'สัตหีบโมเดล' ผนึกอังกฤษ ผลิตคนป้อนอุตฯอากาศยาน

'สัตหีบโมเดล' ผนึกอังกฤษ  ผลิตคนป้อนอุตฯอากาศยาน

ความต้องการแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วง 5 ปี ข้างหน้า อยู่ที่ 450,000 คน เป็นแรงงานในระดับอาชีวศึกษาสัดส่วน 60% และแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไป 40% ทำให้ภาครัฐต้องเร่งผลิตแรงงานระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น

อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรียทำหลักสูตรการเรียนการสอนตามมาตรฐานของออสเตรีย รวมทั้งได้สนับสนุนเครื่องจักรอุปกรณ์การเรียนการสอน 

ปัจจุบันมีนักศึกษา 5,800 คน จัดการเรียนการสอนลักษณะทวิภาคี หรือการร่วมมือกับภาคเอกชนในการฝึกอบรมนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากการทำงานในสถานประกอบการจริง ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นนักศึกษาในรูปแบบ “สัตหีบโมเดล” 367 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช. 189 คน และระดับ ปวส. 178 คน

การศึกษาในรูปแบบสัตหีบโมเดลจะมีความเข้มข้นมากกว่าระบบทวิภาคีอื่น ซึ่งเป็นการร่วมมือกับบริษัทเอกชนอย่างลงลึก เริ่มตั้งแต่ร่วมกับบริษัทที่ให้การสนับสนุนการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้เหมาะกับสถานประกอบการในประเภทต่างๆ การร่วมกับคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาอยู่ในโครงการ การให้ทุนการศึกษา การให้เงินช่วยเหลือในระหว่างการศึกษาประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน เพื่อลดภาระให้กับผู้ปกครอง 

ในปีที่ 2 จะส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกการทำงานในสถานประกอบการก็จะมีค่าจ้างให้คนละ 300 บาทต่อวัน และเมื่อจบการศึกษาบริษัทที่ให้การสนับสนุนก็จะรับเข้าทำงานทั้งหมด ทำให้บริษัทที่เข่าร่วมโครงการได้รับบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะการทำงานตามที่สถานประกอบการแต่ละแห่งต้องการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สำหรับการเดินทางมาเยือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจออสเตรีย และผู้บริหารหน่วยงานด้านนวัตกรรมและการศึกษาของออสเตรีย ได้มีการหารือขยายความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเพิ่มขึ้น 

158289843313

ในเบื้องต้นมีแผนที่จะจัดทำศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางสาขาต่างๆ ที่อยู่ใน อุตสาหกรรม S-curve รวมทั้งสาขาเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งทางออสเตรียจะจะให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเข้ามาช่วยยกระดับเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้ รวมทั้งการส่งบุคลากรไทยไปอบรมที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งหลักจากนี้จะเจรจาในรายละเอียดในการทำงานร่วมกัน

หลักสูตรสัตหีบโมเดลที่เปิดสอนจะอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า , อิเล็กทรอนิกส์ , แมคคาทรอนิกส์หุ่นยนต์ , ช่างซ่อมอากาศยาน , เทคนิคพลังงาน และระบบราง

ล่าสุดบริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซผู้ผลิตชิ้นส่วนกลีบใบพัดเครื่องยนต์อากาศยาน และชิ้นส่วนปีกเครื่องบินจากประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาร่วมจัดทำหลักสูตรเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในระดับ ปวส. โดยจะเร่งเปิดให้ทันเดือน พ.ค.2563 สามารถผลิตนักศึกษาที่จบออกมาได้ปีละ 15 คน เนื่องจากผู้บริหารบริษัทต้องการแรงงานที่จบออกมาทำงานได้ทันที

“จากปัจจุบันจะต้องรับผู้ที่จบ ปวส.เข้ามาฝึกอบรมทักษะต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้ ซึ่งหากมีแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ก็จะทำให้การดำเนินงานมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง”

แม้ว่าวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ มีเป้าหมายที่จะเร่งผลิตนักศึกษาทั้งระบบทวิภาคีทั่วไป และสัตหีบโมเดล แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถที่จะเพิ่มได้มากนัก เนื่องจากผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่มีแนวคิดอยากให้บุตรหลานเป็นเจ้าคนนายคน ผลักดันให้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี รวมทั้งพื้นฐานครอบครัวในอีอีซี มักจะมีฐานะที่ดี จึงไม่อยากให้ลูกหลานต้องมาเรียนและฝึกงานในโรงงาน 

ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างการยอมรับให้กับเด็กและผู้ปกครอง ให้เห็นว่าผู้ที่จะด้านอาชีวะจะมีงานที่ดีรองรับทันที ซึ่งหากที่บ้านมีธุรกิจของตัวเอง ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ที่จบการศึกษาจะมีองค์ความรู้ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถต่อยอดธุรกิจไดัอีกมาก โดยทางวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้เตรียมการรองรับโดยการสร้างอาคาร 6 ชั้น 1 หลัง และในปี 2564 จะของบประมาณก่อสร้างเพิ่มอีก 1 หลัง

“แม้ว่าวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบมีความต้องการจะเพิ่มปริมาณนักศึกษา แต่ก็ต้องเน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ" 

ส่วนนักศึกษาที่เข้ามาสมัครสอบคัดเลือกจะต้องมีเกรดเฉลี่ย 2.00 ขึ้นไป และมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่สูง เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมามีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนได้มากที่สุด

สำหรับหลักสูตรระดับการศึกษาและสาขาที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทช่างอุตสาหกรรม 7 สาขาวิชา และประเภทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 1 สาขาวิชา ได้แก่ 1.สาขาวิชาโลหะการ 2.สาขาวิชาเครื่องมือกลและซ่อมบำรุง 3.สาขาวิชาการก่อสร้าง 4.สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5.สาขาวิชาเครื่องกล 6.สาขาวิชาเทคนิคคอมพิวเตอร์ 7.สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ 

ประเภทวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือ สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว

ในขณะที่หลักสูตรระดับการศึกษาและสาขาที่เปิดสอน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาอุตสาหกรรม 10 สาขาวิชา ได้แก่ 1.สาขาวิชาเทคนิคโลหะ 2.สาขาวิชาการก่อสร้าง 3.สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง 4.สาขาวิชาเครื่องกล 5.สาขาวิชาเครื่องมือวัดและควบคุม 

6.สาขาวิชาเทคนิคการผลิต 7.สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ 8.สาขาวิชาเขียนแบบเครื่องกล 9.สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ 10.สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์ 

ส่วนประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และประเภทวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 1 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว

การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบสัตหีบโมเดลได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่หลายรายทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ