‘ห้างแฟรี่แลนด์’ ประกาศขาย 550 ล้านบาท จบตำนานห้างใหญ่แห่งแรกในนครสวรรค์

‘ห้างแฟรี่แลนด์’ ประกาศขาย 550 ล้านบาท จบตำนานห้างใหญ่แห่งแรกในนครสวรรค์

ปิดตำนาน “ห้างแฟรี่แลนด์” ค้าปลีกแห่งแรกของเมืองปากน้ำโพ ยุติกิจการตั้งแต่ปี 2566 ล่าสุดประกาศขายพร้อมตึกแถว สนนราคา “550 ล้านบาท” ปัจจุบันเปิดชั้นล่างขายสินค้ามือสอง-โละสต๊อกทุกอย่างในห้าง ตั้งแต่ชั้นวางสินค้ายันเก้าอี้สำนักงาน!

หลังจากประกาศปิดกิจการในส่วนของห้างสรรพสินค้า หรือ “Department Store” ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 โดยเปิดให้บริการเพียงพื้นที่โซนพลาซ่า รวมถึงชั้น 1 และชั้น 2 ที่มีสินค้ามือสอง และสินค้าลดล้างสต๊อกวางจำหน่ายแบบลดแลกแจกแถม วันนี้ (วันที่ 23 พฤษภาคม 2567) ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” พบว่า ห้างแฟรี่แลนด์ประกาศขายห้างพร้อมตึกแถวติดถนนอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยราคา 550 ล้านบาท

ในอดีต “แฟรี่แลนด์” รุ่งเรืองอย่างมาก เพราะเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจังหวัดนครสวรรค์ โมเดลการเติบโตคล้ายกับห้างภูธรในจังหวัดอื่นๆ ที่มีเพียงแห่งเดียว ก่อตั้งและปลุกปั้นโดย “สันติ คุณาวงศ์” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด

ปัจจุบันหลังจากปิดดีพาร์ตเมนต์สโตร์ไปแล้ว ทายาทห้างแฟรี่แลนด์เปิดชั้น 1 และชั้น 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าในราคาย่อมเยา ทำให้มีร้านขายสินค้ามือสองเข้ามาจับจองพื้นที่กันพอสมควร รวมถึงสินค้าจากห้างที่ยังขายไม่หมด ก็ถูกนำมาลดล้างสต๊อกด้วยโปรโมชันลดแลกแจกแถมเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังพบว่า เพจ “แฟรี่แลนด์ Fairy Land” ยังนำสินค้าสารพัดอย่างมาประกาศขาย แม้กระทั่งชั้นวางสินค้าภายในห้าง เก้าอี้ห้องประชุม โต๊ะอาหาร ตู้เก็บเอกสาร ตู้แช่ไอศกรีม ก็มีให้เลือกซื้อเช่นกัน 

สำหรับค้าปลีกภูธรโดยส่วนใหญ่ที่ประสบกับความท้าทายในระลอกหลัง มักได้รับแรงกระแทกจากการมาถึงของทุนใหญ่ “แฟรี่แลนด์” เอง ก็ต้องเจอแรงเสียดทานจากดังกล่าวเช่นกันที่เพิ่ง ทว่า หากพลิกดูผลประกอบการย้อนหลังของห้างแฟรี่แลนด์ ภายใต้การบริหารของ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด จะพบว่า เผชิญกับปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องก่อนที่ทุนใหญ่จะเข้ามาสยายปีกในเมืองปากน้ำโพแห่งนี้พักใหญ่แล้ว ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทขาดทุนสะสมกว่า 53 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด 4 ปีย้อนหลัง ดังนี้

ปี 2565: รายได้ 27 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 28 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 35 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้ 93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3.8 ล้านบาท

เป็นไปได้ว่า ห้างแฟรี่แลนด์เองก็ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤติแพร่ระบาดใหญ่ไม่ต่างกับภาคธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากตัวเลขรายได้ก่อนหน้าปี 2562 พบว่า อยู่ในช่วง “หลักร้อยล้านบาท” มาโดยตลอด หากแต่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็พบว่า น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะมีรายได้ราว 200 ล้านบาท ระหว่างปี 2556 ถึง 2558 แต่พบว่า มีกำไรเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการแบกต้นทุนไปต่อไม่ไหว ตัดสินใจปิดส่วนห้างสรรพสินค้าในปี 2566 และประกาศขายห้างอย่างเป็นทางการในวันนี้