการเชื่อมโยงในลักษณะ Local to Local Economy และอนาคตเมื่อโลกกลับสู่ภาวะปกติแล้ว อาจพบโอกาสของ Local to Global Economy ก็เป็นได้ แต่จะไปถึงได้หรือไม่ ยังมีองค์ประกอบเป็นเงื่อนไขให้ต้องพิจารณา

เริ่มจาก “ความเป็นมืออาชีพ” ได้แก่ ความสามารถในการทำตามข้อตกลง เช่น ถ้าสั่งซื้อมาแล้วพร้อมมีส่งให้ รวมถึงการสร้างความเชื่อถือในคุณภาพ ซึ่งถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่อาจมีการทำมาตรฐานและระบบควบคุมคุณภาพ สำหรับธุรกิจรายย่อยก็ต้องมีเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายเงินจำนวนมากให้กับการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน โดยสามารถทำได้ผ่านการเปิดเผยโปร่งใสข้อมูลในกระบวนการทำงาน

เรื่องคุณภาพนี้ถ้าในภาวะปัจจุบัน ลูกค้ายังอาจพอรับความหย่อนไม่สมบูรณ์ได้ เพราะเห็นว่ามีปัญหาข้อติดขัดหลายอย่างถือว่าช่วยกันไป แต่หากจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและธุรกิจชุมชน

ถัดมาเป็นเรื่อง “การบริหารต้นทุน” ที่เคยเป็นจุดอ่อนให้แข่งขันสู้ธุรกิจรายใหญ่ไม่ได้ โดยต้องเริ่มจากการรู้ต้นทุนตัวเองเสียก่อน ซึ่งจะรู้ได้ก็เมื่อรู้จักการจัดระบบการทำงาน พร้อมการบันทึกข้อมูล เช่น ในเบื้องต้นมีการทำบัญชี ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการในชุมชนมักละเลยหรือมองเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือเข้ามาช่วยสนับสนุนใช้งานได้สะดวก ทั้งในแง่การลงข้อมูลและระบบคำนวณที่ช่วยวิเคราะห์ให้

สุดท้ายสำคัญมากคือ เรื่องของ “การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า” คือการดูแลรักษาความเชื่อมั่นไว้วางใจ เพราะลูกค้าอาจเริ่มต้นซื้อด้วยความอยากรู้อยากลองอยากช่วยแต่หากพบว่าไม่ตรงกับที่ต้องการหรือได้เจอรายใหม่ๆ ก็พร้อมจะเปลี่ยนใจได้เช่นกัน

เรื่องนี้เทียบเคียงกับการทำงานสร้างแบรนด์ของธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งรายย่อยเองก็ต้องทำเช่นกันจะมองข้ามไม่ได้ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทำโฆษณา แต่อาศัย การสื่อสารสร้างความสัมพันธ์แบบมนุษย์ถึงมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นเสน่ห์ของธุรกิจรายย่อยที่ลูกค้าพร้อมเปิดใจมีปฏิสัมพันธ์ด้วย มากกว่าการพูดคุยกับพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่

ในภาวะปิดก็มีโอกาสเปิดรออยู่ไม่น้อย ให้กำลังใจเพื่อพร้อมเดินหน้ากันไปต่อค่ะ